เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : สหรัฐประกาศสงครามเทคกับจีนเต็มกำลัง กีดกันส่งออกชิป หวั่นกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก


 
สหรัฐอเมริกา และจีน ถือว่าเป็น 2 ประเทศมหาอำนาจของโลกที่มีความขัดแย้งกันมาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มระดับความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อช่วงชิงการเป็นที่ 1 หรือผู้ที่สามารถกำหนดระเบียบกระแสหลักของโลกให้ไปในทิศทางของประเทศตัวเองในเรื่องของความสัมพันธ์และการเมืองระหว่างประเทศ ฉะนั้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ เราเลยได้เห็นการกระทบกระทั่งกันระหว่างสหรัฐและจีน ตั้งแต่ในช่วงที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ได้มีการจัดทัพทำสงครามทางการค้าสหรัฐ-จีน อย่าง Trade War การตั้งกำแพงภาษีนำเข้าจากจีน สงครามทางเทคโนโลยี Tech War ที่สหรัฐตัดจีนออกจากห่วงโซ่เทคโนโลยีด้วยการจำกัดการค้าขายกับบริษัทชั้นนำของจีนอย่าง Huawei และ TikTok รวมถึง Capital War การทยอยกำจัดบริษัทสัญชาติจีนออกไปจากตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐในปัจจุบัน มีผลทำให้เศรษฐกิจของจีนเกิดการชะงักตัวลงไปจากความขัดแย้งนี้

ผนวกกับผลกระทบของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ที่นโยบาย Zero Covid ของรัฐบาล ทำให้โรงงานในจีนต่างย้ายหนีไปตั้งฐานการผลิตที่อื่น ยิ่งทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจของจีนให้ย่ำแย่กว่าเดิม ซึ่งในช่วงจังหวะเวลาที่จีนกำลังอ่อนแออยู่นี้เอง ล่าสุดสหรัฐได้เปิดศึกกับทางจีนซ้ำอีกรอบ ด้วยการกีดกันทางการค้าในอุตสาหกรรมไฮเทค ตัดจีนออกจากการเป็นลูกค้าหลักของเซมิคอนดักเตอร์ (หรือก็คือ ไม่ขายชิปคอมพิวเตอร์ให้กับจีน) อันเป็นการต่อต้านไม่ให้จีนได้เติบโตในอุตสาหกรรมไฮเทค เพื่อป้องกันไม่ให้จีนพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเอาไปใช้งานทางการทหาร จากการ เข้าซื้อกิจการของกองทัพ, หน่วยข่าวกรอง และหน่วยความมั่นคงของจีน ตามข้ออ้างที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

การที่สหรัฐกีดกันทางการค้าดังกล่าว นับว่าเป็นการประกาศสงครามกับจีนครั้งใหญ่ เพราะจีนเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลก และกำลังเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างเต็มกำลัง เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ทันสมัย และเป็นผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกภายในปี 2035 การคว่ำบาตรหยุดขายชิปให้กับจีนจึงเป็นประเด็นระดับโลก ที่จะสร้างผลกระทบทางลบไปทั่วโลกได้

ทำไมชิปคอมพิวเตอร์ถึงสำคัญขนาดนี้?

เซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิปคอมพิวเตอร์ ถือว่าเป็นสมองและเส้นประสาทของอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต Internet of Things นาฬิกา รถยนต์ ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ต่างๆในอุตสาหกรรมไฮเทค ล้วนจำเป็นต้องใช้ชิปทั้งหมด ถ้าเกิดการขาดแคลนชิปขึ้นมาในระบบอุตสาหกรรม ที่ความต้องการมากกว่าความสามารถในการผลิต ชิปก็จะราคาสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ก็จะมีราคาที่พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ไปจนถึงการขาดตลาด เพราะไม่มีชิปเพียงพอในสาย Supply Chain ซึ่งผลกระทบที่ตามมาก็คือ ความสามารถในการผลิต หรือ Productivity จะด้อยลง นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆจะค่อยๆล้าหลังลงไป เพราะไม่สามารถเกิดกระบวนการการทดลองนวัตกรรมแห่งอนาคตเหล่านั้น

โดยในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จะมีผู้ผลิตจากหลายประเทศ โดยผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกคือ บริษัท TSMC จากทางไต้หวัน รองลงมา ได้แก่ Samsung จาก เกาหลีใต้ นอกจากนี้ก็มีไต้หวันอีกหลายบริษัท สหรัฐ และจีนที่ติดอันดับ ซึ่งการจะผลิต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นหนึ่งได้ จะต้องอาศัยชิปหลายตัว ซึ่งชิปที่ผลิตในแต่ละบริษัทก็จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันไปตามความถนัดของบริษัทนั้นๆ ผู้ส่งออกชิปก็จำเป็นต้องนำเข้าชิปเข้ามาเช่นกัน การพึ่งพากันในลักษณะนี้ เมื่อเกิดการกีดกันทางการค้าต่อจีนขึ้นมา จึงส่งผลทำให้ Supply Chain ของอุตสาหกรรมดังกล่าวเกิดความปั่นป่วนอย่างมาก
 
 
นโยบายควบคุมการส่งออกชิปคอมพิวเตอร์ของสหรัฐที่นำทัพโดย “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบันนี้ มีคำสั่งไม่ให้บริษัทของสหรัฐ รวมถึงบริษัทต่างชาติที่ใช้เครื่องมือของทางสหรัฐ ส่งชิปไปให้ทางการจีนได้หากไม่ได้รับการอนุญาต โดยตอน นี้ หน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐ ได้เพิ่มบริษัทจีน 13 แห่ง ซึ่งรวมถึง Huawei และผู้ผลิตโดรน DJI ลงในรายชื่อของธุรกิจจีนที่มีความเกี่ยวข้องกับการทหาร

แต่การกีดกันทางการค้าครั้งนี้ ไม่เพียงแค่จีนจะได้รับผลกระทบอยู่ฝ่ายเดียวแต่เพียงเท่านั้น สหรัฐก็ได้รับผลกระทบสะท้อนกลับมาเช่นกัน เพราะจีนเป็นตลาดที่นำเข้าชิป กินสัดส่วน 1 ใน 4 ของโลก โดยนำเข้าชิปจากบริษัทชั้นนำของตลาด รวมถึง Intel ที่มียอดขายไปยังจีนถึง 10% และ 1 ในประเทศเสรีอย่างญี่ปุ่น ที่ตอนนี้ร่วมมือกับทางสหรัฐ ไม่ส่งชิปไปยังจีน ทั้งๆ ที่จีนคือคู่ค้าอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ก็ได้รับผลกระทบสะท้อนกลับมาเช่นกัน แต่ผลกระทบดังกล่าวยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะประเทศมหาอำนาจ อย่างจีน ก็คงไม่ยอมโดนกระทำฝ่ายเดียว หากพิจารณาเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ที่แล้วๆ มา และยิ่งมาโจมตีเรื่องของเทคโนโลยีที่เป็นพาร์ทใหญ่ของเศรษฐกิจจีนแล้วด้วย การที่จีนฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO จึงเป็นเพียงแค่ Intro ของการตอบโต้จากทางจีนเท่านั้น หากการกีดกันทางการค้ายังคงมีอยู่ต่อไป ก็ไม่รู้เลยว่าจีนจะตอบโต้กลับมาอย่างรุนแรงมากแค่ไหน และจะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไรต่อไปในปี 2023 ที่จะถึงนี้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 ธ.ค. 2565 เวลา : 15:22:37
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 3:35 pm