เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "ไตรมาส 3/2565 เศรษฐกิจจีนโต 3.9% โดย 9 เดือนแรกขยายตัวที่ 3.0%"


 
แนวทางการดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์จะยังกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2565 จนถึงปีหน้า ขณะที่จีนเริ่มเผชิญข้อจำกัดด้านการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลังที่เพิ่มมากขึ้น

เศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 3/2565 ขยายตัวดีกว่าคาดที่ 3.9% แต่ทิศทางการฟื้นตัวยังเปราะบาง

เศรษฐกิจจีนเติบโตดีกว่าคาดการณ์ที่ 3.9%YoY และปรับดีขึ้นกว่าในไตรมาส 2/2565 ที่ 0.4% YoY โดยเศรษฐกิจจีนใน 9 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวอยู่ที่ 3.0% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ทำให้ภาคการผลิตเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ ที่มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านหยวนยังเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ
 
 
แม้ในไตรมาส 3/2565 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ดีกว่าคาดการณ์ แต่การฟื้นตัวยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อุปสงค์ในประเทศยังเผชิญแรงกดดันสำคัญอย่างนโยบายโควิดเป็นศูนย์ อีกทั้งปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 นี้ได้รับแรงหนุนจากภาคการผลิตและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร แม้ว่าจีนยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงสำคัญในเรื่องของนโยบายโควิดเป็นศูนย์ โดยยังมีการล็อกดาวน์เมืองเฉิงตู รวมถึงเซิ่นเจิ้นที่เป็นเมืองศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของจีน รวมถึงมีข้อจำกัดด้านต่าง ๆ เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 ในเมืองอื่น ๆ เช่น กวางโจ่ว เป็นต้น แต่ผลกระทบต่อภาคการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในไตรมาส 2/2565 โดยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6.3% YoY (ในช่วงเดือนเม.ย.65 หดตัวลงที่ 2.9%)  นอกจากนี้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวดีกว่าคาดการณ์อยู่ที่ 5.9% อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังเปราะบาง ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเผชิญความท้าทายหลากหลายด้าน สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ยังมีการปิดเมืองทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักและยังไม่สามารถดำเนินต่อเนื่องได้ในหลายเมืองยังคงกดดันความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 87.0 (เดือนส.ค.65) ซึ่งยังใกล้เคียงระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์สอดคล้องไปกับตัวเลขยอดค้าปลีกที่เติบโตน้อยกว่าคาดการณ์ที่ 2.5% ในเดือนก.ย.65 รวมถึงตัวเลขการจ้างงานในเดือนก.ย.65 ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 5.5% บ่งชี้ว่าอุปสงค์ในประเทศจีนยังเผชิญแรงกดดันจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์  ด้านปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงไม่สามารถคลี่คลายได้ แม้ไตรมาสที่ผ่านมจะเห็นทางการออกมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การปรับลด LPR 5 ปี (อัตราดอกเบี้ยเพื่อการกู้จำนอง) ลงอยู่ที่ 4.3% แต่ผลจากมาตรการต่าง ๆ ยังคงมีจำกัดและยังคงไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนจากราคาบ้านใหม่ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ผ่านมา โดยเดือนก.ย. 65 ลดลงอยู่ที่ 1.5%

ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจจีนยังเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ขณะที่นโยบายการเงินและการคลังเริ่มเผชิญข้อจำกัดในการผ่อนคลาย 

นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนที่ยังต่อเนื่องไปยังปีหน้าจะยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจของจีนในระยะข้างหน้า  หลังการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 16 -22 ต.ค.65 เสร็จสิ้นลง ทิศทางเกี่ยวกับการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนที่หลายฝ่ายจับตามองยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอย่างน้อยจนถึงปี 2566 สะท้อนจากถ้อยแถลงของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังคงยืนหยัดในนโยบายโควิดเป็นศูนย์ รวมถึง “นาย หลี่ เฉี่ยง” ผู้ที่จะมาแทนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในปี 2566 เดิมเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครเซี่ยงไฮ้ที่มีการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ในขณะที่อาจเห็นการผ่อนคลายในส่วนของรายละเอียดของมาตรการมากขึ้น เช่น อาจจะมีการลดจำนวนวันกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจีนจาก 10 เป็น 7 วัน แต่คาดว่าจะยังไม่มีการเปิดประเทศ การผ่อนปรนด้านมาตรการสำคัญหรือการใช้ชีวิตร่วมกับโควิดเหมือนกับประเทศอื่น ๆ จนกว่าจะมีความคืบหน้าเรื่องการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ รวมถึงการเข้าถึงยารักษาในราคาที่เหมาะสมเพียงพอ (ล่าสุดมีการล็อกดาวน์พื้นที่บางส่วนของเมืองซีอาน) ดังนั้น นโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่ยังดำเนินอยู่จะยังเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะชะงักชะงันหรือจีนอาจประกาศล็อกดาวน์ในเมืองที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อได้ตลอดเวลา 

 
สถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัว จีนเผชิญปัญหาการผิดนัดชำระหนี้มาตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2564 และขยายผลมาสู่ประเด็นความเชื่อมั่นต่อภาคอสังหาริมทรัพย์จนนำมาสู่การหยุดชำระค่างวดผ่อนบ้าน ในขณะที่ทางการได้มีมาตรการทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงให้วงเงินกู้พิเศษแก่กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ยังมอบให้รัฐบาลแต่ละท้องถิ่นช่วยแก้ปัญหา เช่น นโยบายการปล่อยสินเชื่อแบบพิเศษสำหรับบ้านหลังแรก แต่สถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยังไม่ฟื้น โดยดัชนีราคาบ้าน และความต้องการบ้านยังลดต่ำลงต่อเนื่อง สะท้อนว่ามาตรการต่าง ๆ ของทางการที่ออกมาอาจจะยังไม่แก้ไขที่ต้นตอของปัญหา ทั้งนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของ GDP จีน  การชะลอตัวลงของภาคอสังหาริมทรัพย์จึงจะยังเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน
อุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง เมื่อความเชื่อมั่นในประเทศจีนเองยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มที่ ความต้องการสินค้าจึงยังเผชิญแรงกดดันจากการเปิด-ปิดเมืองที่ยังไม่แน่นอน ขณะที่ปัจจุบันความต้องการสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยในสหรัฐฯ และยุโรปเผชิญภาวะถดถอยทางเทคนิคไปจนถึงปี 2566 ภาคการส่งออกจีน จึงมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปี 2565 ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า 
 
 
ปัจจัยที่จะเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปีอย่างการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลังเริ่มเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น ในส่วนของนโยบายการเงินของจีน หากพิจารณาในส่วนของเงินเฟ้อปัจจุบันที่ยังคงอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายของทางการที่ 3 % ทำให้จีนยังมีโอกาสที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม แต่จะเห็นว่าในการประกาศอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. และต.ค.65 จีนมีการคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปีและ 5 ปี ไว้ตามเดิมที่ 3.65% และ 4.3% เนื่องจากความต่างของนโยบายการเงินของจีนและสหรัฐฯ เริ่มมากขึ้น หลังสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้ค่าเงินหยวนของจีนที่เดิมมีแนวโน้มอ่อนค่าจากเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแออยู่แล้วเผชิญแรงกดดันมากขึ้น ล่าสุด USDCNY อยู่ที่ 7.24 ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดตั้งแต่ปี 2551 ขณะที่นโยบายการคลังได้เผชิญกับการใช้จ่ายในส่วนของการจัดการกับโควิด-19 ไปจำนวนมาก นอกจากนี้รายได้ภาครัฐยังได้รับแรงกดดันจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับลดลงตั้งแต่ต้นปี 2565 โดยลดลงไปถึง 28.7%  (การจัดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง – Deed Tax) รวมถึงนโยบายการปรับลดภาษีรถยนต์ เป็นต้น โดย 8 เดือนแรกของปีรัฐบาลจีนขาดดุลไปทั้งหมด (Augmented Fiscal Balance) กว่า 6 ล้านล้านหยวน เทียบกับ 1.1 ล้านหยวนเมื่อปี 2564 และ 4.4 ล้านหยวนในปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ครั้งแรก ดังนั้นการจะใช้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2565 และปีหน้า หรือการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมจีนอาจต้องพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งในประเด็นเรื่องของเงินเฟ้อ และความแตกต่างทางนโยบายการเงินของจีนและสหรัฐฯ ที่จะสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อการอ่อนค่าของเงินหยวนในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น หากมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในระยะข้าง หน้า ทางการอาจจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อพยุงของอุปสงค์ในประเทศที่เป็นผลกระทบจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์

เศรษฐกิจจีนในปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตที่ 3.4% คาดว่าโอกาสที่จีนจะกลับไปเติบโตในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ยังมีจำกัด 

ในระยะข้างหน้าเราคาดว่าอาจจะเริ่มเห็นตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวมากขึ้น โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2565 ขณะที่สถานการณ์การควบคุมโควิด-19 ที่อาจมีความยืดหยุ่นขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาจำนวนเที่ยวบินต่างชาติของจีนเริ่มปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่จีนยังยึดหลักการโควิดเป็นศูนย์เป็นหลักสำคัญ และภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ เช่น ปัญหาด้านความเชื่อมั่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะยังคงมีแนวโน้มเปราะบาง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2565 จะเติบโตที่ 3.4% 

กล่าวโดยสรุปเศรษฐกิจจีนในปี 2565 คาดขยายตัวอยู่ ที่ 3.4% ยังมีปัจจัยท้าทายสำคัญคือนโยบายโควิดเป็นศูนย์ทีจะยังฉุดรั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ และสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่คลี่คลาย 
 
 
 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 ต.ค. 2565 เวลา : 10:57:16
08-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 8, 2024, 1:49 am