เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ "ราคาน้ำมันดิบผันผวน ท่ามกลางอุปทานตึงตัว หลังโอเปกส่งสัญญาณปรับลดกำลังการผลิต"


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 85-98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 90-103 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

                         
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (29 ส.ค.- 2 ก.ย.65) 
 
ราคาน้ำมันดิบผันผวนเนื่องจากซาอุดิอาระเบียส่งสัญญาณปรับลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัว ขณะที่การรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่ถูกเสนอโดยยุโรปยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากสหรัฐฯ ปฏิเสธข้อเรียกร้องบางประการ ทำให้การกลับมาส่งออกน้ำมันอีกครั้งของอิหร่านยังริบหรี่ ขณะที่ราคาก๊าซในยุโรปปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จากอุปทานที่ตึงตัว หนุนให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้น้ำมันแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น (gas-to-oil switching) อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกน้ำมันของรัสเซียไปยังประเทศอื่นๆ ได้แก่ จีนและตุรกียังคงปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดจับตาความเป็นไปได้ของการส่งออกน้ำมันของรัสเซียในช่วงเข้าใกล้กำหนดเส้นตายห้ามซื้อ-ขายน้ำมันรัสเซียของสหรัฐฯ ยุโรป และหลายประเทศ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
 
ตลาดยังคงกังวลภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว หลังเจ้าชาย Abdulaziz  bin Salman รมว. พลังงานของซาอุดิอาระเบีย มองว่าตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า ซื้อขายกันโดยไม่คำถึงถึงปัจจัยพื้นฐานของตลาดน้ำมันดิบจริง (Physical market) ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดล่วงหน้า (Future market) สูง ตามสถานการณ์ที่เข้ามากระทบ และขาดความเชื่อมโยงระหว่าง 2 ตลาดดังกล่าวมากขึ้น จึงได้ส่งสัญญาณในการปรับลดกำลังการผลิตในการประชุมกลุ่มเดือนหน้าเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันไว้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อเสนออย่างเป็นทางการในการปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าว
 
สหรัฐฯ ประกาศจะไม่พิจารณาข้อเรียกร้องเพิ่มเติมแก่อิหร่านตามข้อเสนอของสหภาพยุโรปในการรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน และไม่เห็นด้วยกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เกี่ยวกับการตรวจสอบการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวไม่สามารถบรรลุผลได้ ส่งผลให้การกลับมาส่งออกน้ำมันอีกครั้งของอิหร่านยังไม่แน่ชัด 
 
ตลาดยังคงกังวลอุปทานก๊าซตึงตัว หลังรัสเซียยังคงหยุดส่งออกก๊าซไปยังยุโรป ส่งผลให้ราคาก๊าซในยุโรปปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ยุโรปต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนก๊าซในช่วงฤดูหนาว เช่น รัฐบาลเยอรมนี มีคำสั่งลดการเปิดไฟในร้านค้าช่วงเวลากลางคืน รวมถึงมาตรการจำกัดอุณหภูมิของเครื่องทำความร้อนไม่ให้เกิน 19 องศาเซลเซียสในอาคารสาธารณะ โดยราคาก๊าซที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้ อาจทำให้ผู้บริโภคต้องเตรียมหันมาใช้น้ำมันแทนก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นในช่วงหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้
 
ปริมาณการส่งออกน้ำมันของรัสเซียไปยังจีนในเดือนก.ค. 65 อยู่ที่ราว 1.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นกว่า 7.6% y-o-y ซึ่งรัสเซียได้กลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบมากเป็นอันดับหนึ่งของจีนเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.65 แซงหน้าซาอุดิอาระเบียขณะที่ตุรกีได้นำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ประมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2565 มากกว่าปีก่อนหน้าที่ 98,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบของรัสเซียที่ซื้อขายกันในราคาถูก ทำให้ตุรกีตัดสินใจนำเข้าเพิ่มขึ้น ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาการส่งออกน้ำมันของรัสเซียในช่วงปลายปี ที่กำลังจะถึงเส้นตายห้ามซื้อ-ขายน้ำมันรัสเซียของสหรัฐฯ ยุโรป และหลายประเทศ 
 
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขความเชื่อมั่นบริโภคของยุโรปเดือนส.ค. 65 ตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า และดัชนีภาคการผลิต (PMI) ของจีนเดือนส.ค. 65 ตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ปรับลดลงต่ำกว่า 50 สะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัว
 
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 - 26 ส.ค. 65)  
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 93.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 4.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 100.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 99.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลัง EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ส.ค. 65 ปรับลดลงกว่า 3.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ขณะที่การรือฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่ถูกเสนอโดยยุโรปยังไม่มีข้อสรุป หลังสหรัฐฯ ประกาศไม่พิจารณาข้อเรียกร้องเพิ่มเติมแก่อิหร่าน ทำให้ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดออกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมเดือนก.ย. 65 นี้ 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ส.ค. 2565 เวลา : 10:37:14
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 2:31 am