เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ เงินบาทเผชิญแรงขาย ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวลงต่อเนื่อง


· เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 15 ปี 8 เดือน ที่ 36.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนจากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังปรับขึ้นมากเกินคาด


· หุ้นไทยร่วงลงแรงท่ามกลางความกังวลต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและสถานการณ์โควิด
 

 
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทอ่อนค่าไปที่ 36.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 15 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2549 โดยเงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางแรงหนุนที่แข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ฯ จากการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยในระหว่างสัปดาห์ เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าผ่านแนว parity เมื่อเทียบกับเงินยูโร เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2545 นอกจากนี้ภาพรวมของสกุลเงินเอเชียและเงินหยวนยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลต่อสัญญาณที่อ่อนแอของเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิดในจีนด้วยเช่นกันขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดกลายเป็นประเด็นหลักของตลาดในสัปดาห์นี้ หลังจากข้อมูลเงินเฟ้อ (ทั้ง CPI และ PPI) เดือนมิ.ย. พุ่งสูงขึ้นกว่าที่คาด และทำให้ตลาดเริ่มมีการคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 100 basis points ในการประชุมรอบ 26-27 ก.ค. นี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดีการคาดการณ์ดังกล่าวชะลอลงบางส่วน หลังเจ้าหน้าระดับสูงของเฟดให้ความเห็นในเชิงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 75 basis points ในรอบนี้

ในวันศุกร์ที่ 15 ก.ค. 2565 เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 15 ปี 8 เดือนที่ 36.73 ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 36.60 เทียบกับระดับ 36.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 ก.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 11-15 ก.ค. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,141 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 2,079 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 2,063 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 16 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (18-22 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 36.30-37.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์เงินทุนต่างชาติ ข้อมูลการส่งออกของไทยเดือนมิ.ย. ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางอินโดนีเซีย และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของธนาคารกลางจีน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนก.ค. ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. และดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนก.ค. ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
 

 
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยร่วงลงแรงจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศท่ามกลางความกังวลว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่า 0.75% หลังข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ออกมาสูงกว่าที่คาด นอกจากนี้หุ้นไทยยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย ทั้งนี้ปัจจัยลบข้างต้นได้กระตุ้นแรงขายในหุ้นหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ ไฟแนนซ์ และอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่หุ้นในกลุ่มพลังงานมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลง

ในวันศุกร์ (15 ก.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,533.37 จุด ลดลง 1.57% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 55,086.14 ล้านบาท ลดลง 15.27% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.32% มาปิดที่ 564.78 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (18-22 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,500 และ 1,490 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,545 และ 1,555 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการงวดไตรมาส 2/65 ของบริษัทจดทะเบียนใน ตลท.ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์โควิด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนมิ.ย. และดัชนี PMI เดือนก.ค. (เบื้องต้น) ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB และ BOJ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย. และดัชนี PMI เดือนก.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนก.ค.ของจีน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.ค. 2565 เวลา : 20:27:52
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 12:54 am