การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กอนช.ถอดบทเรียนฤดูฝน ปี65 ปรับกระบวนทัพรับฝนปีถัดไป


กอนช.สัมมนาถอดบทเรียนฤดูฝน ปี 65 พร้อมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เตรียมปรับกระบวนการทำงาน เร่งเพิ่มพื้นที่แก้มลิง เตรียมรับมือฤดูฝนในปีถัดไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


 
วันนี้ (31 ม.ค. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ฤดูฝน ปี 2565 ณ ห้องชนกนันท์ ชั้น 2 โรงแรม เอบีน่า เฮ้าส์ ซ.วิภาวดีรังสิต 64 เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นางพัชรวีร์ สุวรรณิก ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สทนช. กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมสัมมนาจากทุกภาคส่วน ได้แก่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 4 กระทรวง 29 หน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำและเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ ภาคประชาชน และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ

 
สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ฤดูฝน ปี 2565 ภายใต้กรอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝน ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดย สทนช. ได้ร่วมบูรณาการหน่วยงานภายใต้ กอนช. ทั้งก่อนฤดู ระหว่างฤดู และเมื่อสิ้นสุดฤดู ซึ่งการดำเนินการในช่วงก่อนฤดูฝน เป็นการเตรียมการและสร้างการรับรู้ โดยการคาดการณ์ฝนและพายุ การกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพื่อให้หน่วยงานช่วยกันเฝ้าระวัง สามารถช่วยเหลือได้ทันเหตุการณ์ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการรับมือในช่วงฤดูฝน เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ สำหรับใช้เป็นกรอบแนวทางในการเตรียมความพร้อมรับมือเชิงป้องกัน รวมถึงการเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ล่วงหน้า ระหว่างฤดูฝน เป็นการวิเคราะห์ ติดตาม ประเมิน สภาพอากาศ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและการให้ความช่วยเหลือ โดยได้ดำเนินการตลอดช่วงฤดูฝน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ต่อสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน จะเป็นการประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝนที่ผ่านมา

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ผลการดำเนินงานตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 และการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ที่ได้เปิดไป 3 ศูนย์ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยเฉพาะการคาดการณ์และประเมินพื้นที่เสี่ยงในพื้นที่ภาคใต้ ที่ได้นำบทเรียนจากการทำงานของศูนย์ฯ ส่วนหน้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ที่ได้เปิดศูนย์ฯ ไปก่อน มาปรับกระบวนการทำงานให้มีความเหมาะสม เช่น การตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ การตรวจสอบสภาพอ่างขนาดกลางและขนาดเล็ก การตรวจสอบพื้นที่แก้มลิง การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ประตูระบายน้ำ ทุ่งรับน้ำ การจัดทำแผนชี้เป้าพื้นที่น้ำลด แผนการระบายน้ำและเร่งสูบน้ำ แผนการจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกในพื้นที่น้ำท่วม เป็นต้น ทำให้วิเคราะห์ คาดการณ์ ชี้เป้าได้อย่างตรงจุด สามารถเตรียมการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที สามารถเร่งซ่อมแซมคันกั้นน้ำหรือจุดเชื่อมต่อทำนบดินกั้นน้ำที่ชำรุดหรือที่เป็นฟันหลอ ให้แล้วเสร็จก่อนน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน ลดผลกระทบและความเสียหายจากน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 
นอกจากนี้ สทนช. ยังได้หารือร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในช่วงฤดูฝนในพื้นที่เหนือเขือนเจ้าพระยา เพื่อเพิ่มพื้นที่แก้มลิงรับน้ำหรือพื้นที่หน่วงน้ำให้มากขึ้น ลดปัญหาน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน-พื้นที่เศรษฐกิจ และเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงแล้ง โดยมีเป้าหมายปี 2565-2568 ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย และอุทัยธานี โดยดำเนินการตัดยอดน้ำได้อย่างน้อย 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2566 ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้สูงสุดประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะขยายพื้นที่เป้าหมายในการเก็บกักน้ำที่จะดำเนินการเพิ่มเติมภายในปี 2568 รวมประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่จะเป็นการบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีได้อีกด้วย

“ดังนั้น เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในฤดูฝนปีถัดไป สทนช. จึงได้จัดประชุมสัมมนาถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ฤดูฝน ปี 2565 ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อสรุปผลการดําเนินงานและสรุปผลถอดบทเรียน 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 และศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ที่ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับทราบปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ รวมทั้งเปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อนำไปปรับปรุงแนวทางการดำเนินการร่วมกัน อันเป็นการเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนถัดไป ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ม.ค. 2566 เวลา : 18:44:46
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:45 am