เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด เงินบาทพลิกแข็งค่า ส่วนตลาดหุ้นไทยขยับขึ้นได้ต่อเนื่อง


 · เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 35.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ตลาดในประเทศรอติดตามผลการประชุมกนง. ในวันที่ 10 ส.ค. นี้ ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของไทย


· หุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาปิดเหนือ 1,600 จุด รับสัญญาณชะลอขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ประกอบกับยังคงมีแรงซื้อต่อเนื่องในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและไฟแนนซ์

 
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทพลิกแข็งค่าผ่านแนว 36.00 ไปแตะระดับ 35.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือน โดยเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามภาพรวมของสกุลเงินในเอเชียท่ามกลางสัญญาณตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในประเด็นเรื่องไต้หวัน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงประคองจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายที่ให้ความเห็นว่า ทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะยังคงต้องปรับขึ้นต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกแข็งค่าในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามการย่อตัวของบอนด์ยีลด์ระยะยาวของสหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลต่อสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมก่อนการประชุมกนง. ในวันที่ 10 ส.ค. ซึ่งถูกคาดหมายว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย หลังจากดอกเบี้ยทรงตัวที่ระดับ 0.50% ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563 
 
ในวันศุกร์ที่ 5 ส.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.57 (หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 35.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ) เทียบกับระดับ 36.81 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพุธก่อนหน้า (27 ก.ค.) ขณะที่ระหว่าง วันที่ 1-5 ส.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 4,125 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 1,074 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 6,737 ล้านบาท แต่มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 7,811 ล้านบาท)
 
สัปดาห์ถัดไป (8-12 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 35.00-36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณดอกเบี้ยของไทยจากผลการประชุมกนง. วันที่ 10 ส.ค. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนในประเด็นไต้หวัน และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภคเดือนส.ค. (เบื้องต้น) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนด้วยเช่นกัน 
 
 
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ SET Index ดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% และส่งสัญญาณชะลอขนาดการขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยย่อตัวลงสั้นๆ ในเวลาต่อมาท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีนในประเด็นไต้หวัน หุ้นไทยกลับมาทยอยปรับตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนคลายกังวลเกี่ยวกับประเด็นสหรัฐฯ-จีน ประกอบกับมีแรงซื้อต่อเนื่องในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและไฟแนนซ์เข้ามาช่วยหนุน 

ในวันศุกร์ (5 ส.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,601.09 จุด เพิ่มขึ้น 1.57% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 64,109.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.38% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 5.41% มาปิดที่ 612.89 จุด 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-12 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,580 และ 1,570 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,610 และ 1,620 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (10 ส.ค.) ผลประกอบการงวด 2Q/65 ของบริษัทจดทะเบียนใน ตลท. รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค.ของจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. ของญี่ปุ่น ตลอดจนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. ของยูโรโซน

 


LastUpdate 08/08/2565 14:41:24 โดย : Admin
09-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2024, 7:39 am