หุ้นทอง
แนวทางการกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้ (utility token พร้อมใช้) คำถาม-คำตอบ


 
1. เหตุผลความจำเป็นในการปรับปรุงแนวทางกำกับดูแล utility token พร้อมใช้

คำตอบ
ปัจจุบัน utility token พร้อมใช้ ได้รับยกเว้นโดยประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งกำหนดให้ผู้ออกเสนอขาย ไม่ต้องขออนุญาตออกเสนอขายกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 

 
อย่างไรก็ดี พัฒนาการของ utility token พร้อมใช้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยมีผู้เสนอขาย utility token พร้อมใช้หลายรายประสงค์จะนำโทเคนดิจิทัลไปซื้อขาย (list) บนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ศูนย์ซื้อขายฯ) เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายแลกเปลี่ยน และเพิ่มสภาพคล่องในการเปลี่ยนมือภายหลังจากการเสนอขายเสร็จสิ้นแล้ว ประกอบกับกระแสความร้อนแรงของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบัน ทำให้อาจมีผู้ซื้อขาย utility token พร้อมใช้ในศูนย์ซื้อขายฯ ประสงค์จะซื้อขายเพื่อลงทุนและเก็งกำไร มากกว่าจะนำไปใช้แลกสินค้าหรือบริการจริง 
 
ก.ล.ต.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (focus group) และเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการส่วนใหญ่เห็นว่า utility token พร้อมใช้แต่ละประเภท มีลักษณะ วัตถุประสงค์การใช้งานและความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป จึงเสนอแนะให้ทบทวนการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับ utility token พร้อมใช้แต่ละประเภท โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักการตามความเห็นดังกล่าว

 
2. เป้าหมายของการกำกับดูแล utility token
 
คำตอบ
 
เพื่อให้การกำกับดูแล utility token พร้อมใช้ ในตลาดแรกและตลาดรอง สอดคล้องกับลักษณะ ความเสี่ยง และการใช้งาน utility token พร้อมใช้ แต่ละประเภท โดยมีกลไกคุ้มครอง ซื้อขายที่เพียงพอเหมาะสม ในขณะที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม การพัฒนานวัตกรรม และการส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

3. การสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม การพัฒนานวัตกรรม และการส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

คำตอบ
ก.ล.ต. ได้จัดกลุ่มประเภทของ utility token พร้อมใช้ตามลักษณะ ความเสี่ยง และการใช้งาน และวางแนวทางกำกับดูแลให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจปกติของผู้ประกอบการ และไม่เป็นการเพิ่มขั้นตอน ระยะเวลา และต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการเกินสมควร ขณะที่มีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เพียงพอเหมาะสม

 
4. ประเภท utility token พร้อมใช้
 
4.1 utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1 มีลักษณะอย่างไร พร้อมยกตัวอย่าง

คำตอบ
 
utility token พร้อมใช้ ที่ให้สิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอุปโภคบริโภค และ utility token พร้อมใช้ ที่ใช้แทนใบรับรอง (certificate) หรือแสดงสิทธิต่างๆ โดย
 
(1)  มีวัตถุประสงค์เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก เช่น
 
- บัตรกำนัล (voucher) คูปอง คะแนนสะสม (loyalty point) ที่อยู่ในรูปแบบโทเคนหรือหน่วยอิเล็กทรอกนิกส์ใด ๆ
 
- บัตรคอนเสิร์ต บัตรชมภาพยนตร์ บัตรเข้าร่วมกิจกรรมกับนักร้อง หรือนักแสดง บัตรเข้าร่วมงานวิ่งเพื่อสุขภาพ บัตรโดยสารเครื่องบิน ที่อยู่ในรูปแบบโทเคนหรือหน่วยอิเล็กทรอกนิกส์ใดๆ 
 
- โทเคนหรือหน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้สิทธิในผลิตภัณฑ์ข้างต้น
 
- งานศิลปะ รูปภาพ เพลง แสตมป์หรือวีดีโอในรูปแบบ Non-Fungible Token (NFT) ซึ่งให้สิทธิ
 
อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ถือ NFT  
 
(2) เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนใบรับรองหรือการแสดงสิทธิต่าง ๆ เช่น คาร์บอนเครดิต (carbon credit) ใบรับรองพลังงานทดแทน (renewable energy certificate) ใบรับรองการศึกษา (transcript) ใบรับรองแพทย์ ใบกำกับภาษี โฉนดที่ดิน เป็นต้น
 
(3) ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (non-financial product) และมีช่องทางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะ โดยมีการกำหนดมูลค่าหรือราคาเป็นไปตามกลไกตลาดของสินค้า และบริการนั้น ๆ
 
4.2 utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 มีลักษณะอย่างไร พร้อมยกตัวอย่าง

คำตอบ
 
utility token พร้อมใช้ ในลักษณะอื่น ๆ นอกเหนือจากกลุ่มที่ 1 มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการเงิน การลงทุน และการเก็งกำไรคล้ายกับผลิตภัณฑ์ในตลาดเงินตลาดทุน (financial product) เช่น 
 
- utility token พร้อมใช้ ที่ให้สิทธิในการเข้าถึงสินค้าและบริการบน Distributed Ledger Technology (DLT) เช่น native coin  
 
- utility token พร้อมใช้ ประจำศูนย์ซื้อขายฯ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้งานบนศูนย์ซื้อขายฯ ในการชำระค่าธรรมเนียมเป็นส่วนลดค่าธรรมเนียม หรือใช้สะสมเพื่อเลื่อนระดับสมาชิก (exchange token) 
 
- โทเคนที่ให้สิทธิสิทธิออกเสียงเพื่อปรับเปลี่ยนหรือตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการทางธุรกิจ (governance token) 
 
- utility token พร้อมใช้ ประจำโครงการที่ให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น DeFi หรือ CeFi
 
 
 
5. การออกเสนอขาย utility token แต่ละประเภท
 
5.1 ผู้ออกเสนอขาย utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1 ต้องขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัล กับ ก.ล.ต. หรือไม่
 
คำตอบ
 
utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1 ได้รับยกเว้นการขออนุญาตเสนอขาย โดยไม่ต้องขออนุญาตเสนอขาย
 
โทเคนดิจิทัลกับสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ utility token ต้องไม่มีลักษณะเป็น Means of Payment (MOP) ตามแนวทางที่ ธปท. กำหนด และห้ามผู้ออกรับ staking เว้นแต่เป็นการ staking เพื่อการลงคะแนนเสียง (voting) หรือเข้าร่วมกิจกรรม หรือ stake เพื่อได้รับผลตอบแทนจากกิจกรรมใน ecosystem
 
หากเสนอขาย utility token ที่มีลักษณะเป็น MOP หรือ staking ไม่เป็นไปตามที่กำหนด จะเข้าข่ายเป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ (รายละเอียดเพิ่มเติมในข้อ 8)
 
5.2 ผู้ออกเสนอขาย utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 ที่ประสงค์จะ list บนศูนย์ซื้อขายฯ ต้องมาขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัล กับ ก.ล.ต. หรือไม่
 
คำตอบ
 
ต้องขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลกับสำนักงาน ก.ล.ต. ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (แบบ filing) และร่างหนังสือชี้ชวน และเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.  
 
ทั้งนี้ utility token (ไม่ว่าจะ list หรือไม่ list บนศูนย์ซื้อขายฯ) ต้องไม่มีลักษณะเป็น MOP ตามแนวทางที่ ธปท. กำหนด และห้ามผู้ออกรับ staking เว้นแต่เป็นการใช้เป็นกลไกยืนยันธุรกรรม หรือการ staking เพื่อการลงคะแนนเสียง (voting) หรือเข้าร่วมกิจกรรม หรือเพื่อได้รับผลตอบแทนจากกิจกรรมใน ecosystem
5.3 ผู้ออกเสนอขาย utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 ที่ไม่ประสงค์จะ list บนศูนย์ซื้อขายฯ ต้องมาขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัลกับ ก.ล.ต. หรือไม่
 
คำตอบ
 
ได้รับยกเว้นการขออนุญาตเสนอขาย โดยไม่ต้องขออนุญาตเสนอขายโทเคนดิจิทัล กับ  ก.ล.ต. ทั้งนี้ utility token ต้องไม่มีลักษณะเป็น MOP ตามแนวทางที่ ธปท. กำหนด และห้ามผู้ออกรับ staking เว้นแต่เป็นการใช้เป็นกลไกยืนยันธุรกรรม หรือการ staking เพื่อการลงคะแนนเสียง (voting) หรือเข้าร่วมกิจกรรม หรือเพื่อได้รับผลตอบแทนจากกิจกรรมใน ecosystem
 
หากเสนอขาย utility token ที่มีลักษณะเป็น MOP หรือ staking ไม่เป็นไปตามที่กำหนด จะเข้าข่ายเป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ (รายละเอียดเพิ่มเติมในข้อ 8) เว้นแต่เป็นการเสนอขายในต่างประเทศทั้งจำนวน

6. การให้บริการเกี่ยวกับ utility token แต่ละประเภท
 
6.1 ผู้ให้บริการซื้อขาย utility token กลุ่มที่ 1 ต้องมาขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ หรือไม่
 
คำตอบ
 
การบริการเกี่ยวกับ utility token กลุ่มที่ 1 ประเภทพร้อมใช้และไม่พร้อมใช้ ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายฯ นายหน้า ผู้ค้า ที่ปรึกษา ผู้จัดการเงินทุน และผู้รับฝาก utility token กลุ่มที่ 1 ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ไม่ต้องขอใบอนุญาต)
 
6.2 ผู้ออกหรือศูนย์ซื้อขายฯ สามารถนำ utility token กลุ่มที่ 1 มา list บนศูนย์ซื้อขายฯ ได้หรือไม่
 
คำตอบ
 
ไม่ได้ เนื่องจากหลักเกณฑ์ห้ามศูนย์ซื้อขายฯ นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ utility token กลุ่มที่ 1

6.3 หากศูนย์ซื้อขายฯ นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะให้บริการเกี่ยวกับ utility token กลุ่มที่ 1 ไม่ว่าจะพร้อมใช้หรือไม่พร้อมใช้ ต้องปฏิบัติอย่างไร
 
คำตอบ
 
ผู้ประกอบธุรกิจประเภทดังกล่าวต้องดำเนินการในฐานะเป็นการประกอบกิจการอื่น โดยต้องแยกนิติบุคคล และไม่ใช้ชื่อหรือข้อความในการแสดงตนที่อาจทำให้บุคคลทั่วไปสับสนหรือเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
 
6.4 หากศูนย์ซื้อขายฯ ต้องการนำ utility token กลุ่มที่ 2 มาให้บริการต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างไร
 
คำตอบ
 
กรณี utility token กลุ่มที่ 2 แบบพร้อมใช้ : ต้องไม่มีลักษณะตามที่หลักเกณฑ์กำหนด เช่น ไม่ได้ผ่านการขออนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือเป็นกลุ่มที่ได้รับยกเว้น
กรณี utility token กลุ่มที่ 2 แบบไม่พร้อมใช้ : ต้องได้รับอนุญาตเสนอขายจาก ก.ล.ต. และปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เหมือนกรณี utility token กลุ่ม 2 แบบพร้อมใช้
 
6.5 ศูนย์ซื้อขายฯ นายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการ utility token กลุ่มที่ 2 อยู่แล้วก่อนที่หลักเกณฑ์จะมีผลใช้บังคับต้องเพิกถอนการให้บริการ utility token ดังกล่าวหรือไม่
 
คำตอบ
 
สามารถให้บริการ utility token กลุ่มที่ 2 ที่ list หรือให้บริการซื้อขายอยู่แล้วก่อนที่หลักเกณฑ์จะมีผลใช้บังคับต่อไปได้ โดยศูนย์ซื้อขายฯ ต้องดำเนินการจัดให้มีข้อตกลงกับผู้ออก utility token เพื่อให้ผู้ออก utility token 
มีการเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนดใน listing rule (ไม่รวมถึงกรณีที่ศูนย์ซื้อขายฯ นำ utility token มา list เอง)

7. เหตุใดจึงกำหนดให้ utility token ต้องไม่เข้าข่ายใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหรือใช้เป็นสื่อในการโอนมูลค่าเพื่อชำระราคาสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดเป็นการทั่วไป (Means of Payment: MOP) ตามแนวทางที่ ธปท. กำหนด
 
คำตอบ
 
ด้วยลักษณะของ utility token เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง จึงไม่พึงมีลักษณะการใช้งานเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หรือโอนมูลค่าเพื่อชำระราคาสินค้า บริการ เป็นการทั่วไป (MOP) 
 
หากมีการใช้ utility token เป็น MOP อาจส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้ เช่น 
 
• เกิดหน่วยวัดมูลค่า (unit of account) หรือหน่วยการตั้งราคาที่นอกเหนือจากสกุลเงินบาท ซึ่งจะเป็นต้นทุนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและธุรกิจจากการแลกเปลี่ยน ไป-มาระหว่างสกุลต่าง ๆ 
 
• ลดทอนประสิทธิภาพของนโยบายการเงินในการดูแลระดับราคาสินค้า รวมทั้งภาวะการเงิน (เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน) ให้สอดคล้องกับ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละช่วงเวลา 
 
• หาก utility token มีการซื้อขายและมีราคาผันผวน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชนและร้านค้า จากที่ยอดใช้จ่ายของผู้ใช้ หรือรายรับของผู้รับชำระมีความไม่แน่นอนสูง
 
ร่างประกาศนี้ ได้ระบุแนวทางในการพิจารณาว่า ลักษณะการใช้ utility token แบบใด ที่ถือว่าไม่มีลักษณะของการนำมาใช้เป็น MOP รวมทั้งยังได้กำหนดให้มีการใช้งาน utility token ประเภทที่ใช้งานได้เฉพาะบน Distributed Ledger Technology (DLT) ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุในร่างประกาศนี้ได้ โดยไม่ถือว่ามีการนำมาใช้เป็น MOP เพื่อให้สอดรับกับรูปแบบและลักษณะการใช้งานที่มีความเฉพาะตัวของโทเคนดิจิทัลประเภทดังกล่าว

8. บทลงโทษ
 
8.1 หาก utility token พร้อมใช้ เข้าข่ายเป็น MOP หรือผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีการรับ staking โดยไม่เป็นไปตามที่กำหนด จะมีบทลงโทษ หรือไม่ อย่างไร (ทั้งที่ออกมาแล้วและในอนาคตเมื่อประกาศมีผล)
 
คำตอบ
 
- กรณี utility token ที่ออกเสนอขายก่อนประกาศมีผลใช้บังคับ: ผู้ออกไม่ได้รับผลกระทบกับกฎเกณฑ์ เนื่องประกาศจะมีผลใช้บังคับกับการออกเสนอขาย utility token ตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ
 
- กรณี utility token ที่ออกเสนอขายตั้งแต่ประกาศมีผลใช้บังคับ : การเสนอขาย utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1 และ กลุ่มที่ 2 ที่มีลักษณะเป็น MOP หรือ staking ไม่เป็นไปตามที่กำหนด เข้าข่ายเป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
8.2 กรณี utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 ซึ่ง list อยู่บนศูนย์ซื้อขายฯ มีการออกเสนอขายเหรียญที่ออกใหม่และไม่ได้ขออนุญาต จะมีบทลงโทษอย่างไร
 
คำตอบ
เข้าข่ายเป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
8.3 หากผู้ออก utility token และผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ / ไม่แก้ไขให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่กำหนด จะมีบทลงโทษ หรือไม่ อย่างไร
 
คำตอบ
- กรณีผู้ออก utility token กลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องการ list ในศูนย์ซื้อขายฯ แต่ไม่ได้ขออนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อน จะเข้าข่ายเป็นการเสนอขายโทเคนดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 57 ของ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่าของราคาขายของโทเคนดิจิทัลทั้งหมดซึ่งผู้นั้นได้เสนอขาย แต่ทั้งนี้ เงินค่าปรับต้องไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
 
- กรณีศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่มีการปรับปรุง จะเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ม.ค. 2566 เวลา : 13:42:22
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 7:55 am