การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สธ. ปรับรูปแบบการให้บริการประชาชนในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม ยืนยันไม่กระทบการบริการ


รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย ขณะนี้ยังพบสถานการณ์น้ำท่วมใน 18 จังหวัด มีสถานบริการได้รับผลกระทบ 64 แห่ง ได้ปรับรูปแบบไม่ให้กระทบการบริการ อำนวยความสะดวกประชาชนให้เข้าถึงการดูแลรักษา เยียวยา ส่วนกลางเตรียมพร้อมสนับสนุนยาเวชภัณฑ์ลงพื้นที่ประสบภัย

 
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ กรณีสถานการณ์วาตภัย อุทกภัยและดินโคลนถล่ม กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ว่า ขณะนี้ยังมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 18 จังหวัด กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และให้เตรียมแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริการประชาชน ปัจจุบันมีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 64 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 1 แห่ง โรงพยาบาล 6 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 5 แห่ง รพ.สต. 52 แห่ง เปิดให้บริการได้ตามปกติ 47 แห่ง ที่เหลือมีการปรับรูปแบบการให้บริการ โดยเปิดให้บริการบางส่วน 15 แห่งและย้ายจุดบริการ 2 แห่ง

 
นอกจากนี้ บางจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้บูรณาการความร่วมมือกับ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล รพ.สต. หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ออกให้บริการดูแลประชาชนเชิงรุก รวมถึงตั้งหน่วยบริการนอกสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนให้เข้าถึงการรักษา รวมทั้งให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับโรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลโดยรอบ จัดหน่วยแพทย์ให้บริการประชาชนผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 6 จุด ได้แก่ เชิงสะพานภาค 5, ศูนย์วัณโรคเขต 10 เชียงใหม่, โรงเรียนเทศบาลวัดท่าสะต๋อย, เชิงสะพานหนองหอย, และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ (รพ.แม่และเด็ก) ให้บริการตรวจโรคเบื้องต้น จ่ายยา ประสานงานส่งต่อผู้ป่วยหนักที่ไม่สามารถเดินทางได้เอง และดูแลให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจ เฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต ประเมินระดับความเครียด รวมถึงมีสายด่วนให้คำปรึกษาช่วยเหลือผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

 
จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองอุบลราชธานี และรพ.สต. ทุกแห่ง จัดชุดปฏิบัติงานสำรวจภาวะสุขภาพผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เยี่ยมและประเมินภาวะสุขภาพ เพื่อวางแผนให้การช่วยเหลือ และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราว จำนวน 6 ศูนย์ ด้านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มี รพ.สต.ได้รับผลกระทบ 20 แห่ง ใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าเรือ 1 แห่ง อ.บางไทร 6 แห่ง อ.บางปะอิน 4 แห่ง อ.เสนา 1 แห่ง ยังสามารถเปิดบริการได้เป็นปกติ ส่วน อ.บางบาล มี รพ.สต.ได้รับผลกระทบ 8 แห่ง เปิดให้บริการปกติ 5 แห่ง และย้ายจุดให้บริการ 3 แห่ง นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอยังจัดเจ้าหน้าที่ “ปักธง ห่วงใยกลุ่มเปราะบาง” โดยออกเยี่ยมกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแล 219 หลังคาเรือน เป็นผู้ป่วยติดเตียง 103 หลังคาเรือน ผู้พิการ 54 หลังคาเรือน และผู้สูงอายุ 62 หลังคาเรือน พร้อมประเมินสุขภาพจิต เยียวยาจิตใจ จ่ายยาและส่งอาหารด้วย

 
ทั้งนี้ ได้ให้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตรียมสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ลงพื้นที่ใน 5 เขตสุขภาพ จำนวน 10,900 ชุด สำหรับแจกจ่ายให้กับประชาชน หรือต้องการการสนับสนับสนุนเพิ่มเติมสามารถแจ้งผ่านผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข หรือกองสาธารณสุขฉุกเฉินได้ทันที ส่วนจังหวัดอื่นๆ ขอให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จัดหาสถานที่สำรองหรือจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อจัดบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชนได้ต่อเนื่อง และใช้แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยยึดหลักป้องกัน ยกสูง เคลื่อนย้าย จัดเตรียมทรัพยากรที่จำเป็นให้เพียงพอ เพื่อให้ไม่กระทบต่อการให้บริการประชาชน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ต.ค. 2565 เวลา : 18:55:08
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 9:26 pm