เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : ปัญหารุมจ่อ"จีน" เศรษฐกิจเริ่มคาบเส้น ลดดอกเบี้ย 0.1% สวนตลาดโลก


 

 

ประเทศจีน เรียกได้ว่า เป็นประเทศที่ยังไม่เคยเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจมาก่อนเลย ตั้งแต่การเปิดและปฏิรูปประเทศจีนในยุคของ เติ้งเสี่ยวผิง ในปี พ.ศ. 2521 ที่วางรากฐานทางเศรษฐกิจให้กับจีนเสียใหม่ และการพัฒนาระบอบสังคมนิยมแบบพิเศษที่เป็นมิตรกับต่างชาติ จนทำให้จีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วแบบก้าวกระโดด เป็นประเทศมหาอำนาจที่ตีคู่ไปกับสหรัฐอเมริกา กลายเป็นโรงงานของโลก และเตรียมสะสมกำลังเพื่อเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่การพึ่งพาตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ


แม้ที่ผ่านมา จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจีนกับสหรัฐนั้นต่างแข่งขันช่วงชิงการเป็นพี่ใหญ่อันดับ 1 ของโลก แต่สหรัฐก็เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน ในช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐนั้น (มกราคม 2560 - มกราคม 2564) ได้มีมาตรการกีดกัดการค้ากับทางจีน (หรือสงครามทางการค้าสหรัฐ-จีน) อย่าง Trade War การตั้งกำแพงภาษีนำเข้าจากจีน Tech War สหรัฐตัดจีนออกจากห่วงโซ่เทคโนโลยีด้วยการจำกัดการค้าขายกับบริษัทชั้นนำของจีนอย่าง Huawei และ TikTok ที่ทำให้หุ้นเทคจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐถูกเทขายจนร่วงลงต่ำสุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2551 รวมถึงการทยอยกำจัดบริษัทสัญชาติจีนออกไปจากตลาดหุ้นของสหรัฐในปัจจุบัน ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการฉุดความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนลงไป ประกอบกับจีนก็ถือเป็นอีก 1 ประเทศ ที่มีหนี้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศอีกด้วย การปะทะกันซึ่งหน้ากับสหรัฐตามที่กล่าวมา จึงทำให้ภาคเศรษฐกิจของจีนค่อนข้างจะน่าเป็นห่วงในเวลานี้

ผนวกกับนโยบาย Zero Covid ที่ล็อกดาวน์เมืองอย่างเข้มงวดเพื่อกำจัดไวรัสโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ หลังการกลับมาระบาดอีกครั้ง ทำให้เมืองเศรษฐกิจอย่างเซี่ยงไฮ้ต้องทำการชัตดาวน์ลง โดยรัฐบาลออกมาตรการคุมเข้ม ทั้งระงับเที่ยวบิน ปิดสถานที่ต่างๆ ห้ามประชาชนที่อาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้ออกนอกเคหะสถานโดยไม่จำเป็น หรือแม้แต่ระงับระบบขนส่งสาธารณะ ผู้คนมีการจับจ่ายใช้สอยลดลงอย่างมาก แม้ล่าสุดจะออกมาตรการผ่อนคลายมาบ้างแล้ว แต่นโยบาย Zero Covid ก็ยังเป็นหลักที่จีนยึดมั่นถือมั่น (เพราะจีนมีความเสี่ยงจากประชาชนกว่า 100 ล้านคนยังไม่เข้าถึงวัคซีนเข็มที่ 3 ประกอบกับปฏิเสธการนำเข้าวัคซีน mRNA จากทางตะวันตกที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีนของจีน) ทำให้เซี่ยงไฮ้ในตอนนี้ยังฟื้นตัวได้ไม่เท่าเดิม และมีผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวมทั้งทั่วแผ่นดินจีน

และอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ที่ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่กินสัดส่วน GDP ของจีนถึง 30% ในตอนนี้กำลังประสบกับสภาวะตึงเครียด เพราะดูเหมือนยิ่งเข้าใกล้กับวิกฤติการเกิดฟองสบู่แตกเข้าไปทุกทีๆ บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาในลอนดอน Capital Economics ประมาณการว่า ปีที่แล้ว 2564 จีนมีอสังหาริมทรัพย์ที่ขายไม่ออกประมาณ 30 ล้านแห่ง ในขณะที่อีกประมาณ 100 ล้านแห่งอาจถูกซื้อไปโดยไม่มีผู้เข้าพักอาศัย ตรงกับสถาบันวิจัย Beike ของจีนที่ออกมารายงานว่า ห้องพักว่างที่อยู่ในตลาดสัดส่วนมีอยู่มากเกินความต้องการ โดยอัตราห้องพักว่างในจีนแผ่นดินใหญ่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 12.1 (ราว 50 ล้านห้อง) จึงสร้างแรงกดดันให้ราคาบ้านนั้นถูกลง เมื่อรัฐบาลจีนไม่มีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือที่ชัดเจน ทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้นจึงติดลบ ผู้ซื้อบ้านจำนวนมากมีการประกาศคว่ำบาตรการจำนอง ผู้ซื้อไม่ยอมจ่ายเงินผ่อนบ้าน (เพราะบ้านราคาลดลง แต่ผู้ซื้อกลับซื้อราคาก่อนหน้านี้ที่แพงกว่า จึงรู้สึกไม่เป็นธรรม) ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ และตลาดที่เกิดการสั่นคลอนอย่างรุนแรง กดดันให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเจ้าหน้าที่รัฐต้องหาทางแก้ไขวิกฤติดังกล่าวโดยเร็ว ก่อนจะย่ำแย่ไปมากกว่านี้

โดยล่าสุด วันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา สำนักข่าว CNN ได้มีการรายงานว่า ธนาคารประชาชนจีน (PBOC) หรือธนาคารกลางจีน ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 0.10% เพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบธนาคาร เป็นการกระทำที่สวนทางกับสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกในตอนนี้ ที่เผชิญกับสภาวะเงินเฟ้อจนต้องมีการออกนโยบายการเงินที่ตึงตัว อย่างการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและดึงเงินออกจากระบบ
 

 
 
 
จริงๆ เหตุที่จีนลดอัตราดอกเบี้ยไม่สนใจตลาดโลกนั้น อาจเป็นเรื่องที่มีแต่จีนนั้นทำได้ เพราะจากภาพด้านบน ตัวเลข CPI หรือดัชนีวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคนั้นมีค่าที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน และยังต่ำกว่าการคาดการณ์อีกด้วย จึงเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ว่า นโยบายการเงินที่ออกมานี้ ก็เพื่อเป็น Solution ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน สอดคล้องกับ นายจูเลียน อีแวนส์ พริตชาร์ด นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จากองค์กรวิจัยเศรษฐกิจ Capital Economics ได้ให้ความคิดเห็นว่า การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีนเป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะกระตุ้นการเติบโตของเครดิตกลับมา เรียกความเชื่อมั่นให้กลับมา อย่างเรื่องที่ประชาชนลังเลที่จะซื้อบ้านใหม่ จากการคว่ำบาตรการผ่อนบ้านที่กล่าวไปข้างต้น แต่ก็ยังไม่รู้ว่านโยบายนี้จะเพียงพอในการฟื้นฟูให้เศรษฐกิจจีนกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ ซึ่งนั่นหมายความว่า ที่เห็นว่ามีการลดอัตราดอกเบี้ยเพียงน้อยนิดแค่ 0.10% ในตอนนี้ เราอาจจะเห็นธนาคารกลางของจีนค่อยๆ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปเรื่อยๆ แต่ก็มีข้อที่น่าเป็นห่วงว่า มันก็คือการเพิ่มความเสี่ยงที่ภาระหนี้ในประเทศจะเพิ่มมากขึ้น เร่งอัตราเงินเฟ้อให้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มแรงกดดันให้กับค่าเงินหยวนเสียเอง

ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์ความขัดแย้งกับสหรัฐที่เกิดขึ้น จากการที่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา ได้มีการเยือนไต้หวัน และพบปะกับประธานาธิบดีไต้หวัน ไช่ อิงเหวิน ก็ทำให้จีนตอบโต้โดยการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน การแบนสินค้าไต้หวันประมาณ 2,000 รายการ และการระงับการขายทรายให้กับไต้หวัน วัตถุดิบสำคัญที่นำมาผลิตเป็นชิปเซมิคอนดักเตอร์ ที่ใช้ในสมาร์ทโฟน เครื่องมือแพทย์ ส่วนประกอบยานยนต์ รวมถึงเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่มีในโลกนี้ ซึ่งไต้หวันเป็นผู้ผลิตที่ครองสัดส่วนการผลิตชิปกว่า 64% ของทั้งโลก การหยุดขายทรายให้กับไต้หวัน ก็เท่ากับเปลี่ยนพื้นที่การค้าให้กลายเป็นสนามรบ เพราะอาจทำให้โลกเกิดการขาดแคลนชิป และที่สำคัญประเทศจีนเองมีความต้องการชิปเซมิคอนดักเตอร์ถึง 60% ของความต้องการทั้งโลก เท่ากับว่าการตัดขาไต้หวันก็คือการทำร้ายตัวเองในท้ายที่สุด ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติ Supply Chain ของจีนในอนาคต หากยังทำสงครามการค้ากับไต้หวันอยู่

ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามากดดันให้จีนพึ่งพาตัวเองให้ได้ ย่อมเป็นผลดีในระยะยาวกับทางจีนเอง แต่ในระยะสั้นอย่างตอนนี้ดูท่าว่าจะไม่สู้ดีนัก และยังมองไม่ออกว่าจีนจะหาทางเอาตัวรอดวิกฤติเศรษฐกิจที่มีโอกาสเกิดขึ้น(สูง) อย่างไรดี ซึ่งก็คงเป็นอะไรที่ต้องจับตาดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
 
 
 
ที่มา
 
-https://www.cnbc.com/2022/08/05/taiwans-trade-with-china-is-far-bigger-than-its-trade-with-the-us.html
 
-https://www.scmp.com
 
-http://th.investing.com

บันทึกโดย : วันที่ : 21 ส.ค. 2565 เวลา : 16:18:08
02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 5:50 pm