เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ "ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ต.ค.65 ยังทรงตัวต่อเนื่อง แต่น้ำท่วมสร้างความกังวลค่าใช้จ่าย รายได้และการจ้างงาน"


 

 
ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนต.ค.65 ยังคงทรงตัวต่อเนื่องทั้งนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ยังคงสร้างความกังวลให้ครัวเรือนเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย รายได้และการจ้างงาน รวมถึงเงินออมในระยะข้างหน้า 

ในเดือนต.ค.65 แม้ดัชนีเงินเฟ้อได้ปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอลง แต่ความกังวลของครัวเรือนเกี่ยวกับระดับราคาสินค้ายังคงอยู่ ประกอบกับผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ขยายวงกว้างจากเดือนก่อนสร้างความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์รายได้และการจ้างงาน ส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ทรงตัวอยู่ที่ 33.8 อย่างไรก็ดี ดัชนีKR-ECI ใน 3 เดือนข้างหน้าปรับดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 35.7 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการจ้างงาน หลังภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 
 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมต่อเนื่องจากในเดือนก.ย.65 พบว่า มีครัวเรือนร้อยละ 64.3 ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมมากกว่า 5,000 บาท เพิ่มขึ้นจากการสำรวจในเดือนก.ย. ที่ร้อยละ 19.2 ทั้งนี้ ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร นอกจากนี้ ครัวเรือน 43% ประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นสูงกว่ารายได้ต่อเดือน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการออมและภาระหนี้
 
 
ในระยะข้างหน้าการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยงสำคัญ โดยแม้ภาครัฐได้มีการออกมาตรการเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของครัวเรือน เช่น การตรึงค่าไฟ เป็นต้น แต่ราคาพลังงานที่ยังคงมีความผันผวนอาจส่งผลต่อขีดจำกัดของมาตรการอุดหนุนภาครัฐในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ผลกระทบที่ครัวเรือนได้รับจากสถานการณ์น้ำท่วมอาจกระทบต่อค่าใช้จ่าย รายได้และการจ้างงาน รวมถึงเงินออมในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปีซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยก็อาจช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนได้ ทั้งนี้ คงต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ เช่น มาตรการลดหย่อนทางภาษี มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและท่องเที่ยว เป็นต้น 

ดัชนี KR-ECI เดือนต.ค.65 ทรงตัวต่อเนื่อง ครัวเรือนยังคงกังวลต่อระดับราคาสินค้า ขณะที่ผลกระทบน้ำท่วมสร้างความกังวลในค่าใช้จ่าย รายได้และการจ้างงาน 
 
ในเดือนต.ค. 65 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบันทรงตัวต่อเนื่องอยู่ที่ 33.8 จาก 33.9 ในเดือนก.ย.65 โดยครัวเรือนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับระดับราคาสินค้า แม้ดัชนีเงินเฟ้อเดือนต.ค. ได้แผ่วลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ 5.98% โดยราคาสินค้าในหมวดหมู่ผลไม้และผักสดยังคงปรับตัวสูง จากสถานการณ์น้ำท่วมขังในช่วงที่ผ่านมาที่ได้ทำลายพื้นที่ทางการเกษตรส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรลดลง โดยเดือนก.ย. 65 ดัชนีผลผลิตทางการเกษตรลดลงที่ระดับ -0.62%YoY เช่น หอมแดง ไข่ไก่ เป็นต้น ขณะที่ระดับสินค้าในหมวดหมู่พลังงานได้ปรับเพิ่มขึ้นแต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลยังถูกตรึงอยู่ที่ 35 บาทต่อลิตร 5 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้การจ้างงานเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ได้สร้างความเสียหายให้แก่ที่อยู่อาศัยและที่ทำกินทางการเกษตรของครัวเรือน อีกทั้ง มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐอย่างโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ได้สิ้นสุดลงเมื่อ 31 ต.ค. 65 โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 24 ล้านคน และมีมูลค่าการใช้จ่ายภายใต้โครงการกว่า 37 ล้านบาท  
 
 
ขณะที่ดัชนี KR-ECI ใน 3 เดือนข้างหน้าปรับดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 35.7 จาก 35.2 ในเดือนก.ย.65 เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เริ่มคลี่คลายและการออกมาตรการบรรเทาความเสียหายจากภาครัฐ เช่น มาตรการพักชำระหนี้ มาตรการลดหย่อนภาษี เป็นต้น รวมถึงมีการตรึงราคาพลังงาน เช่น ค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของครัวเรือน นอกจากนี้ครัวเรือนได้มีความคาดหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี อีกทั้ง ในช่วงปลายปีซึ่งถือได้ว่าเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ภาคท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าในปี 65 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังไทยราว 10 ล้านคน (ณ เดือนต.ค.65 มีจำนวน 7.3 ล้านคน) อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้าครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับเงินออมซึ่งคาดว่าอาจมาจากผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นมากกว่ารายได้ต่อเดือนของครัวเรือนจึงอาจต้องมีการนำเงินออมออกมาใช้มากขึ้น 
 

 
 
 
 
 
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อให้เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความรู้สึกของครัวเรือนที่มีต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยค่าดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 หมายถึง ครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่า ภาวะการครองชีพ “ดีขึ้น” ในทางตรงกันข้าม ค่าดัชนีต่ำกว่าระดับ 50  หมายถึงภาวะการครองชีพ “แย่ลง”หมายเหตุ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทยขยายขอบเขตการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไปยังส่วนภูมิภาค (ต่างจังหวัด) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 เป็นต้นไป
 
 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น โดยครัวเรือน 19.6% ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว อาทิ การซ่อมแซมบ้านเรือน บำรุงรักษาพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหาย นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่าครัวเรือนได้ประมาณการค่าใช้จ่ายจากผลกระทบที่เกิดขึ้นมีมูลค่าเกินกว่า 5,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 64.3% จาก 19.2% ที่ได้มีการสำรวจในเดือนก่อนหน้า โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาทต่อครัวเรือน และครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ (38.3%) มีการประกอบอาชีพทางการเกษตร 

 
นอกจากนี้ เมื่อสอบถามเพิ่มเติมถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมต่อฝั่งรายได้พบว่ามีครัวเรือน 20.3% ที่รายได้ถูกกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม โดย 39% คาดการณ์ว่าอยู่ระหว่าง 10,001-50,000 บาท นอกจากนี้ พบว่า 43% ของครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบต่อรายได้ดังกล่าว มีการประเมินผลกระทบที่สูงกว่ารายได้ต่อเดือน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการออมและภาระหนี้ของครัวเรือนได้ในระยะต่อไป

 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินจากผลสำรวจดังกล่าว โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมต่อภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 6.4 พันล้านบาท (ไม่รวมภาคอุตสาหกรรม) แบ่งเป็นครัวเรือนเกษตร 4.7 พันล้านบาท (73%) และครัวเรือนทั่วไป 1.7 พันล้านบาท (27%) จากก่อนหน้าที่ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 2.3 พันล้านบาท (ไม่รวมภาคอุตสาหกรรม) เนื่องจากในเดือนต.ค. 65 ที่ผ่านมามีสถานการณ์ฝนตกหนักและน้ำท่วมขังอย่างรุนแรง ทำให้พื้นที่ได้รับผลกระทบขยายวงกว้าง ส่งผลให้จำนวนครัวเรือนที่ได้รับความเสียหายเพิ่มมากขึ้น
 
 
ในช่วงที่เหลือของปี 65 ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนจะได้รับปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นช่วยหนุนจากการจ้างงาน รวมถึงมาตรการภาครัฐทั้งส่วนที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ เช่น การตรึงค่าไฟฟ้า การลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย อย่างไรก็ตามยังคงเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เช่น ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ในเดือนพ.ย.65 คาดปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.25%) อาจเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนจากการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านเงินกู้ที่อาจมีแนวโน้มยืดหยุ่นต่อกลุ่มลูกค้ารายย่อยน้อยลง นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามการทยอยส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตมาสู่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ผลกระทบที่ครัวเรือนได้รับจากสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งอาจกระทบต่อค่าใช้จ่าย รายได้และการจ้างงาน รวมถึงเงินออมในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ คงต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ เช่น มาตรการลดหย่อนทางภาษี มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและท่องเที่ยว เป็นต้น 

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปัจจุบัน (ต.ค.65) ยังคงทรงตัวอยู่ที่ 33.8 จาก 33.9 ในเดือนก.ย.65 โดยครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับระดับราคาสินค้า ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่สร้างความกังวลให้ครัวเรือน ขณะที่มุมมองใน 3 เดือนหน้าปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เริ่มคลี่คลายลงประกอบกับการหนุนของภาคท่องเที่ยว

          


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 พ.ย. 2565 เวลา : 06:00:01
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 2:49 pm