เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Scoop : "อีลอน มัสก์" รับศึกหนัก ครองทวิตเตอร์ ช่วงเสี่ยงล้มละลาย ท่ามกลางความไม่ไว้วางใจจากสายตาทุกคู่


 

 

จากดีลธุรกิจสื่อโซเชียลมีเดียที่ทั้งโลกจับตามอง ในที่สุดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมา "อีลอน มัสก์" มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท SpaceX และ Tesla อันทรงอิทธิพล ก็ได้ปิดดีลเข้าซื้อทวิตเตอร์ได้สำเร็จ ด้วยมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท

หากแต่นักวิเคราะห์หลายคนเกิดการท้วงติงว่า มูลค่าของทวิตเตอร์นั้นสูงเกินไป เนื่องด้วยมูลค่าหุ้นเทคโนโลยีจำนวนมากที่ลดลง และภาระหนี้สินที่เป็นปัญหาใหญ่ของบริษัท ประกอบกับความเคลือบแคลงใจว่าต่อจากนี้จะพาทวิตเตอร์ไปทิศทางไหน และการมีอำนาจสื่อในมือของ อีลอน มัสก์ จะสร้างปัญหาด้านความมั่นคงให้กับประเทศหรือไม่

ทวิตเตอร์ในตอนนี้กำลังแบกรับหนี้สินมหาศาล ซึ่งตัวของอีลอน มัสก์ เอง หลังจากเป็นเจ้าของทวิตเตอร์เรียบร้อยก็ได้ออกมาประกาศว่า ในตอนนี้ทวิตเตอร์อาจเสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย เพราะทวิตเตอร์ประสบกับปัญหาที่ไม่มีกระแสเงินสดมาหมุนเวียนมากพอ โดยบริษัทสูญเสียเม็ดเงินกว่า 4 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 144 ล้านบาทต่อวัน มียอดหนี้สินสะสมกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 470,000 ล้านบาท อีกทั้งยังต้องเสียดอกเบี้ยรวม 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 43,200 ล้านบาทในอีก 12 เดือนข้างหน้า

โดยที่ตัว อีลอน มัสก์ ถึงกับชี้แจงว่า ตนนั้นถึงกับจำเป็นต้องขายหุ้น Tesla เกือบ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 144,000 ล้านบาท เพื่อเอามาพยุงบริษัททวิตเตอร์ไว้ ด้วยเหตุนี้เอง อีลอน มัสก์ จึงได้ประกาศกับพนักงาน โดยส่งอีเมลอย่างเป็นทางการฉบับแรกให้ยกเลิกนโยบาย Work from Home ทุกคนต้องกลับมาทำงานที่สำนักงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อรับมือกับปัญหาของบริษัท โดยบอกกล่าวพนักงานว่าต้องทำงานหนักมากขึ้น หารายได้เข้าบริษัทเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตนเองนั้นก็ยังกล่าวว่า พนักงานในทวิตเตอร์นั้นมีจำนวนมากเกินไป แม้จะเพิ่งเลิกจ้างงานไป 7,500 ตำแหน่ง หรือกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทเมื่อช่วงสัปดาห์แรกหลังจากเป็นเจ้าของทวิตเตอร์อย่างเต็มตัว จึงมีโอกาสสูงที่อีลอน มัสก์ จะปลดพนักงานออกเพิ่มเติมอีกในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้ทวิตเตอร์กำลังสูญเสียลูกค้า ที่ต่างทยอยถอนโฆษณาออกจากแพลตฟอร์ม หลังจากที่ อีลอน มัสก์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของ เนื่องด้วยความไม่ไว้วางใจนโยบายในอนาคตของเขา เช่นเดียวกับการสูญเสียผู้ใช้งานกว่า 1,300,000 คน ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยในยอดดังกล่าว มีผู้ใช้ประมาณ 877,000 บัญชี ที่เลิกใช้งาน และอีก 497,000 บัญชีโดนระงับเนื่องจากการละเมิดกฎของชุมชนทวิตเตอร์ และอื่นๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความเคลื่อนไหวที่มีนัยยะสำคัญอย่างมากหลังจากที่อีลอน มัสก์ เข้าซื้อบริษัทได้เพียง 2 สัปดาห์ เพราะมีหลายๆ คนที่รู้สึกเป็นกังวลว่า ทวิตเตอร์ที่นำทัพโดยเศรษฐีผู้มีชื่อเสียงระดับโลกทั้งดีและไม่ดีคนนี้ จะพาแพลตฟอร์มดังกล่าวไปยังจุดไหน เนื่องด้วยทวิตเตอร์เป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานทั่วโลก มันสามารถเป็นดาบสองคม ที่อาจเป็นแหล่งบ่มเพาะสังคมที่ไม่ดี หรือสังคมที่สร้างความเกลียดชังได้ ยกตัวอย่าง Gigi Hadid นางแบบชื่อดังชาวอเมริกัน ได้ปิดบัญชีทวิตเตอร์ของตนเอง โดยให้เหตุผลว่า “ทวิตเตอร์กลายเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของอคติและความเกลียดชังมานานแล้ว โดยเฉพาะภายใต้การดูแลครั้งใหม่นี้ ที่ฉันไม่อยากมีส่วนร่วมบนพื้นที่นี้อีกแล้ว ฉันรู้สึกเสียใจกับแฟนคลับที่ฉันพูดคุยกันมานานกว่า 10 ปี แต่ว่าฉันไม่อาจพูดได้ว่ามันเป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกคน” อีกทั้งผู้บริหารระดับสูงหลายคนของทวิตเตอร์ก็ได้ลาออกพร้อมกันในวันเดียว ทั้งผู้อำนวยการฝ่ายความปลอดภัย ผู้พัฒนาทวิตเตอร์สเปซ และผู้บริหารระดับสูงด้านกฎหมายและนโยบายของบริษัท การลาออกที่น่าตกใจนี้ ทำให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ หรือ SEC ออกแถลงการณ์ด้วยความกังวลว่า การลาออกของผู้บริหารระดับสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงว่า ทวิตเตอร์อาจมีการฝ่าฝืนระเบียบของ SEC ได้


 
 
ไม่เพียงแค่นั้น การถือครองทวิตเตอร์โดยอีลอน มัสก์ ก็เกิดประเด็นความกังวลในด้านความมั่นคงของสหรัฐอีกด้วย แม้ทางทำเนียบขาวได้ชี้แจงว่ายังไม่มีแผนการที่จะจับตามอง อีลอน มัสก์ แต่ก็มีข้อมูลว่ารัฐบาลสหรัฐในตอนนี้อาจกำลังแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคง เนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 ของทวิตเตอร์ คือ บริษัทโฮลดิ้ง แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย หรือ KHC (Kingdom Holding Company) และสำนักงานของเจ้าชายอัล วาลีด บิน ทาลาล อัล ซาอุด โดยเป็นผู้ถือครองหุ้นมูลค่า 1,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 71,706.60 ล้านบาท ที่สำคัญกองทุนความมั่นคั่งซาอุดีอาระเบีย มีเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงดำรงตำแหน่งประธาน และเป็นผู้ถือครองหุ้นรายใหญ่ที่สุดใน KHC อีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น อีลอน มัสก์ ก็เป็นนักธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน เนื่องด้วยจีนถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า Tesla และโรงงานประกอบรถยนต์ก็ตั้งอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งมีนักวิเคราะห์หลายคนแสดงความกังวลว่า การที่อีลอน มัสก์ มีความสำคัญกับทางการจีน จะทำให้นโยบายของการบริหารทวิตเตอร์นั้นเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเป็นคนกุมอำนาจสื่อ ซึ่งเสี่ยงต่อประเด็นการให้เผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อจากทางจีน เนื่องจากมีผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งข้อสนับสนุนจากในอดีต ที่ อีลอน มัสก์ เคยออกตัวสนับสนุนให้ไต้หวัน กลายเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน ซึ่งเป็นแนวคิดแบบ One China ที่ได้รับการยกย่องในประเทศจีน แต่ไม่ใช่กับทางสหรัฐ และทางไต้หวัน รวมถึงประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ดูเหมือนว่าถนนทุกสาย สายตาทุกคู่กำลังจับตาดูความเคลื่อนไหวของทวิตเตอร์ โดยการขับเคลื่อนของซีอีโอคนใหม่ผู้นี้อย่างไม่วางตากันเลยทีเดียว ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป จะเอาตัวรอดจากปัญหาด้านการเงิน และจะเรียกความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน ลูกค้าโฆษณา และรัฐบาลของสหรัฐได้อย่างไร ท่ามกลางความเคลือบแคลงใจที่มีอยู่อย่างมากใน ณ ขณะนี้

LastUpdate 13/11/2565 16:26:30 โดย :
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 9:05 am