เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เฟดจะยอมให้สหรัฐฯ เผชิญวิกฤติเพื่อกดเงินเฟ้อจริงหรือ?


เฟดส่งสัญญาณชัดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผันผวนหนักหลังสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด โดยนายเจอโรม พาวเวลล์ กล่าวในเชิงสนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อลดเงินเฟ้อ โดยระบุถึงความสำคัญของเสถียรภาพด้านราคาต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวของสหรัฐฯ นักลงทุนจึงคาดว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงต่อเนื่อง เพื่อทำให้การบริโภคและการลงทุนชะลอตัวลง รวมทั้งเป็นการส่งสัญญาณอย่างจริงจังว่าระดับราคาสินค้าและบริการในอนาคตจะสามารถเติบโตได้ แต่จะไม่กระทบต่อการตัดสินใจของครัวเรือนในการบริโภคหรือสำหรับนักลงทุน อีกทั้งได้ยกตัวอย่างการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อสูงในสหรัฐฯ เมื่อปี 1979 ซึ่งทำให้นักลงทุนอาจกังวลว่า สหรัฐฯ กำลังจะเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในรอบนี้ซ้ำรอยกับคราวก่อนหรือไม่ หรืออาจจะรุนแรงกว่านั้นเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ และในความเป็นจริง เฟดจะยอมแลกให้สหรัฐฯ เผชิญวิกฤติเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อสูงจริงหรือ

 
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย บอกว่า แม้เป็นเพียงคำขู่ แต่อย่าสู้กับเฟด

เฟดกำลังเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง และอาจทำให้นักลงทุนผิดหวังที่เฟดจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่น้อยกว่าระดับ 0.75% ในรอบการประชุมเดือนกันยายนนี้ แม้ก่อนหน้านักลงทุนจะคาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับเพียง 0.50% ในเดือนกันยายนและจะปรับลดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.25% ในอีกสองรอบการประชุมที่เหลือในไตรมาส 4 ซึ่งหมายความว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะเหนือกว่าระดับ 3.50% ในปลายปีนี้จากระดับปัจจุบันที่ 2.50% อย่างแน่นอน
 
ซึ่งความผิดหวังนี้ทำให้เกิดการปรับสมดุลใหม่ในการเข้าถือสินทรัพย์เสี่ยง แต่ไม่น่าจะเป็นการเทขายอย่างต่อเนื่อง เพราะสุดท้าย นักลงทุนก็ยังมีความหวังว่า เฟดจะดำเนินนโยบายทางการเงินตามตัวเลขเศรษฐกิจที่รายงานออกมา หรือจะคอยหวังให้อัตราเงินเฟ้อหรือการจ้างงานชะลอตัวลง และพร้อมเข้าลงทุนในมุมที่จะให้เฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอาจมองว่าเฟดเพียงแค่ขู่นักลงทุนหรือผู้บริโภคเท่านั้น
 
แต่ก็อย่าลืมคำเตือนที่ว่า “Don’t fight the Fed” หรือ “อย่าสู้กับเฟด” เพราะนักลงทุนจะไม่มีวันชนะ และเฟดอาจจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่แรงอย่างไม่ปกติเช่นนี้ต่อเนื่องตลอดทั้งปีก็ได้เพื่อส่งสัญญาณอย่างจริงจังให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ย่อตัวลงได้อย่างรวดเร็ว โดยเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีส่วนสำคัญจากฝั่งอุปสงค์ หรือ Demand Pull Inflation ที่เฟดจำเป็นต้องลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านตลาดแรงงาน และอาจจำเป็นต้องให้คนอเมริกันตกงานเพิ่มขึ้น ให้ค่าจ้างเติบโตช้าลง และให้การบริโภคชะลอตัวลง จนคนคาดการณ์ว่าระดับราคาสินค้าและบริการน่าจะหยุดขึ้นหรืออย่างน้อยก็ขึ้นอย่างช้าๆ โดยไม่กระทบการใช้จ่ายของประชาชนทั่วไปได้
 
แต่ก็น่าห่วงว่า ราคาสินค้าอาจไม่ได้ลดลงเร็ว เพราะส่วนสำคัญของเงินเฟ้อที่เป็นฝั่งอุปทาน หรือ Supply Push Inflation ที่ระดับราคาสินค้าเพิ่มสูงจากการขาดแคลนวัตถุดิบหรือจากต้นทุนการผลิต เช่น ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว ซึ่งประเด็นด้านอุปทานนี้ยากจะคาดเดาและอาจกระทบต่อการตัดสินใจของเฟดในอนาคตได้ ว่าจะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงที่จะถดถอย เพราะราคาพลังงานยังสูง
 
เฟดไม่น่ายอมให้เกิดวิกฤติ

เฟดอาจยอมแลกให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวแรงชั่วคราว เพื่อดึงอุปสงค์หรือการใช้จ่ายและการลงทุนในสหรัฐฯ ให้ลดลง จนระดับราคาสินค้าและบริการมีเสถียรภาพ โดยเฟดน่าจะพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน การผลิต ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และปัจจัยอื่น ๆ ควบคู่กับอัตราเงินเฟ้อ และไม่น่ายืนมองให้สหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ แต่น่าจะพร้อมชะลอการเหยียบเบรคหรือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่น้อยลง หรือแม้แต่เตรียมความพร้อมในการลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัว และเฟดประสบความสำเร็จในการรักษาระดับราคาสินค้าและบริการ เพราะอย่าลืมว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องที่รุนแรง อาจเกิดภาวะตกใจ หรือช็อกในตลาดการเงิน หรือแม้แต่เศรษฐกิจที่แท้จริง จนคนอเมริกันลดการใช้จ่ายและการลงทุนอย่างรวดเร็ว เกิดการเลิกจ้างงานจนมีคนว่างงานจำนวนมาก แล้วเฟดจะตอบคำถามต่อประชาชนได้อย่างไร เมื่อเฟดมีส่วนทำให้ครอบครัวคนอเมริกันหลายล้านคนต้องลำบากเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่พวกเขาไม่ได้ก่อขึ้น
 
ผมจึงมองว่าเฟดไม่น่าจะใจร้อนด้วยการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องจนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล้มครืนลงมา แต่น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงและคงอยู่ในระดับนั้นนานพอสมควร พร้อม ๆ กับลดสภาพคล่องในตลาดการเงิน จนระดับราคาสินค้าและบริการเข้าสู่เสถียรภาพได้ในที่สุด แม้อาจจะช้าหน่อย แต่น่าจะไม่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีปัญหามากนัก และควรรอดูการพิจารณาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป้าหมายที่ทางคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ให้มุมมองในรอบการประชุมเดือนกันยายนนี้ ว่าสมาชิกแต่ละท่านคิดเห็นอย่างไร จะขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องหรือจะสิ้นสุดรอบการขึ้นดอกเบี้ยในอีกไม่ช้า
 
แต่ที่แน่ๆ ในช่วงเดือนกันยายนนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ คงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเสี่ยงชะลอตัวต่อเนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อสยบปัญหาเงินเฟ้อ ความผันผวนของตลาดหุ้นน่าจะขึ้นอยู่กับตัวเลขการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ ยอดค้าปลีก และยอดขายอสังหาริมทรัพย์ และที่ควรมองคือ การดำเนินนโยบายการเงินและสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อปี 1979 มาก การใช้นโยบายการเงินแบบเดิมเพื่อหวังผลแบบเดิมในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอาจไม่ได้ผล “เสมือนกับการใช้ยาที่หมดอายุกับคนไข้ที่เป็นโรคใหม่” เราคงต้องจับตาว่า เฟดจะมีนวัตกรรมทางนโยบายการเงินเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อรอบนี้อย่างไร
 
เลี่ยงความผันผวนในสหรัฐฯ กับ 3 ธีมการลงทุน

เมื่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีความผันผวนและตลาดหุ้นในยุโรปยังมีความเสี่ยงจากปัญหาราคาพลังงาน โดยเฉพาะเมื่อความตึงเครียดกับรัสเซียยังมีต่อเนื่อง จึงมองว่าในเดือนกันยายนนี้ นักลงทุนน่าจะหาโอกาสลงทุนในตลาดที่มีความผันผวนต่ำหรือมีความเคลื่อนไหวแตกต่างกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ได้แก่
 
1. หุ้นกลุ่มสุขภาพ หรือ Healthcare

ผมมองว่าหุ้นกลุ่ม Healthcare เป็นกลุ่ม Defensive หรือมีความผันผวนต่ำ และไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากนัก อีกทั้งกลุ่มผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์น่าจะสามารถปรับราคาสินค้าตามต้นทุนที่สูงขึ้นได้ และมีรายได้จากการขายสินค้าจากทั่วโลก อย่างไรก็ดี อาจต้องระวังมาตรการในการลดราคายาในสหรัฐฯ เพื่อดึงให้ค่าครองชีพคนอเมริกันลดลง แต่มองว่าไม่น่าจะกระทบกับความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมากนัก นอกจากนี้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนกำลังเผชิญแนวโน้มสังคมสูงอายุที่มีความต้องการสินค้าและบริการด้านสุขภาพเป็นจำนวนมาก และการพัฒนาด้านนวัตกรรมของบริษัทยายังมีอย่างต่อเนื่อง
 
2. หุ้นกลุ่มพลังงานทางเลือก

เมื่อราคาพลังงานจากน้ำมันเพิ่มสูงต่อเนื่องและมีความเป็นไปได้ที่ทางยุโรปจะได้รับผลกระทบจากการจำกัดการส่งออกก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ทำให้ความต้องการพลังงานทางเลือกโดยเฉพาะพลังงานสะอาดน่าจะมีสูงขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างรวดเร็วน่าจะเร่งให้เกิดการลงทุนในด้านแบตเตอรี่และส่วนประกอบของรถยนต์ไฟฟ้าอื่น ๆ นอกจากนี้การลงทุนในพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม น้ำ และชีวมวลน่าจะยังมีสูงในฝั่งยุโรป สหรัฐฯ รวมทั้งในจีนและตลาดอื่น ๆ ซึ่งการลงทุนที่มีการกระจายตัวทั่วโลกเช่นนี้ น่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศใดประเทศหนึ่งได้อีกด้วย
 
3. กองทุนรวมหุ้นเอเชีย หลบความผันผวนจากซีกโลกตะวันตก

ตลาดหุ้นในเอเชีย แม้มีความเคลื่อนไหวที่ผันผวนตามตลาดโลกอยู่บ้าง แต่ไม่น่าจะรุนแรงเท่าในฝั่งตะวันตก เพราะปัญหาเศรษฐกิจในเอเชีย โดยเฉพาะเงินเฟ้อ ยังไม่รุนแรง และมีมาตรการทางการคลังมาคอยประคองไว้ได้ อีกทั้งมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการส่งออกและการเปิดเมืองรับกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศที่คึกคักมากขึ้น รวมทั้งการท่องเที่ยวที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
 
โดยตลาดในเอเชียที่น่าสนใจ ได้แก่ จีน เวียดนาม และไทย โดยจีนน่าจะได้ประโยชน์ชัดเจนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังผ่านการล็อกดาวน์ในช่วงก่อนหน้า ทั้งมาตรการทางการคลังในการกระตุ้นการใช้จ่ายและมาตรการทางการเงินในการลดอัตราดอกเบี้ย แม้จีนจะยังมีความเสี่ยงจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ล้นตลาดและมีหนี้สูง แต่น่าจะอยู่ในการแก้ไขของรัฐบาล และไม่ใช่บริษัทใหญ่ที่จะทำให้เกิดการลุกลามไปสู่ปัญหาของสถาบันการเงินจนกระทบเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่น ๆ
 
นอกจากกลุ่มการบริโภคแล้ว หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีนมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีต่อเนื่องและมีมูลค่าที่น่าสนใจ ในส่วนของเวียดนามที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งและได้ประโยชน์จากการลงทุนจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง น่าจะมีส่วนสำคัญทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนของเวียดนามเติบโตได้ต่อเนื่อง สำหรับตลาดหุ้นไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการเข้าซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องและโอกาสในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว อีกทั้งหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มพลังงานที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง
 
แม้ที่กล่าวมาอาจได้รับผลกระทบจากการเทขายเพื่อลดความเสี่ยงจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ด้วยศักยภาพการเติบโตและมุมมองเชิงบวกของกลุ่มอุตสาหกรรมและประเทศเหล่านี้ จึงมองว่านักลงทุนน่าหาจังหวะเข้าทยอยสะสมได้ในเดือนกันยายนนี้
 
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ก.ย. 2565 เวลา : 10:26:41
04-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 4, 2024, 7:57 am