ประกัน
ส่องฐานะการเงิน "กรุงเทพประกันภัย" ยังก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง แม้เจอพิษโควิด


 
เรื่องของกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบ ถือว่าเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้หลายๆบริษัทประกันภัยต่างทยอยล้มหายตายจากไป เพราะยอดเคลมค่าสินไหมรวมจากการรับประกันโควิดนั้นมียอดที่สูงเกินกว่าที่บริษัทประกันภัยประเมินสถานการณ์เอาไว้ หรือมียอดจ่ายค่าสินไหมมากกว่าเบี้ยประกัน จนส่งผลต่อธุรกิจประกันวินาศภัยในภาพรวม และในที่สุดก็แบกรับความเสี่ยงไม่ไหว ประกาศปิดกิจการตามกันไปอย่างที่เห็นในหน้าข่าว
 
และโดยเฉพาะล่าสุดในช่วงต้นปีนี้ที่ผ่านมา ก็ถึงคราวของบริษัทประกันภัยรายใหญ่บ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจจนต้องปิดตัวไป ทำให้ในตอนนี้เป็นที่ข้อกังขาว่าบริษัทประกันภัยรายใหญ่ที่ยังอยู่ในตลาด ซึ่งรวมถึงบริษัทกรุงเทพประกันภัยนั้น ยังมีเงินกองทุนที่เพียงพอ หรือว่ามีสัดส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) เริ่มต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดแล้วหรือไม่?
 
 
 
กรุงเทพประกันภัย ถือได้ว่าเป็นบริษัทประกันภัยรายหนึ่งที่ได้ออกกรมธรรม์โควิด เจอ จ่าย จบ มาตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งในช่วงเวลานั้น อัตราค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ของทั้งอุตสาหกรรมประกันภัยยังต่ำมาก ทำให้ในช่วงปี 2021 กรุงเทพประกันภัยก็เลยยังคงได้มีการขายกรมธรรม์ดังกล่าวอยู่ เฉกเช่นเดียวกับบริษัทประกันภัยรายอื่นๆ เพราะจากการคาดการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดของปีที่แล้ว ประกอบกับมาตรการของทางสาธารณสุข และความพร้อมของวัคซีนที่จะเข้ามา ว่ามีแนวโน้มที่จะสามารถควบคุมอัตราค่าสินไหมทดแทนได้ แต่ท้ายที่สุด สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ปี 2021 กลับมียอดผู้ติดเชื้อมากกว่าปี 2020 เนื่องจากการระบาดที่แก้ไขยากกว่ารอบของปีที่แล้ว ทำให้ Loss Ratio ปรับตัวขึ้นสูงผิดจากที่คาดไว้ โดยเบี้ยประกันภัยที่ทางกรุงเทพประกันภัยได้มีการออกกรมธรรม์ในช่วงเดือน มีนาคม 2021 - เดือนพฤษภาคม 2022 นั้นอยู่ที่ประมาณ 670 ล้านบาท แต่การเคลมประกันโควิดในปีเดียวกันนั้น (2021) กรุงเทพประกันภัยมีค่าความเสียหายหรือ Net Loss อยู่ที่ 3,400 ล้านบาท และในปี 2022 มี Net Loss อยู่ที่ประมาณ 8,700 ล้านบาทเลยทีเดียว
 
 
 
เหตุที่ปี 2022 นี้มีค่าความเสียหายรุนแรงมากกว่าเก่า ทางดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้ให้เหตุผลว่า  เพราะเรื่องของ Moral Hazard เพราะการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ล่าสุด หรือสายพันธุ์โอมิครอนนั้นไม่ได้เป็นสายพันธุ์ที่อันตรายเหมือนกับสายพันธุ์ที่มีการระบาดก่อนหน้า แถมยังสามารถติดได้อย่างง่ายดาย และรักษาให้หายได้ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่เป็นอันตรายกับอวัยวะภายใน ทำให้คนส่วนหนึ่งมองช่องโหว่ตรงนี้เป็นโอกาสที่ยินดีที่จะรับเชื้อ เพื่อประโยชน์ในการเคลมค่าสินไหมทดแทน เช่นเดียวกับการปลอมใบรับรองผลการตรวจโควิด RT-PCR แต่ถึงอย่างไร หากเทียบกับทั้งอุตสาหกรรมที่มีค่าความเสียหายมากกว่าหลักหมื่นล้าน กรุงเทพประกันภัยก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่มีความเสียหายน้อยกว่าในตลาด เนื่องมาจากเบี้ยประกันโควิดที่ขายนั้นมีราคาสูงกว่า และวงเงินจำกัดความรับผิด ที่คุ้มครองอยู่ประมาณ 50,000 บาทเป็นส่วนใหญ่นั้น ถือว่ามีวงเงินที่น้อยกว่าบริษัทประกันภัยรายอื่น
 
และถ้าหากซูมดูในส่วนของผลการบันทึกตามไตรมาสจะพบว่า ในช่วงที่มียอดการติดเชื้อโควิด-19 และมีการเคลมประกันเข้ามาจำนวนมาก (ปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน) รวมถึงการดีเลย์เคลมประกัน ยอดการจ่ายค่าสินไหมนั้นได้ถูกบันทึกเอาไว้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 นี้ ซึ่งอยู่ที่ 5,800 ล้านบาท (จาก 8,700 ล้านบาท) คิดเป็นผลขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 3,500 ล้านบาท แต่ก็ยังมีจ่ายปันผลกับผู้ถือหุ้นโดยปกติที่ 3.50 บาท/หุ้นในไตรมาสนี้ เหตุที่ทำเช่นนี้ได้เป็นเพราะ กรุงเทพประกันภัยยังมีกำไรสะสมอยู่ที่ประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเพียงพอในการชดเชยส่วนที่ขาดทุน และคงเหลือสำหรับการปันผลดังที่กล่าวไป อีกทั้งถ้าหากดูฐานะเงินกองทุน (CAR) กรุงเทพประกันภัยคงสัดส่วนอยู่ที่ 172.3% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) วางไว้ (ไม่ต่ำกว่า 140%) เนื่องจาก Liquid Assets Ratio หรือสัดส่วนของสินทรัพย์สภาพคล่องไตรมาสแรกมากกว่าสินไหมประมาณการอยู่ที่ 4.66 เท่าตัว แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพประกันภัย ยังคงมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง
 
หากคิดผลประกอบการโดยรวมของผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ไม่รวมประกันภัยโควิด ในช่วงไตรมาสแรกนี้ กรุงเทพประกันภัยมีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นถึง 40% เลยทีเดียว ฉะนั้นแล้วในช่วงสิ้นไตรมาส 2 ที่ค่าความเสียหายคงเหลืออยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท (จาก 8,700 ล้านบาท) ประกอบกับโอกาสในการทำกำไรจากการลงทุนของบริษัท ความพอเพียงขอเงินกองทุน (CAR) อาจกลับมายืนเหนือ 200% ซึ่งทำกำไรได้มากกว่าปีที่แล้วของไตรมาสเดียวกัน
 
ส่วนในช่วงไตรมาสที่ 3 และไตรมาส 4 ของปี 2022 ต่อจากนี้ คาดการณ์ว่าทางกรุงเทพประกันภัยมีแนวโน้มที่จะสร้างผลประกอบการณ์ที่ดีขึ้นมาก หากเทียบกับปี 2021 เพราะไม่ได้มีการจ่ายค่าเคลมประกันโควิด-19 แล้วเหมือนกับปีก่อน และประกันรถยนต์ของทางบริษัทจะเป็นผลิตภัณฑ์ตัวเต็งในการสร้างผลกำไรต่อจากนี้ เนื่องจากความสามารถของประกันรถยนต์ในครึ่งปีแรกนั้น มีการเติบโตอยู่ที่ 15% และมี Loss Ratio อยู่แค่ 50% ซึ่งในอีกครึ่งปีหลังทาง ดร.อภิสิทธิ์ ประมาณการว่า Loss Ratio ในสิ้นปีนี้น่าจะสูงสุดไม่เกิน 55% เนื่องจากปัจจัยเบี้ยประกันภัยที่ทางบริษัทมีการปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่การระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาจส่งผลให้กลับไปมีนโยบาย Work from Home และปัจจัยเรื่องของราคาน้ำมันที่ยังคงราคาที่สูงขึ้นจากความยืดเยื้อของสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน จะเป็นตัวแปรให้เกิดการใช้รถยนต์บนท้องถนนและการเกิดอุบัติเหตุที่ลดต่ำลง

LastUpdate 06/07/2565 16:49:24 โดย : Admin
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 5:16 pm