เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "ทางเลือกภาคธุรกิจรับมือประเด็นความยั่งยืน"


จากประเด็นความยั่งยืนที่จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ภาคธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาและพิจารณาผลบวกและผลกระทบจากทางเลือกต่างๆ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ ซึ่งภายใต้ทรัพยากรทางการเงินที่มีจำกัดและความไม่แน่นอนของบริบทแวดล้อม ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงแรกธุรกิจส่วนใหญ่น่าจะเลือกหนทางที่ใช้เงินทุนไม่มาก มีความคล่องตัว แล้วค่อยๆ ทำเพิ่มตามความจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการลงทุน

 
จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้วหรือภาวะโลกรวน (Climate Change) ที่ถี่และรุนแรงขึ้น ทำให้ทั่วโลกตื่นตัวต่อประเด็นความยั่งยืน ด้วยการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล (Sustainability/ESG) ผ่านการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (ปริมาณการปล่อยเท่ากับการดูดซับ/กักเก็บ) ของนานาประเทศ และการออกมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อน ยกตัวอย่างเช่น มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรปและอีกหลายๆ ประเทศ การใช้กลไกอัตราภาษีต่อการผลิตสินค้าและบริการอย่างภาษีสรรพสามิตหรือภาษีคาร์บอน การกำหนดคำนิยามกลางและแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการปรับตัว เป็นต้น ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยุคใหม่ก็ให้ความสนใจและบางกลุ่มยินดีจ่ายแพงกว่าปกติเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่ถูกผลิตและออกแบบอย่างใส่ใจเรื่องความยั่งยืน

ประเด็นความยั่งยืนนี้ แม้ธุรกิจส่วนหนึ่งได้ตระหนักและเริ่มดำเนินการบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจส่วนใหญ่อาจนับว่ายังเป็นเรื่องใหม่ที่แตกต่างไปจากวิถีเดิม ทำให้ในด้านหนึ่งอาจเป็นโอกาสใหม่ในการสร้างรายได้ แต่ในทางตรงข้าม ก็คงเป็นความท้าทายต่อความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคธุรกิจจะมีทางเลือกในการดำเนินการเพื่อรับมือต่อประเด็นความยั่งยืนที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายใน อาทิ ความพร้อมของกิจการทั้งความรู้ความเข้าใจ สภาพคล่องและเงินลงทุน เป็นต้น และปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็น ฐานลูกค้า มาตรการของคู่ค้าและทางการ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งแต่ละธุรกิจคงต้องชั่งน้ำหนักถึงผลบวกและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งผลที่จะตามมาจากการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการต่อผลการดำเนินการในช่วงเวลาต่างๆ ว่าคุ้มค่าหรือไม่และมากน้อยเพียงใด

สำหรับทางเลือกในการดำเนินการเพื่อรับมือต่อประเด็นความยั่งยืน อาจจำแนกเบื้องต้นตามระดับความเข้มข้นของการปรับตัวของภาคธุรกิจ ดังนี้

การดำเนินธุรกิจอย่างที่ทำอยู่หรือไม่ดำเนินการอะไรใหม่ เพราะอาจมองว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องไกลตัวหรือยังมาไม่ถึง : ทางเลือกนี้ ไม่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น แต่อาจแลกมาด้วยความเป็นไปได้ที่ธุรกิจจะสูญเสียตลาดหรือฐานลูกค้าในระยะถัดๆ ไป เมื่อคู่ค้าโดยเฉพาะตลาดนำเข้าหลักอย่างสหภาพยุโรป หันไปเลือกค้าขายกับผู้ประกอบการรายอื่นที่มีการดูแลประเด็นนี้มากกว่าแทน หรือธุรกิจก็อาจจะถูกกระทบมากขึ้นอีกหากมีคู่ค้ามากขึ้นที่บังคับใช้มาตรการฯนี้ หรือหากมาตรการฯของคู่ค้าขยายขอบเขตมาครอบคลุมกลุ่มสินค้าเป็นวงกว้างมากขึ้นกว่าระยะแรกที่กำหนดเพียงสินค้าเข้าข่ายบางรายการ เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม ซีเมนต์ เป็นต้น รวมทั้งธุรกิจอาจมีต้นทุนระดมเงินทุนที่แพงขึ้นหากกิจการมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เมื่อการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินต้องดำเนินการตาม Green Taxonomy and Guideline ของทางการในอนาคต
 
การยอมจ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อให้ผ่านเกณฑ์ที่คู่ค้ากำหนดไว้ : ทางเลือกนี้มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแปรผันตามปริมาณคาร์บอนเครดิตที่กิจการต้องใช้ คูณกับราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดที่น่าจะผันผวนในทิศทางที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแนวโน้มระยะใกล้นี้ที่ผู้ขายคาร์บอนเครดิตยังมีจำนวนที่น้อยกว่าความต้องการใช้คาร์บอนเครดิตอยู่มาก โดยราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดซื้อขายของ EU ETS อยู่ที่ราว 85.5 ยูโรต่อตัน ณ 24 มกราคม 2566 ซึ่งทางเลือกนี้ ทำให้ธุรกิจสามารถขายสินค้าให้กับคู่ค้าได้แต่ก็จะมีต้นทุนสูงขึ้นหรือต้นทุนมีความไม่แน่นอนตามความผันผวนของราคาคาร์บอนเครดิตในตลาด

 
การทยอยปรับเปลี่ยนบางกิจกรรม และใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่ ตัวอย่างเช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด การประหยัดการใช้ไฟฟ้าในกิจการ การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแทนรถน้ำมัน การจัดการเส้นทางการขนส่งให้สูญเสียน้อยที่สุด การบำบัดน้ำเสีย การรีไซเคิลวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น : ทางเลือกนี้คงมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น แต่ก็อยู่ในวิสัยที่ธุรกิจส่วนใหญ่น่าจะสามารถดำเนินการได้ภายใต้ต้นทุนที่ไม่สูงจนเกินไป ขณะที่ ระบบสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้าและน้ำ รถยนต์ วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงวัตถุดิบต่างๆ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ธุรกิจต้องใช้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทางเลือกนี้จะทำให้ธุรกิจได้การดูดซับ/กักเก็บก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากสำหรับช่วงที่เริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนกิจกรรม หากแต่ผลบวกอาจจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป นอกจากนี้ การปลูกป่า อาจเป็นแนวทางที่อยู่ในข่ายของทางเลือกนี้เช่นกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมและก็ต้องรอให้ป่าเติบโตระดับหนึ่งแล้วจึงจะได้รับประโยชน์

การลงทุนเพื่อเปลี่ยนกระบวนการผลิตในแต่ละขั้นให้มุ่งสู่ความยั่งยืน : ทางเลือกนี้ แน่นอนว่าธุรกิจใช้เงินลงทุนสูงกว่าทางเลือกอื่นๆ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงสูงมากหากระดับเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตไม่นิ่งหรือเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่ในทางกลับกัน ถ้าธุรกิจสามารถเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับกับประเด็นความยั่งยืน ก็จะเปิดโอกาสในการได้ฐานลูกค้ามากกว่าผู้ประกอบการอื่นๆ หรือได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีผลบวกด้านภาพลักษณ์หรือแบรนด์ ตลอดจนโอกาสในการเข้าถึงต้นทุนทางการเงินที่น่าจะถูกกว่า

4 ทางเลือกเบื้องต้นสำหรับภาคธุรกิจในการรับมือกับประเด็นความยั่งยืน

แต่ละทางเลือกยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ธุรกิจเผชิญ ทรัพยากรทางการเงิน และความคล่องตัวในการดำเนินการ


4 ทางเลือกข้างต้น เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นสำหรับการวางแผนรับมือกับประเด็นความยั่งยืนที่จะถูกให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้ โดยในลำดับแรก เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์คู่ค้า ภาคธุรกิจอาจจำเป็นต้องรู้ก่อนว่ากิจการของตนปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่าใด และจะมีปัจจัยหนุนหรือถูกกระทบจากมาตรการทั้งในและต่างประเทศอย่างไร จากนั้น แต่ละธุรกิจคงต้องศึกษาทุกปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อตัดสินใจเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้ทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งไปตลอด รวมทั้ง ในบางกรณีคงจะต้องอาศัยความร่วมมือกับพันธมิตรหรือซัพพลายเชนตลอดห่วงโซ่ในการร่วมมือกันทำด้วย นอกจากนี้ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีไม่หยุดนิ่ง เช่นเดียวกับกฎระเบียบต่างๆ ของทางการทั้งในและต่างประเทศก็อาจต้องรอเวลาให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้บางทางเลือกอาจสามารถรอจังหวะในการดำเนินการได้ ขณะที่ บางทางเลือก ปรับเปลี่ยนไปเลยจะเหมาะสมกว่า

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจอาจเริ่มต้นจากการลดส่วนสูญเสียในกระบวนการผลิต แยกขยะและนำวัสดุอุปกรณ์เหลือทิ้งมาใช้ซ้ำ/รีไซเคิล วางแผนก่อนการใช้สิ่งต่างๆ เลือกใช้วัสดุ/วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดไฟฟ้าและน้ำ การใช้ไฟฟ้าช่วง Off-Peak ที่ค่าไฟต่อหน่วยต่ำ เปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนผ่านการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโรงงาน การออกแบบเส้นทางการใช้รถยนต์ เปลี่ยนรถยนต์น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า การลดการขนส่งเที่ยวเปล่า การใช้โซลูชั่นหรือเทคโนโลยีเพื่อลดความสิ้นเปลือง เป็นต้น ซึ่งแนวทางเหล่านี้ ธุรกิจ SMEs ก็น่าจะสามารถดำเนินการหรือทยอยปรับเปลี่ยนเมื่อถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมได้โดยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การพิจารณาทางเลือกของแต่ละธุรกิจ จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ธุรกิจเผชิญ ทรัพยากรทางการเงิน และความคล่องตัวในการดำเนินการ ทั้งนี้ ภายใต้ทรัพยากรทางการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด ขณะเดียวกัน ไปข้างหน้าบริบทแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น เพื่อรับมือกับประเด็นความยั่งยืนที่กำลังมีความสำคัญมากขึ้นนั้น โดยทั่วไปแล้ว ในช่วงแรกธุรกิจส่วนใหญ่น่าจะเลือกดำเนินการในลักษณะที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก มีความคล่องตัวในการดำเนินการ แล้วค่อยๆ พิจารณาทำเพิ่มเติมตามความสถานการณ์และความจำเป็น มากกว่าจะเลือกใช้เงินลงทุนสูงตั้งแต่แรกซึ่งในบางกรณีก็มีความเสี่ยงสูงมากจากระดับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่อาจจะยังไม่นิ่งเช่นกัน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ม.ค. 2566 เวลา : 13:11:19
30-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 30, 2024, 3:19 am