เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ "ราคาน้ำมันดิบผันผวน ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มตึงตัว"


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 90-110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 95-115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (1-5 ส.ค. 65) 

ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน หลังสหรัฐฯ ประกาศปรับตัวเลข GDP ลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ของปี 65 สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องที่ 0.75% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้ตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน ในขณะที่การผลิตน้ำมันดิบของลิเบียกลับมาดำเนินการอีกครั้ง หลังประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (force majeure) อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาการประชุมของ OPEC+ ที่คาดว่ากลุ่มอาจไม่สามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตเกินกว่าแผนที่วางไว้ ส่งผลให้ตลาดยังคงกังวลอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัว

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

ตัวเลข GDP ไตรมาส 2/65 ของสหรัฐฯ ปรับลดลง 0.90% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q) ซึ่งเป็นการปรับลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส สะท้อนถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในเชิงเทคนิค ขณะที่การประชุมคณะกรรมการกลางนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) วันที่ 26-27 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 75 bps หรือ 0.75% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่ 2.25-2.50% ทั้งนี้ในระยะสั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้หันมาสนใจลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ขณะที่ในระยะยาว การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็วและติดต่อกัน อาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน

IMF (รายงานเดือนก.ค. 65) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก (GDP) ปีนี้ ลง 0.4% จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า มาอยู่ที่ 3.2% เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซียยูเครน สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนและอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงินโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลกดดันการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 860,000 บาร์เรลต่อวัน หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (force majeure) ที่แหล่งผลิตน้ำมันหลายแห่ง ขณะที่ลิเบียคาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในช่วงกลางเดือนส.ค. 65 การกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันดิบอีกครั้งของลิเบีย ช่วยบรรเทาภาวะอุปทานน้ำดิบตึงตัวได้

ตลาดจับตาจากการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 3 ส.ค. 65 โดยตลาดคาดการณ์ว่าทางกลุ่มอาจไม่สามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตเกินกว่าแผนที่วางไว้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านปริมาณการผลิตสำรอง (spare capacity) ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัว

รัสเซียประกาศจะไม่ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศที่ใช้มาตรการตรึงราคา (price cap) น้ำมันของรัสเซีย หลังก่อนหน้านี้สหรัฐฯ และยุโรปพิจารณาใช้มาตรการดังกล่าว เพื่อจำกัดรายได้จากการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย แต่ยังสามารถให้น้ำมันของรัสเซียออกสู่ตลาดได้ อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวต้องได้รับความร่วมมือจากหลายประเทศนอกเหนือจากประเทศสมาชิก ซึ่งจีนและอินเดียอาจไม่ร่วมมือกับมาตรการตรึงราคา เนื่องจาก 2 ประเทศมีการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียอย่างต่อเนื่อง และอาจถูกตอบโต้จากรัสเซียโดยการหยุดส่งออกน้ำมันและก๊าซไปยังยุโรปได้ 

ปริษัท Gazprom ปรับลดปริมาณการส่งออกก๊าซธรรมชาติผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 1 ลงเหลือ 20% ของกำลังการผลิตหลังก่อนหน้านี้กลับมาดำเนินการส่งออกได้ราว 40% ของกำลังการผลิต หลังจากปิดปรับปรุงระหว่างวันที่ 11 – 21 ก.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่สหภาพยุโรปกำลังเตรียมแผนที่จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นแทนที่รัสเซียเพื่อเพิ่มการเก็บสต๊อกให้ได้มากถึง 80% ของกำลังการผลิต ก่อนเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวในปลายปี ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากอุปทานที่ตึงตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (PMI) เดือนก.ค. 65 ของจีน ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าอาจปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 50.5 และอัตราการว่างงานเดือนมิ.ย. 65 ของยุโรป ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 6.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 6.6% 
 
 
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (25-29 ก.ค. 65)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 98.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 4.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 110.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 107.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว หลัง IMF ปรับลด GDP โลกปี 2565 ด้านสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจปรับลดลงมากกว่าที่คาดไว้ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบถูกกดดัน เนื่องจากลิเบียกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันดิบอีกครั้ง ประกอบกับสหรัฐฯ ประกาศแผนขายน้ำมันดิบจากคลังสำรองยุทธศาตร์ (SPR) กว่า 20 ล้านบาร์เรล เพื่อช่วยบรรเทาภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว 
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ส.ค. 2565 เวลา : 11:18:03
08-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 8, 2024, 9:19 am