เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC คาด ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวัน : นัยต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก


ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันสูงขึ้นหลังการเดินทางเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ

 
รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงย้ำว่าจะสนับสนุนสันติภาพบริเวณช่องแคบไต้หวันต่อไป ขณะที่รัฐบาลจีนประณามการเดินทางครั้งนี้ และปฏิบัติการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมารอบเกาะไต้หวัน ซึ่งจะกระทบต่อการขนส่งชั่วคราว อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันเคยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะหลังจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party) ที่มีนโยบายสนับสนุนการแยกตัวออกจากจีนชนะการเลือกตั้งไต้หวันตั้งแต่ปี 2016  

ในกรณีฐาน สถานการณ์จะยังไม่ยกระดับความรุนแรง แต่ความตึงเครียดและข้อพิพาทระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมีจำกัด
 
EIC ประเมินว่าสถานการณ์ความขัดแย้งอาจเกิดได้ 3 กรณี กรณีที่มีโอกาสเกิดสูงสุด (กรณีที่ 1) คือ จีนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อไต้หวันในเชิงสัญลักษณ์และเพิ่มการซ้อมรบแค่ชั่วคราว ขณะที่สหรัฐฯ ยังไม่คว่ำบาตรจีนโดยตรง สถานการณ์จึงยังไม่ยกระดับความรุนแรง ด้านสหรัฐฯ ยังคงใช้นโยบายความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์  (Strategic ambiguity) เพื่อลดความเสี่ยงการเผชิญหน้ากับจีน ด้วยการสนับสนุนนโยบาย One-China policy ของจีนอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน ก็ให้การสนับสนุนไต้หวันทางเศรษฐกิจและยุทโธปกรณ์ ขณะที่จีนยังคงอ้างอธิปไตยเหนือไต้หวัน แต่ไม่ต้องการยกระดับความรุนแรงเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจจีนยังซบเซาและกำลังจะมีการจัดประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ในปีนี้ อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดและข้อพิพาทประเด็นการเมืองระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้น (เป็น New normal) และเร่งให้การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) เกิดเร็วขึ้น ในกรณีนี้ EIC ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจะมีจำกัด เศรษฐกิจโลกยังสามารถขยายตัวได้ที่ 3.2% และการค้าโลกขยายตัวได้ที่ 4.1% ในปีนี้

หากความตึงเครียดรุนแรงขึ้น จะกระทบการค้าและห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างมีนัยสำคัญ ในกรณีเลวร้ายที่เกิดสงคราม หลายประเทศจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันส่งผลกระทบต่อการเดินเรือผ่านช่องแคบไต้หวันและน่านน้ำใกล้เคียง ห่วงโซ่อุปทานโลก และเศรษฐกิจภูมิภาค ในกรณีที่จีนใช้มาตรการปิดน่านน้ำไต้หวันและระงับการนำเข้าส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ของไต้หวัน แต่ยังไม่ถึงขั้นเกิดสงคราม (กรณีที่ 2) ห่วงโซ่อุปทานโลกจะได้รับผลกระทบมากขึ้นกว่าในกรณีฐาน โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ที่ไต้หวันเป็นผู้ผลิตสำคัญที่สุดของโลก ขณะที่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อจีน ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกสูงกว่าการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย เนื่องจากจีนมีความสำคัญและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากกว่า ในกรณีนี้ EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้เพียง 2.4% ในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไต้หวันอาจถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนชะลอลงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในกรณีที่เกิดสงครามระหว่างจีนและไต้หวัน (กรณีที่ 3) คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง โดยเศรษฐกิจไต้หวัน จีน และสหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรทั้งสองฝ่ายจะเข้าสู่ภาวะถดถอย การค้าโลกจะแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน ทำให้การค้าระหว่างประเทศหยุดชะงักในหลายพื้นที่ ในกรณีนี้ EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้เพียง 1.4% เท่านั้นในปีนี้

การแบ่งขั้วระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะเร่งตัวรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี
ทั้งสองประเทศมีแนวโน้มพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทานที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ โดยสหรัฐฯ ได้ผ่านร่าง CHIPS and Science Act เพื่อกระตุ้นการลงทุนผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ และห้ามบริษัทต่าง ๆ ส่งเทคโนโลยีสำคัญไปให้จีน ขณะที่จีนก็มีนโยบายกระตุ้นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ภายในประเทศเช่นกัน EIC ประเมินว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศภูมิภาครวมถึงไทยผ่าน 4 ช่องทาง คือ 1) การค้าระหว่างประเทศ การนำเข้าและส่งออกของไต้หวันและกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ทำได้ลำบากขึ้น แต่ในบางกลุ่มสินค้าอาจได้ประโยชน์จากการนำเข้าและส่งออกสินค้าทดแทน (Product substitution) 2) การลงทุนระหว่างประเทศ บริษัทข้ามชาติอาจหันมาลงทุนในประเทศหรือภูมิภาคใกล้เคียง (Reshoring) เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่สูงขึ้น 3) อัตราเงินเฟ้อ ห่วงโซ่อุปทานสำคัญของสหรัฐฯ และจีนได้รับผลกระทบ จึงต้องหันมาพึ่งพาการผลิตในประเทศหรือภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นกว่าเดิม อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และ 4) ความผันผวนในตลาดการเงินสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนอาจกังวลความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกและปิดรับความเสี่ยง (Risk off) ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และค่าเงินภูมิภาครวมถึงเงินบาทอ่อนค่าลง

1. ต้นเหตุของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ จีน และไต้หวัน

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นางแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนไต้หวันเพื่อย้ำจุดยืนของสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุนไต้หวันต่อไป โดยการเยือนไต้หวันครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนเอเชีย และเป็นการเดินทางเยือนไต้หวันครั้งแรกในรอบ 25 ปีของนักการเมืองระดับสูงของสหรัฐฯ การเดินทางของนางเพโลซีครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างมากทั่วโลก แต่ส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ จีน และไต้หวันเพิ่มสูงขึ้นไปอีก (รูปที่ 1) ท่ามกลางความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ตึงเครียดอยู่แล้ว โดยจีนประณามการเดินทางครั้งนี้และเพิ่มการซ้อมรบทั้งทางน้ำและทางอากาศรอบเกาะไต้หวัน ซึ่งล้ำเส้นกลาง (Median line) ระหว่างขอบเขตไต้หวันกับจีน ทั้งนี้ความตึงเครียดในบริเวณช่องแคบไต้หวันเป็นประเด็นสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกเพราะจะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน 
การเดินเรือ และเศรษฐกิจภูมิภาค EIC จึงได้วิเคราะห์กรณีต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นและผลกระทบ รวมถึงนัยต่อเศรษฐกิจโลกและการค้าในอนาคต
 
ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันเริ่มตึงเครียดมากขึ้นตั้งแต่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party) ซึ่งสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระของไต้หวันชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคมปี 2016 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีนและไต้หวันแย่ลง นโยบายที่เคยพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทูตกับจีนมีน้อยลง ทางการจีนมองว่าเป้าหมายควบรวมประเทศ (Reunification policy) ในระยะยาวโดยไม่ต้องใช้กำลังทางการทหารอาจเป็นไปได้ยากขึ้น ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ พันธมิตรตะวันตกอาจเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่มากขึ้น จึงมองว่าหากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปในทิศทางนี้ อาจเสียอำนาจและความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ในพื้นที่นี้ได้ ด้วยเหตุนี้ ทางการจีนจึงตอบโต้ต่อเหตุการณ์เยือนไต้หวันของนางเพโลซีอย่างชัดเจนและรุนแรง เพื่อส่งสัญญาณให้รัฐบาลไต้หวันและชาติพันธมิตรตระหนักถึงผลกระทบที่อาจรุนแรงขึ้นหากไต้หวันยังพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องและต้องการแยกตัวเป็นอิสระ 
 
รูปที่ 1 : ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันสูงขึ้น หลังการเยือนไต้หวันของนางเพโลซี
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงกลาโหมไต้หวัน และ Google
 
2. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก

ความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกเพียงใดขึ้นอยู่กับพัฒนาการ
 
และความขัดแย้งที่จะทวีความรุนแรงขึ้นนับจากปัจจุบัน หากความขัดแย้งไม่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน คาดว่าผลกระทบจะมีจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้าของไต้หวันมีขนาดเล็ก แต่หากความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นจนเกิดเป็นสงครามเต็มรูปแบบ เศรษฐกิจโลกอาจเผชิญกับภาวะถดถอยได้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลกระทบของสงครามที่อาจเกิดขึ้นจากชนวนเหตุครั้งนี้กับสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะพบว่า หากเกิดสงครามขึ้นจริง ผลกระทบจะรุนแรงมากกว่ากรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากเศรษฐกิจและตลาดการเงินจีนมีขนาดใหญ่และมีความเชื่อมโยงกับตลาดโลกมากกว่ารัสเซีย (ตารางที่ 1) อีกทั้ง จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก (Global supply chain) รุนแรงกว่า โดยเศรษฐกิจและการค้าโลกจะชะลอลงมาก เงินเฟ้อเร่งขึ้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน ทั้งนี้ EIC ได้ประเมินผลกระทบโดยแบ่งออกเป็น 3 เหตุการณ์ ตามสมมติฐานด้านมาตรการทางเศรษฐกิจ มาตรการทางทหาร การขนส่งทางเรือและทางอากาศ และการตอบโต้จากสหรัฐฯ ดังนี้ 
ตารางที่ 1 : เปรียบเทียบขนาดเศรษฐกิจระหว่างจีน รัสเซีย และไต้หวัน
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ CEIC และ IMF
 
รูปที่ 2 : ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกในแต่ละกรณี
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ WTO
 
กรณีที่ 1 : จีนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจไต้หวันในเชิงสัญลักษณ์และซ้อมรบเพียงชั่วคราว สถานการณ์ไม่ยกระดับความรุนแรงมากขึ้น แต่ความตึงเครียดและข้อพิพาทระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น
 
มาตรการทางเศรษฐกิจ : จีนเลือกคว่ำบาตรเศรษฐกิจไต้หวันเฉพาะสินค้าที่ไม่สำคัญมากต่อห่วงโซ่การผลิตจีนและหาทดแทนได้ง่าย เช่น สินค้าเกษตรและสินค้าประมง แต่จะไม่คว่ำบาตรสินค้าสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกัน จีนใช้มาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าจีนบางชนิดไปไต้หวัน ซึ่งมีสัดส่วนต่อการส่งออกรวมของจีนไม่มาก เช่น ทรายธรรมชาติ ซึ่งนำไปใช้ในภาคก่อสร้างและการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยคาดว่ามาตรการเหล่านี้จะคงอยู่นานหลายปี
 
มาตรการทางทหาร : จีนเพิ่มการซ้อมรบบริเวณน่านน้ำไต้หวันและบินลาดตระเวนน่านฟ้าไต้หวันเป็นครั้งคราว 
 
การเดินเรือ : ช่องทางการเดินเรืออาจถูกกระทบเพียงชั่วคราวเป็นระยะในช่วงที่จีนซ้อมรบ
 
การตอบโต้จากสหรัฐฯ : สหรัฐฯ ไม่ใช้มาตรการตอบโต้ใด ๆ
 
ในกรณีนี้ EIC คาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจะมีจำกัด ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 การส่งออกสินค้าประมงและสินค้าเกษตรจากไต้หวันไปจีนคิดเป็นเพียงแค่ 0.05% ของการส่งออกรวมของไต้หวัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 11% ของการส่งออกของไต้หวันไปยังจีน และอุตสาหกรรมเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.5% ของ GDP ไต้หวันในปี 2021 นอกจากนี้ จีนสามารถนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากประเทศอื่นทดแทนได้ ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ส่งออกรายอื่นในภูมิภาค ขณะเดียวกัน การนำเข้าทรายจากจีนของไต้หวันคิดเป็นเพียง 3% ของการนำเข้าทรายทั้งหมด (รูปที่ 3) ซึ่งจะส่งผลจำกัดต่อภาคการก่อสร้างและการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน เนื่องจาก 1) จีนเคยใช้มาตรการระงับการส่งออกทรายธรรมชาติกับไต้หวันมาแล้วในปี 2007 ทำให้ไต้หวันต้องทยอยหาแหล่งนำเข้าทรายธรรมชาติจากประเทศอื่นทดแทนมากขึ้น 2) ไต้หวันพึ่งพาการใช้ทรายธรรมชาติในกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์จากแหล่งในประเทศเป็นหลัก นำเข้าในสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก สำหรับการเดินเรือ ผู้ให้บริการได้ปรับเปลี่ยนเส้นทางเพื่อรับมือการซ้อมรบของจีน แต่ยังเดินทางผ่านช่องแคบไต้หวันได้ ทั้งนี้หากจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางคาดว่าจะเพิ่มระยะการเดินทางประมาณ 3 วัน สำหรับทางอากาศ มีการปรับเส้นทางบินที่ผ่านช่องแคบไต้หวันไปอ้อมด้านขวาของเกาะไต้หวันผ่านน่านฟ้าฟิลิปปินส์ในช่วงที่จีนซ้อมรบ แต่ในภาพรวมจะไม่มีผลกระทบที่ยืดเยื้อและรุนแรงในระยะยาว 
 
รูปที่ 3 : ไต้หวันพึ่งพาการนำเข้าทรายธรรมชาติจากจีนในสัดส่วนน้อยมาก
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg, TrendForce, Nikkei Asia, J.P Morgan และ SCMP
 
EIC จึงประเมินว่าเศรษฐกิจและการค้าโลกจะยังดำเนินต่อไปได้ไม่สะดุด เนื่องจากมีเพียงไต้หวันที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของจีนโดยตรง ซึ่งผลกระทบยังน้อย เนื่องจากมูลค่าเศรษฐกิจและการค้าของไต้หวันเทียบเศรษฐกิจโลกมีสัดส่วนน้อย จึงคาดว่าการค้าโลกจะยังขยายตัวได้ที่ 4.1% ขณะที่เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ที่ 3.2% ตามที่ IMF ประเมินไว้ (ภายใต้สมมติฐานไม่มีสงครามระหว่างจีนและไต้หวัน)
 
กรณีที่ 2 : จีนใช้มาตรการปิดล้อมน่านน้ำไต้หวัน และควบคุมการเข้าออกสินค้า สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น แต่ยังไม่เกิดสงคราม
 
มาตรการทางเศรษฐกิจ : จีนระงับการนำเข้าสินค้าเกือบทั้งหมดของไต้หวันจากทุกประเทศ ขณะเดียวกัน การส่งออกของไต้หวันส่วนใหญ่ถูกระงับจากการปิดล้อมน่านน้ำของจีน
 
มาตรการทางทหาร : จีนนำกองทัพเรือล้อมรอบน่านน้ำไต้หวัน โดยไม่อนุญาตให้สินค้า บุคคล และข้อมูลผ่านเข้าออกไต้หวันได้
 
การเดินเรือ : เรือขนส่งสินค้าเพื่อผ่านไปยังจุดหมายอื่น ๆ ต้องหลีกเลี่ยงบริเวณช่องแคบไต้หวัน ขณะที่เรือขนส่งสินค้าไปหรือออกจากไต้หวันจะไม่สามารถเดินเรือได้นอกจากจะได้รับการอนุมัติจากจีน
 
การตอบโต้จากสหรัฐฯ : สหรัฐฯ จะมองว่าการปิดล้อมน่านน้ำเป็นเหตุแห่งสงครามและเริ่มใช้มาตรการคว่ำบาตรจีน เช่น การถอดถอนจีนจากระบบการเงินโลกผ่านการถอดจีนออกจากเครือข่ายทางการเงิน SWIFT การระงับสินค้านำเข้า/ส่งออกบางกลุ่มจากจีน และการอายัดสินทรัพย์ของผู้นำและรัฐบาลจีนในสหรัฐฯ เป็นต้น พร้อมส่งเรือรบเข้ากดดันจีน แต่จะพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรง
 
ในกรณีนี้ EIC คาดว่าการค้าและห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับผลกระทบรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลง มาตรการปิดล้อมน่านน้ำไต้หวันของจีนจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไต้หวันเกือบทั้งหมด ซึ่งคิดเป็น 62.1% ของ GDP ในปี 2021 ขณะที่ไต้หวันพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักรุนแรง สำหรับสินค้าสำคัญในห่วงโซ่การผลิตโลกที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งบริษัทสัญชาติไต้หวันมีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 64% ของรายได้จากการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในโลก โดยเฉพาะบริษัท TSMC 
ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกมีส่วนแบ่งตลาดถึง 92% สำหรับเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง เช่นที่ใช้ใน iPhone และเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตในไต้หวัน จึงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง โดยเฉพาะธุรกิจกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ 
 
EIC จึงประเมินว่า ในกรณีนี้การค้าโลกจะขยายตัวได้เพียง 0.8% ขณะที่เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 2.4% ในปีนี้ เนื่องจากไต้หวันจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจจีน สหรัฐฯ และประเทศที่พึ่งพาวัตถุดิบจากไต้หวันจะชะลอตัวลง การที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มใช้มาตรการคว่ำบาตรจีน ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวเช่นกัน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียแล้ว จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่ารัสเซียและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่า จึงจะส่งผลกระทบต่อทั้งภาคเศรษฐกิจจริงและตลาดการเงินในวงกว้าง นอกจากนี้ สถานการณ์ตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันและบริเวณโดยรอบจะส่งผลให้ค่าระวางเรืออาจเพิ่มสูงขึ้นและกระทบต่อการค้าโลกและอัตราเงินเฟ้อในอีกช่องทางหนึ่ง
 
กรณีที่ 3 : จีนใช้กำลังทหารโจมตีไต้หวันโดยตรง เกิดสงครามระหว่างสหรัฐฯ และจีนเต็มรูปแบบ
 
มาตรการทางเศรษฐกิจ : จีนตัดความสัมพันธ์และระงับการส่งออกสินค้าไปประเทศพันธมิตรกับสหรัฐฯ 
 
มาตรการทางทหาร : เกิดการเผชิญหน้าในวงกว้าง จีนโจมตีไต้หวันทั้งทางอากาศและทางน้ำ พร้อมเตรียมยกพลขึ้นบกโดยเริ่มจากเกาะเล็ก ๆ ใกล้จีน การเผชิญหน้าอาจลามไปเกาะต่าง ๆ ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ เช่น เกาะในทะเลจีนใต้ เกาะโอกินาวะ 
 
การเดินเรือ : หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น ช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก ช่องแคบมะละกา 
 
การตอบโต้จากสหรัฐฯ : สหรัฐฯ จีน และพันธมิตรแต่ละประเทศแยกเป็นสองขั้ว (Decoupling) ชัดเจน และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างกันหยุดชะงักเกือบทั้งหมด ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการเงิน พร้อมทั้งมีการยึดสินทรัพย์ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศตน ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ จะส่งกำลังเข้าสนับสนุนไต้หวันและได้รับความช่วยเหลือจากประเทศพันธมิตรในภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย โดยสหรัฐฯ อาจใช้มาตรการปิดน่านน้ำตั้งแต่บริเวณช่องแคบมะละกาถึงช่องแคบไต้หวัน เพื่อระงับไม่ให้เรือขนส่งสินค้าของพันธมิตรและคู่ค้าจีน เดินทางถึงจีนได้ 
 
ในกรณีนี้ EIC คาดว่าการค้าโลกจะชะลอตัวรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงชัดเจน โดยเฉพาะจีน สหรัฐฯ และไต้หวันที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงและเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในกรณีนี้ การค้าจากไต้หวันจะหายไปทั้งหมด ส่งผลกระทบอย่างมากต่อห่วงโซ่การผลิตโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และส่งผลให้ไต้หวันเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง สำหรับจีน การโจมตีทางทหารจากไต้หวันและสหรัฐฯ ตลอดจนมาตรการคว่ำบาตรที่ครอบคลุมสินค้าในวงกว้างจะทำให้เกิดการชะงักของการผลิตและการค้า ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นกัน ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปยังการค้าโลก สำหรับสหรัฐฯ  EIC คาดว่า แม้สหรัฐฯ จะไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากสงคราม แต่เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ พึ่งพาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจีนและไต้หวันสูง ประกอบกับอุปสงค์และการค้าโลกที่จะชะลอลงรุนแรง ทำให้สหรัฐฯ ก็จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปด้วย นอกจากประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว สงครามมีแนวโน้มขยายวงกว้างไปยังพันธมิตรสหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่นและออสเตรเลียอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจโลก EIC จึงประเมินว่า ในกรณีนี้การค้าโลกจะหดตัว 6.4% เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 1.4% ในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสำคัญเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
 
ด้านการขนส่งสินค้าและห่วงโซ่อุปทานโลกจะได้รับผลกระทบในวงกว้าง เนื่องจากสหรัฐฯ อาจใช้มาตรการปิดน่านน้ำไม่ให้สินค้าเข้าสู่จีน เริ่มตั้งแต่บริเวณช่องแคบมะละกาและทะเลจีนใต้ถึงทะเลจีนตะวันออก ซึ่งการค้าโลกกว่า 40% ต้องขนส่งผ่านเส้นทางนี้ จึงทำให้การขนส่งดำเนินได้ลำบากมากขึ้น เพราะต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว นำไปสู่ต้นทุนค่าขนส่งและค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นทั่วโลก และเกิดการขาดแคลนสินค้าต่าง ๆ ตามมา นอกจากนี้ ตลาดการเงินจะเกิดภาวะตื่นตระหนก (Panic) นำไปสู่การตึงตัวของสภาพคล่องในตลาดทุนและตลาดสินเชื่อ ทั้งนี้ความเสี่ยงที่สถานการณ์ในกรณีนี้จะแย่ลงมีสูง ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของสงครามและความรุนแรงของการเผชิญหน้าว่าจะยืดเยื้อเพียงใด
 
3.นัยต่อการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ และจีน

สถานการณ์ในปัจจุบันสะท้อนว่า นโยบายสหรัฐฯ ยังไม่สอดคล้องกันระหว่างประธานาธิบดีไบเดน นางเพโลซี และสมาชิกสภาคองเกรส แต่ในระยะข้างหน้า EIC มองว่าสหรัฐฯ จะยังใช้นโยบายความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ (Strategic ambiguity) ต่อไปเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับจีน โดยจะสนับสนุนไต้หวันทางเศรษฐกิจและยุทโธปกรณ์ แต่ไม่กล่าวอย่างเป็นทางการว่าจะปกป้องไต้หวันหากเกิดสงครามกับจีน โดยในช่วงที่ผ่านมา ท่าทีของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันยังไม่ค่อยสอดคล้องกัน เช่น ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่าสหรัฐฯ พร้อมจะปกป้องไต้หวันหากเกิดการโจมตี แต่โฆษกทำเนียบขาวยืนยันว่าสหรัฐฯ ยังคงให้สัญญาต่อนโยบายจีนเดียว (One-China policy) และไม่ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายแต่อย่างใด นอกจากนี้ การเดินทางเยือนไต้หวันของนางเพโลซีครั้งนี้ก็จัดว่าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของนโยบายสหรัฐฯ ที่ไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากไม่ได้เป็นนโยบายทางการของรัฐบาลไบเดน  ซึ่งประธานาธิบดีไบเดนอาจได้รับแรงกดดันจากสมาชิกสภาคองเกรสให้มีท่าทีเข้มงวดต่อจีนและสนับสนุนไต้หวันมากขึ้น โดยเฉพาะจากสมาชิกพรรคริพับลิกัน (Republican) ซึ่งหากประธานาธิบดีไบเดนไม่ทำตามอาจกระทบต่อความนิยมที่อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้วจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งมีความสำคัญมากเนื่องจากสหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งกลางภาคในปีนี้ และมีความเสี่ยงที่พรรคเดโมแครต (Democrat) อาจสูญเสียเก้าอี้ส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ อย่างไรก็ดี หากจะมีการเปลี่ยนแปลงท่าทีของสหรัฐฯ อาจเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังมีความเห็นต่างภายในรัฐบาลสหรัฐฯ อีกทั้งสหรัฐฯ ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งทางทหาร สังคม และเศรษฐกิจ จึงมีแนวโน้มจะใช้นโยบาย Strategic ambiguity ต่อไปเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับจีน
 
สำหรับจีน การเดินทางเยือนไต้หวันของนางเพโลซีเป็นอีกหนึ่งประเด็นทางการเมืองที่สำคัญในปีนี้ที่จะมีการจัดประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งชาติครั้งที่ 20 ที่คาดว่าจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) มีแนวโน้มจะได้รับแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน (เนื่องจากกฎหมายจีนกำหนดให้ประธานาธิบดีรับตำแหน่งได้สูงสุด 2 สมัย) จึงทำให้การประชุมครั้งนี้จึงสำคัญมาก ทั้งนี้เป้าหมายของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงคือ การรักษาเสถียรภาพในประเทศและแสดงความเข้มแข็งของจีนท่ามกลางปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์จากมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero COVID) ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา และอัตราการว่างงานของเยาวชนที่อยู่ในระดับสูง เพื่อให้การรับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยต่อไปราบรื่น ด้วยเหตุนี้ จึงจะต้องตอบโต้ต่อการเยือนไต้หวันของนางเพโลซีเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของจีน พร้อมกดดันไม่ให้สหรัฐฯ เปลี่ยนสถานภาพจากที่เป็นอยู่เดิม (Status quo) และเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงอีกด้วย ในระยะต่อไป คาดว่าจีนจะใช้นโยบายบริหารประเทศด้วยระบอบสังคมนิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน ซึ่งอาจทำให้ความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ เข้มข้นขึ้น แต่การยกระดับความรุนแรงเป็นไปได้น้อย เนื่องจากจีนต้องรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศไปพร้อม ๆ กัน 
 
4. แนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไร ?
 
EIC คาดว่าสถานการณ์จะไม่ยกระดับความรุนแรงขึ้น แต่ความตึงเครียดและข้อพิพาทระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้น ความร่วมมือระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะลดลง ในมุมมองของจีน เป้าหมายการซ้อมรบในน่านน้ำไต้หวันคือการส่งสัญญาณไม่ให้สหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงการยึดมั่นต่อนโยบายจีนเดียว (One-China policy) หลังจากสหรัฐฯ แสดงท่าทีว่าจะสนับสนุนไต้หวันอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจีนจะอยากรักษาเสถียรภาพที่มีอยู่เนื่องจากเป็นปีที่สำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกัน นโยบายของสหรัฐฯ ต่อไต้หวันไม่ได้มีความชัดเจนมาก และมีแนวโน้มว่าจะดำเนินไปอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ทั้งสองประเทศจึงจะไม่ยกระดับความรุนแรงขึ้น หรือคงสถานการณ์เช่นนี้ไว้ กล่าวคือ สหรัฐฯ จะยังคงสนับสนุนนโยบาย One-China policy ของจีนอย่างเป็นทางการ แต่ก็ยังสนับสนุนไต้หวันทางเศรษฐกิจและยุทโธปกรณ์ต่อไป ขณะที่จีนจะยังอ้างอธิปไตยเหนือไต้หวัน แต่จะไม่ยกระดับความรุนแรง เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังซบเซา ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในด้านต่าง ๆ จะมีความเป็นไปได้ยากขึ้น เห็นได้จากการที่จีนประกาศยกเลิกความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศ (Climate change) การทหาร และการปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น
 
ความตึงเครียดระหว่างจีน สหรัฐฯ และไต้หวันที่สูงขึ้นจะกลายเป็นภาวะปกติใหม่ (New normal) ในระยะต่อไป จีนมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นต่อการแสดงออกทางการเมืองของไต้หวัน โดยล่าสุด จีนได้กักกันสินค้านำเข้าจากไต้หวันที่ระบุว่า “Made in Taiwan” หรือ “Made in Republic of China” แทนคำว่า “Taiwan, China” หรือ “Chinese Taipei” และมีโทษปรับหรือปฏิเสธการนำเข้าสินค้าหากฝ่าฝืน ทางฝั่งสหรัฐฯ สถานการณ์ของไต้หวันมีแนวโน้มจะกลายเป็นประเด็นด้านการต่างประเทศที่สำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อ ๆ ไป และสหรัฐฯ อาจสนับสนุนไต้หวันมากขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร
 
ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศภูมิภาครวมถึงไทยหลายช่องทาง ทั้งด้านการค้าและการลงทุนที่จะลดลง อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และความผันผวนในตลาดเงินที่เพิ่มขึ้น โดยทั้งสองประเทศมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาตนเองมากขึ้นในสินค้าที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งไต้หวันเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก (รูปที่ 4) และเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงที่ใช้ในยุทโธปกรณ์ทางทหารต่าง ๆ หากเกิดการปิดน่านน้ำไต้หวันหรือสงครามขึ้นจะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเป็นอย่างมาก โดยความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจผ่าน 4 ช่องทาง คือ
 
1) การค้าระหว่างประเทศลดลง ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าและส่งออกกับไต้หวันรวมถึงกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากการขนส่งและระบบโลจิสติกส์จะทำได้ลำบากขึ้น อย่างไรก็ดี สินค้าบางกลุ่มอาจได้ประโยชน์จากความขัดแย้งนี้ เนื่องจากการค้าระหว่างจีนและไต้หวันจะลดลงหรือหยุดชะงัก จึงทำให้ต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นแทน (Product substitution)
 
2) การลงทุนระหว่างประเทศลดลง เนื่องจากบริษัทข้ามชาติอาจหันมาลงทุนในประเทศ (Reshoring) หรือในภูมิภาคใกล้เคียง (Regionalization) มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการชะงักของอุปทาน (Supply-chain disruption) ในเวลาที่มีความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) สูงขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ในระยะเปลี่ยนผ่าน ภูมิภาคอาเซียนโดยรวมที่ยังคงบทบาทเป็นกลาง (Impartiality) จะยังได้รับประโยชน์จากการย้ายหรือขยายฐานการผลิตออกจากจีนของธุรกิจนานาชาติต่าง ๆ
 
3) อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น เนื่องจากการจัดการห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยนแปลงไป ทำให้แต่ละประเทศต้องหันมาพึ่งพาการผลิตในประเทศหรือภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตรวมถึงค่าแรงสูงขึ้นเพราะไม่สามารถพึ่งพาแรงงานค่าแรงต่ำในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เหมือนในอดีต ซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้นนี้จะส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าผู้บริโภค ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น
 
4) ความผันผวนในตลาดการเงินสูงขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกเพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนปิดรับความเสี่ยง (Risk off) มากขึ้น เงินทุนเคลื่อนย้ายจึงไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีความเสี่ยงสูงไปสู่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งทำให้ค่าเงินภูมิภาครวมถึงเงินบาทอ่อนค่าลงด้วย

ล่าสุดสหรัฐฯ เร่งดำเนินนโยบายที่จะนำไปสู่การแบ่งขั้ว (Decoupling) เร็วขึ้น โดยในเดือนสิงหาคม สหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมาย CHIPS and Science Act ซึ่งตั้งงบประมาณ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ พร้อมให้เครดิตภาษีสำหรับการลงทุนเพิ่มเติม โดยกฎหมาย ฉบับนี้ห้ามบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนขยายกิจการการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในจีน นอกจากจะเป็นกิจการที่มีอยู่แล้วหรือเป็นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์รุ่นเก่า นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคม สหรัฐฯ ได้กดดันบริษัท ASML ที่ผลิตเทคโนโลยีสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงไม่ให้ทำธุรกิจกับจีนอีกด้วย 

สำหรับจีน ตั้งเป้าผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ 80% ของอุปสงค์จีนภายในปี 2030 ตามแผน Made in China 2025 โดยได้ตั้งกองทุน China integrated circuit industry investment fund ขึ้นในปี 2014 ด้วยวงเงินประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ นอกจากนี้ จีนยังให้สิทธิพิเศษอื่น ๆ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีนำเข้าสำหรับผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นเซี่ยงไฮ้ประกาศให้เงินอุดหนุนบริษัทที่ลงทุนในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เทียบเท่ากับ 30% ของมูลค่าการลงทุน แต่ไม่เกิน 100 ล้านหยวนเพื่อพัฒนาการผลิตภายในประเทศ ทั้งนี้เทคโนโลยีจีนปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตชิปที่มีขนาดเล็กสุด (5 nm) ที่ใช้ในเทคโนโลยีขั้นสูงได้ อย่างไรก็ดี ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม TechInsights ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านเทคโนโลยีเผยในรายงานว่า ขณะนี้จีนสามารถผลิตชิปขนาด 7nm ได้แล้ว แม้จะไม่มีเทคโนโลยีที่จำเป็นจาก ASML ซึ่งเร็วกว่าที่ประเมินไว้มาก สะท้อนการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในระยะต่อไป

รูปที่ 4 : ไต้หวันเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญสุดในโลก
 
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg, TrendForce, Nikkei Asia, J.P Morgan และ SCMP

โดยสรุป แม้การเดินทางเยือนไต้หวันของนางเพโลซีครั้งนี้ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันสูงขึ้น แต่ EIC ประเมินว่า ในกรณีฐานสถานการณ์จะไม่ทวีความรุนแรงขึ้น และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจะมีจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ยังคงมีความเสี่ยงอยู่มาก ทั้งสองฝ่ายน่าจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะทำให้การแบ่งขั้วระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นตามต้นทุนและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศที่ลดลงตามการพึ่งพาตนเองมากขี้น และฐานการผลิตของโลกที่สำคัญอาจได้รับการลงทุนจากต่างชาติลดลง แต่ในระยะเปลี่ยนผ่าน อาเซียนจะยังได้รับประโยชน์จากการย้ายหรือขยายฐานการผลิตออกจากจีนของธุรกิจข้ามชาติเพื่อลดความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกระหว่างสหรัฐฯ จีน และไต้หวัน

บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/china-taiwan-crisis-180822

 
ผู้เขียนบทวิเคราะห์
วชิรวัฒน์ บานชื่น (wachirawat.banchuen@scb.co.th) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ปัณณ์ พัฒนศิริ (punn.pattanasiri@scb.co.th) นักวิเคราะห์             
 

 
ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ชินวุฒิ์ เตชานุวัตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน

วชิรวัฒน์ บานชื่น นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

จงรัก ก้องกำชัย นักวิเคราะห์

ณิชนันท์ โลกวิทูล นักวิเคราะห์

ปัณณ์ พัฒนศิริ นักวิเคราะห์

วิชาญ กุลาตี นักวิเคราะห์

อสมา เหลี่ยมมุกดา
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ส.ค. 2565 เวลา : 19:35:54
02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 4:21 pm