การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ประกาศ กอนช. ฉบับที่ 45/2565 เรื่อง เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป


เนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โนรู” ในช่วงวันที่ ๒๘ - ๓๐ กันยายน ๒๕๖๕ ทำให้เกิดฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ และภาคกลาง ส่งผลให้มีน้ำท่าหลากลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสัก ปริมาณมากขึ้น กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ ๒,๖๐๐ - ๒,๗๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แล้วไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา โดยกรมชลประทานได้พิจารณารับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกเต็มศักยภาพคลองที่สามารถรองรับน้ำได้ ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรา ๒,๖๐๐ - ๒,๗๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ ๑ - ๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ ประกอบกับคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในช่วงวันที่ ๓๐ กันยายน - ๖ ตุลาคม ๒๕๖๕ ประมาณ ๘๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนมีแนวโน้ม เกินความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด จึงจำเป็นต้องทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ และจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ในอัตราไม่เกิน ๘๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่เสี่ยง ดังนี้


๑. แม่น้ำป่าสัก บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่เขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมประมาณ ๑.๒๐ - ๑.๕๐ เมตร และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ๐.๒๕ - ๐.๕๐ เมตร

๒. แม่น้ำเจ้าพระยา ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ ๐.๓๐ – ๐.๖๐ เมตร บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท อำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอป่าโมก และไชโย คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล อำเภอเสนา และผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ

 
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

๑. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ๒. เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

๓. ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบชลประทาน เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำเข้าคลองต่าง ๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพคลองชลประทานในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้

๔. ประชาสัมพันธ์ข้อมูล...

๔. ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ต.ค. 2565 เวลา : 22:26:22
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 7:20 pm