เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
11 หุ้นไทย เงินปันผลเกิน 10% ชนะเงินเฟ้อ


หลังจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกรกฎาคม ปี 2565 อยู่ที่ระดับ 7.61% โดยปัจจัยสำคัญมาจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ยังคงสูงขึ้น รวมถึงราคาสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูปก็สูงขึ้นเช่นกัน

 
อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง นอกจากส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากราคาสินค้าแพงขึ้น ยังส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนจากการลงทุนอีกด้วย ทั้งผลตอบแทนที่อยู่ในรูปของดอกเบี้ยเงินฝากหรือผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนต่างๆ
 
ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกว่า ที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับยังไม่ใช่ผลตอบแทนที่แท้จริง ซึ่งผลตอบแทนที่แท้จริงต้องนำมาหักอัตราเงินเฟ้อออกไป เนื่องจากเงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าหรือบริการแพงขึ้น ทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมสามารถซื้อสินค้าหรือบริการได้ลดลง เช่น ในอดีตมีเงิน 40 บาท สามารถซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 2 ชาม แต่ในปัจจุบันเงิน 40 บาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เพียง 1 ชาม ดังนั้น จึงควรลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ

 
ตัวอย่างเช่น ถ้าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 5% ต่อปี หากนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทน 2.5% ต่อปี จะได้รับผลตอบแทนที่แท้จริง -2.5% ซึ่งหมายความว่า เงินลงทุนของคุณ ไม่ได้สร้างผลตอบแทนให้กับคุณเลย จึงควรเปลี่ยนไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น และควรสูงกว่า 5% (อัตราเงินเฟ้อ)
 
โดยสินทรัพย์ลงทุนประเภทหนึ่งที่น่าสนใจท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน ไม่แน่นอน และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง คือ หุ้นที่มีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield)
 
อัตราเงินปันผลตอบแทน คือ ตัวเลขที่บ่งบอกว่าหากนักลงทุนซื้อหุ้น ณ ราคาปัจจุบัน จะมีโอกาสได้รับเงินปันผลเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของราคาหุ้น โดยคิดจากมูลค่าของเงินปันผลต่อหุ้นเทียบกับราคาหุ้น (ณ วันที่คำนวณ) ซึ่งหุ้นที่มีอัตราเงินปันผลตอบแทนสูง แสดงว่าให้ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลสูง ซึ่งวิธีการเปรียบเทียบนั้น ส่วนใหญ่นักลงทุนจะเปรียบเทียบระหว่างหุ้นแต่ละตัว เพื่อดูว่าหุ้นตัวใดน่าสนใจมากกว่ากัน

 
ตัวอย่างเช่น หุ้น A จ่ายเงินปันผล 3 บาทต่อหุ้น และวันที่คำนวณ (1 สิงหาคม 2565) ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 40 บาทต่อหุ้น ผลลัพธ์ หุ้น A จะมีอัตราเงินปันผลตอบแทนเท่ากับ 7.5%
 
ขณะที่หุ้น B จ่ายเงินปันผล 3 บาทต่อหุ้น และวันที่คำนวณ (1 สิงหาคม 2565) ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 60 บาทต่อหุ้น ผลลัพธ์ หุ้น B จะมีอัตราเงินปันผลตอบแทน 5%
 
จากตัวอย่าง ถึงแม้ว่าหุ้นทั้งสองตัวจะมีเงินปันผลเท่ากัน (3 บาทต่อหุ้น) แต่หุ้น A กลับมีอัตราเงินปันผลตอบแทนสูงกว่าหุ้น B เนื่องจากมีราคาหุ้นที่ต่ำกว่า
 
ดังนั้น หากสนใจลงทุนในหุ้นที่มีอัตราเงินปันผลตอบแทนสูง ๆ ควรเน้นลงทุนระยะยาว เพื่อโอกาสรับเงินปันผลต่อเนื่องทุกปี อย่างไรก็ตาม อัตราเงินปันผลตอบแทนในปัจจุบัน ไม่สามารถรับรองหรือการันตีได้ว่าการจ่ายเงินปันผลจะเหมือนเดิมในอนาคต นอกจากนี้ เงินต้นที่ลงทุนก็จะเปลี่ยนแปลงตามราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
 
อัตราเงินปันผลตอบแทนจึงเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน นักลงทุนควรพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง เป็นผู้นำในธุรกิจนั้น กระแสเงินสดของบริษัทเป็นบวก มีสภาพคล่องที่ดี สามารถจ่ายเงินปันผลจากกำไรในการดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง เป็นต้น

 
เงื่อนไขการจัดอันดับ
1. อัตราเงินปันผลตอบแทนมากกว่า 10%
2. กำไรสุทธิมากกว่า 0 (ไม่ขาดทุน) ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา (2560 – 2564)
3. จ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง 5 ปีที่ผ่านมา (2560 – 2564)
 
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ส.ค. 2565 เวลา : 11:37:45
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 10:59 am