เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCOOP : "สินค้าโภคภัณฑ์" ราคาลดลง แม้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น สัญญาณอันดี หรือแค่ภาพลวงตา?


 

 

ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ หลายๆคนที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวคงจะยิ้มกว้างกันถ้วนหน้า เพราะราคาน้ำมันได้มีการปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเราอาจจะคิดว่าเศรษฐกิจกำลังจะกลับมาดีแล้วหรือเปล่า?

 
 
 
ยิ่งเราซูมดูราคาน้ำมัน ในส่วนของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันเบรนท์ ก็เห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน จากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงสุดหลังเกิดสภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน อยู่ที่ 139.13 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาเรลล์ ลดลงมาคาบเส้นอยู่ที่ประมาณระดับราคาประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาเรลล์ และจากการดูกราฟเชิงเทคนิคที่ทำการออกข้างแบบ Sideways ก็มีแนวโน้มที่ราคาน้ำมันจะปรับลดลงไปมากกว่านี้อีก

 
 
 
 
นอกจากราคาน้ำมันที่ลดลงแล้ว ในสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนของอาหารก็มีราคาที่ปรับลดลงเช่นกัน อย่างเช่นราคาข้าวสาลี ตามข้อมูลของกราฟด้านบน ที่ราคาเคยทำจุดสูงสุดถึง 1,277 ดอลลาร์สหรัฐฯ/Bu ก็หลุด 1,000 มาอยู่ที่ระดับ 700 กว่าๆล่าสุด ส่วนราคาของ Lumber หรือไม้ที่ใช้สำหรับที่ใช้ในการก่อสร้างก็มีราคาปรับลดลงจากระดับราคา 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯกว่าๆ เหลือเพียง 600 ดอลลาร์สหรัฐฯกว่าๆเท่านั้น

พลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่การปรับราคาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มองเผินๆแล้วก็ดูเหมือนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นแล้ว เงินเฟ้อน่าจะควบคุมได้แล้วหรือเปล่า แต่ความเป็นจริง ค่า CPI หรือดัชนีวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคของรอบเดือนมิถุนายนล่าสุด (ที่มีการประกาศเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมนี้) กลับทำ New High แตะอยู่ที่ 9.1% แสดงถึงสภาวะเงินเฟ้อที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปีเลยทีเดียว ซึ่งมีความขัดแย้งอย่างมากกับทิศทางของราคาสินค้าที่ลดต่ำลง

 
 
 
 
จากภาพด้านบน เป็นกราฟที่แสดงถึงค่า CPI ของสินค้าโภคภัณฑ์ (เส้นสีแดง) กับค่า CPI ของภาค Service (เส้นสีเขียว) ซึ่งพบว่าในขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์มีทิศทางที่จะปรับตัวลงมาแล้วตามเส้นกราฟที่ไหลลงมา สินค้าที่เป็นการบริการกลับมีราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นสูงสุดตั้งแต่ในรอบ 31 ปี (ค.ศ.1991) เลยทีเดียว และถ้าขุดลึกเข้าไปอีก จากข้อมูลตามการรายงานของ Bloomberg จะพบว่าราคาของต้นทุนต่างๆ เช่น ค่าขนส่ง ค่าบำรุงรักษา หรือค่าเช่าสถานที่ ก็มีการปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างค่าเช่าสถานที่ ก็มีราคาที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 5.61% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1992

จากข้อมูลดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า แม้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการปรับลดลงจากที่ทำจุดสูงสุดไปตามสภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้หายไปไหน แต่กลับเป็นปัญหาที่ซึมลึก ซึ่งเป็นเนื้อร้าย ย้ายไปกัดกินในส่วนของสินค้าด้านการบริการแทน จึงเป็นเหตุผลที่ทั้งราคาอาหารในร้านอาหาร ราคาสินค้าบางอย่าง (ที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนของ Supply Chain เช่น ค่าขนส่ง) หรือค่าเช่าสถานที่นั้น กลับไม่ลดลง และมีราคาที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ที่เราเห็นว่าราคาน้ำมันนั้นปรับตัวลดลง สาเหตุหลักๆแท้ที่จริงอีกประการหนึ่งคือ เพราะนักลงทุนต่างกังวลกันว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอย (Recession) อันเนื่องมาจากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของทางธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ที่มีแนวโน้มจะขึ้นมากกว่าระดับ 0.75% ในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อควบคุมสภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ซึ่งจะกระทบกับความต้องการ หรืออุปสงค์ของน้ำมัน และแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 20 ปี ผนวกเข้ากับความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในจีน (จีนใช้พลังงานน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก) ที่อาจทำให้ความต้องการในการใช้น้ำมันนั้นลดลง จึงส่งผลให้ความน่าสนใจของการลงทุนในตลาดน้ำมันลดลง ราคาน้ำมันเลยมีการปรับลดลงตามกลไกทางการตลาดดั่งที่เราเห็นอยู่ในตอนนี้นั้นเอง

ฉะนั้นที่เราเห็นว่าราคาของสินค้าโภคภัณฑ์นั้นลดลง ไม่ใช่สัญญาณกลับตัวอันดีของภาคเศรษฐกิจ หากแต่เป็นเพียง "ภาพลวงตา" ที่กำลังอยู่ในช่วง Cool Down เก็บออมแรงรอวันปะทุที่อาจรุนแรงมากกว่าเดิม จนอาจเกิด "วัฎจักรเศรษฐกิจขาลง" ในสิ้นปีนี้ก็เป็นได้
 
 
 
ที่มา

-https://tradingeconomics.com/commodity/lumber

-https://th.investing.com/commodities/brent-oil

-https://www.nxtmine.com/economics/us-consumer-prices-soared-in-june-americans-real-wages-fall-for-15th-straight-month/

บันทึกโดย : วันที่ : 17 ก.ค. 2565 เวลา : 17:14:41
28-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 28, 2024, 6:17 pm