เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop : อวสานผู้ค้าคนกลางชาวไทย? เมื่อผู้ผลิตจีนหันมาเดินเกมรุก ตีตลาดไทยแบบฉายเดี่ยว


 

 

 

ทุกวันนี้ การช้อปปิ้งแบบอีคอมเมิร์ซ หรือ การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ นั้น ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยตลาดนี้มีการเติบโตขึ้นทุกปี ยิ่งเฉพาะในช่วงการเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด ก็ยิ่งทำให้เกิดการ Adoption เลือกซื้อสินค้าต่างๆ ผ่านทางโลกออนไลน์มากเท่าทวีคูณ เห็นได้จากยอดขายสินค้าออนไลน์ทั่วโลกในปี 2563 เติบโต 26% หรือมีมูลค่ากว่า 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนด้านไทยเอง ในปีที่โควิด-19 ระบาดดังกล่าว ก็ดันมูลค่าตลาดสินค้าออนไลน์ไปอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท หรือเติบโตกว่า 80% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วเลยทีเดียว ผิดกับการขายหน้าร้านที่ติดลบกว่า 10% เนื่องจากมาตรการ Lock down จากทางรัฐ ทำให้ทั้งโรงเรียน ที่ทำงาน ร้านค้าและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ต้องหยุดทำการ และความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส ก็ทำให้ผู้คนกลัวที่จะออกไปใช้ชีวิตข้างนอก จนมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว


โดยชนิดสินค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในไทยนั้น ส่วนมากจะเป็นสินค้าที่มาจากประเทศจีน เพราะมีราคาถูก และมีความ Variety ของชนิดสินค้ามาก จะสังเกตได้ว่ามักจะพบเจอสินค้าที่มีความแปลกใหม่จากจีนอย่างที่หาไม่ได้จากประเทศอื่น ส่วนด้านพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เอง ส่วนใหญ่ก็นำเข้าสินค้าจากจีนมาขายเช่นกัน ซึ่งเป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมากมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ของการขายของแบบออนไลน์แล้ว เพราะไม่ว่าจะอยากขายสินค้าชนิดใด ก็จะมีโรงงานผู้ผลิตจากทางจีนเป็น Supply ซึ่งด้วยแรงงานและของที่มีราคาถูก ผู้ค้าชาวไทยจึงสามารถสั่งซื้อได้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าการสั่งผลิตเองในประเทศ จากนั้นก็นำมา Markup ขึ้นราคาเอากำไรเมื่อนำมาตั้งขายในร้านของตน ทั้งรูปแบบของการวางขายแบบปกติ หรือการเอาสินค้าจากจีนเหล่านั้นมาทำเป็นแบรนด์ของตัวเอง ที่มาของสินค้าเหล่านั้นในตลาดออนไลน์ ก็ออกมาจากโรงงานของจีนทั้งสิ้น

แต่ในตอนนี้สิ่งที่กำลังเข้ามา Disrupt รูปแบบการทำธุรกิจนำเข้าดังกล่าวคือ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ชาวไทยกำลังถูกไล่ต้อนจากผู้ผลิตชาวจีน เนื่องจากผู้ผลิตชาวจีนกลายมาเป็นคู่แข่งทางการค้าที่มีแต้มต่อสูงกว่าสถานะการเป็นพ่อค้าแม่ค้าคนกลางชาวไทยที่รับของเขาเข้ามาขาย ทั้งระยะเวลาการจัดส่งสินค้า ที่แต่ก่อนเป็นข้อได้เปรียบของผู้ค้าชาวไทย ในตอนนี้นายทุนจากจีนเดิมเกมรุกทัน เข้ามาเช่าโกดังเพื่อสต๊อกของในไทย และทำการจัดส่งออกจากโกดังให้กับลูกค้าชาวไทยได้โดยตรง เมื่อตัดผู้ค้าคนกลางออกไปได้ ก็ทำให้ผู้ผลิตจากจีนขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่า ส่วนหน้าร้านก็ไม่เป็นปัญหา ด้วยความที่เป็นโลกออนไลน์ คนจีนก็เข้ามาเปิดหน้าร้านของตัวเองในแพลตฟอร์ม E-Commerce ของไทย ทั้งแพลตฟอร์ม Shopee Lazada และอื่นๆ โดยส่วนมากจะนิยมการจ้างพนักงานคนไทยเข้ามาเป็นแอดมินร้านในการพูดคุยกับลูกค้า หรือเป็นคนจีนที่พูดภาษาไทยได้ จึงเห็นได้ว่ากำแพงทางภาษาก็ไม่ใช่อุปสรรค ที่จะเป็นข้อด้อยของผู้ค้าจากจีนอีกต่อไป

นอกจากนี้ เบื้องหลังที่ผลักดันให้ผู้ผลิตจีนนั้นกลายมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว ที่กำลังเข้ามาสั่นคลอนรายได้และกำไรของผู้ประกอบการชาวไทย ส่วนหนึ่งนั้นมาจากการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทยและจีน ที่หากเจ้าของร้านเป็นบุคคลชาวจีน สั่งสินค้าเข้าจากจีนเข้ามาขายในไทย ตามกฎหมายกำหนด หากสินค้าที่นำเข้ามีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท จะได้รับการยกเว้นไม่เสียภาษี และผู้ค้าชาวจีนที่ถือเป็นผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ไม่ต้องจ่ายค่า VAT นั่นเอง

ส่วนโครงการ EEC (Eastern Economic Corridor) หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่นอกจากจะช่วยผลักดันสินค้าไทยส่งออกไปยังจีนแล้ว กลับกันก็เป็นพื้นที่ปลอดภาษีอากรที่คนจีนสามารถเข้ามาขายสินค้าด้วยราคาที่ถูกได้เช่นกัน และจากที่เครืออาลีบาบา (Alibaba) จากจีน เข้ามาลงทุนในเขตปลอดภาษีอีคอมเมิร์ซในพื้นที่ EEC ดังกล่าว ก็ทำให้พื้นที่กว่า 232 ไร่ ที่ลงทุนไปนั้นกลายมาเป็นศูนย์กระจายสินค้าของจีน ที่มีบริการสินค้าขนส่งไปยังทั่วประเทศ ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ ทางการของจีนเอง ก็สนับสนุนผู้ประกอบการชาวจีน ด้วยการให้เงินสนับสนุนค่าขนส่งส่วนหนึ่งให้ผู้ส่งออกชาวจีนอีกด้วย

เรียกได้ว่าผู้ประกอบการชาวจีนที่จะนำเข้าสินค้ามาขายในประเทศไทยนั้น ได้รับการสนับสนุนจากทุกช่องทาง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ผลิตจากทางจีนเองไม่ได้แคร์พ่อค้าแม่ค้าคนกลางอีกต่อไป เพราะสามารถเข้าถึงลูกค้าชาวไทยได้โดยตรง และเสนอราคาขายที่ถูกกว่า ส่วนคนไทยเองหากนำเข้าสินค้ามาขายต้องเสียทั้งภาษีอากรหรือภาษีศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ถ้ามีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีมีหน้าที่ต้องจด VAT และเสีย 7% จากยอดขาย และยังต้องเสียภาษีเงินได้ Top Up เข้าไปอีก จึงไม่แปลกที่หากแข่งขันกันในด้านของราคา ผู้ประกอบการชาวจีนจะสามารถเอาชนะพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยได้อย่างไม่เห็นฝุ่น

จากทั้งหมดที่กล่าวมา เราได้เห็นแล้วว่ารูปแบบการทำธุรกิจที่นำเข้าสินค้าจากจีนเข้ามา แล้วมา Markup ขึ้นราคาเพื่อขายเอากำไรในไทยนั้น ตอนนี้ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะผู้ประกอบการชาวจีนนั้นได้ลงมาเล่นในตลาดไทยด้วยกลยุทธ์ของสงครามราคา ในเมื่อคนไทยไม่สามารถแข่งขันในด้านของราคาได้อีกต่อไป ก็อาจจะต้องตามหาคุณค่าและความสามารถแบบอื่นเข้ามาต่อกร เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว มันก็เป็นการจำยอมกลายๆ ว่าเราได้เดินทางมาถึงตอนอวสาน ของอาชีพผู้ค้าคนกลางที่รับของจากจีนมาขายแล้วก็เป็นได้

LastUpdate 06/11/2565 12:33:27 โดย : Admin
28-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 28, 2024, 12:44 am