สุขภาพ
รู้ทัน หวาน มัน เค็ม รับประทานอาหารแปรรูป-อาหารแช่แข็ง ปลอดภัย ได้คุณค่าทางโภชนาการ


ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอาหารแนะผู้บริโภคอ่านฉลากโภชนาการอย่างเข้าใจ โดยเฉพาะปริมาณหวาน มัน เค็ม สารอาหารและพลังงาน ให้อยู่ในปริมาณตามความต้องการในแต่ละวัน ช่วยให้สามารถรับประทานอาหารแปรรูปและอาหารแช่แข็งได้อย่างปลอดภัยและได้รับคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน

 

 
อาจารย์แววตา เอกชาวนา นักกำหนดอาหารวิชาชีพ แนะนำว่า พฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนไทยยังคุ้นชินกับการรับประทานอาหารรสจัด การเติมเครื่องปรุงประเภท น้ำปลา น้ำตาล ซอส หรือ กระเทียมเจียว เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร และยังมีการปรุงเพิ่มตลอดเวลา รวมถึงอาหารแปรรูปที่มีการปรุงแต่งรสชาติให้ถูกปากผู้บริโภค ซึ่งอาจทำให้ได้รับปริมาณส่วนประกอบของเครื่องปรุงและพลังงานเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ก่อให้เกิดการสะสมและเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ ดังนั้นในการรับประทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงสดเอง ควรเลือกซื้อและบริโภคอาหารที่มีฉลากโภชนาการ GDA (Guideline Daily Amounts) ระบุข้างบรรจุภัณฑ์ให้เข้าใจถึงปริมาณบริโภคต่อหน่วย และค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและสนับสนุนมาตรการป้องกันปัญหาด้านโภชนาการ

ในยุคที่ผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพส่วนบุคคลมากขึ้น การมองหาอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ช่วยส่งเสริมการดำเนินชีวิตประจำวันให้กินดี-อยู่ดี กลายเป็นปัจจัยและความจำเป็นในการเลือกซื้ออาหารมากขึ้น ฉลากโภชนาการ GDA จึงเป็นผู้ช่วยอย่างดีในการให้ข้อมูลการวิเคราะห์ความต้องการในการบริโภคที่จะแสดงให้ทราบถึงปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกรับประทานอาหารสำเร็จรูปได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย
 

 
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) และองค์กรเพื่อสุขภาพต่างๆ ของไทย เช่น กรมอนามัย สถาบันโภชนาการ ได้นำเสนอรายงานด้านพฤติกรรมการบริโภคเกลือหรือโซเดียมของคนไทย พบว่า คนไทยบริโภคมากถึง 3,636 มิลลิกรัม ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการ 2 เท่า จากปริมาณที่ WHO แนะนำ คือ ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม (1 ช้อนชา) พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลเสียและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases : NCDs) อาทิ ความดันโลหิตสูง นำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคอ้วน และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการปรุงอาหารให้มีรสชาติตามความนิยมและความชื่นชอบของผู้บริโภค
 

 
ล่าสุด กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กำลังพิจารณาร่วมกับกรมสรรพสามิตเพื่อเตรียมนำ “ภาษีความเค็ม” เข้ามากำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการบริโภคสูง อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นสำเร็จรูป และขนมกรุบกรอบ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการบริโภคความเค็มต้องลดลง 30% ภายในปี 2568 และเป็นการส่งเสริมให้ทั้งผู้บริโภคทั่วไปและผู้บริโภคที่อยู่ในกลุ่มโรค NCDs ให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหาร รวมถึงระมัดระวังการรับประทานอาหารที่มีไขมัน และมีรสหวาน มัน เค็ม มากเกินไป หรือรับประทานอาหารซ้ำๆ ไม่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้ขาดสารอาหารอื่นๆ และได้รับเส้นใยหรือวิตามินต่างๆ ไม่ครบถ้วน

อาจารย์แววตา กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำของไทยมีการปรับสูตรอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ และนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมาใช้ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ที่เน้นคุณค่าทางโภชนาการเป็นหลัก ตอบโจทย์เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพที่ดี หรือแม้แต่อาหารสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค และอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดลล้อม โดยมีเป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การผลิตอาหารปลอดภัยและคำนึงถึงความมั่นคงทางอาหาร เพื่อสุขโภชนาการที่ดีของผู้บริโภคและใส่ใจสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน เริ่มตั้งแต่นโยบายผลิตและคัดสรรวัตถุดิบชั้นดีในการผลิตเน้นความสด สะอาด ปราศจากสารตกค้าง เพื่อป้อนสู่กระบวนการผลิตตามสูตรอาหารที่ผ่านการวิจัยและปรุงรสให้สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภค และตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต
 

 
สำหรับอาหารที่ได้รับความนิยม เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและอาหารแช่แข็ง ควรเลือกผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ มีตราสัญญลักษณ์การรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องระบุชื่อผู้ผลิต แหล่งผลิต วัน/เดือน/ปี ที่หมดอายุแสดงไว้บนบรรจุภัณฑ์ชัดเจน สร้างหลักประกันความปลอดภัย และควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตลอดจนการออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยผู้บริโภคที่อยู่ในกลุ่มโรค NCDs ต้องอ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกซื้อ เพื่อลดอาหารที่จะมีผลต่ออาการของโรค

นอกจากนี้ ยังมีการผลิตสูตรอาหารเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น หรือเพื่อผู้บริโภคที่มีความต้องการสารอาหารเฉพาะด้านเพื่อสุขภาพที่ดี โดยสังเกตจากตราสัญญลักษณ์ Healthier Logo หรือ Healthier Choice เพื่อความมั่นใจในการบริโภคอาหารให้ตรงกับความการของร่างกาย./
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.ย. 2565 เวลา : 19:27:48
16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 11:36 pm