เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหนุนให้ดัชนี KR-ECI เดือน ม.ค. 66 ปรับตัวดีขึ้น"


ในเดือนม.ค. 66 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 35.1 และ 37.8 จาก ที่ 34.7 และ 37.1 ในเดือนธ.ค. 65 เนื่องจากครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงาน สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย โดยมีภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ


ท่ามกลางสถานการณ์ที่ค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการสอบถามครัวเรือนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าว พบว่า ครัวเรือนร้อยละ 37.7 ระบุว่า มีการงดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าไม่จำเป็นลง และ ร้อยละ 20.5 ลดการใช้พลังงานลง เช่น ไฟฟ้า นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีการรับมือในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การชะลอการก่อหนี้เพิ่มขึ้น การหารายได้เพิ่มเติม/ทำงานมากขึ้น

ในระยะข้างหน้า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีปัจจัยหนุนสำคัญอย่างภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงานและรายได้ในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐอย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกันระยะที่ 5 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของดัชนี KR-ECI ยังมีความเปราะบางท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวซึ่งอาจกระทบเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ประกอบกับค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง และขีดจำกัดของการอุดหนุนค่าครองชีพของภาครัฐ

ดัชนี KR-ECI เดือนม.ค. 66 ปรับตัวดีขึ้น ครัวเรือนไทยมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงานลดลง ขณะที่ครัวเรือนไทยบางส่วนลดการใช้จ่ายลงเพื่อรับมือกับค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง

ในเดือนม.ค.66 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบันและดัชนี 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยที่ 35.1 และ 37.8 จากเดือนธ.ค. 65 ที่ 34.7 และ 37.1 ตามลำดับโดยครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นสอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะแนวโน้มการกลับมาของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนหลังการประกาศเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาดตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 โดยในเดือนม.ค. 66 มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยราว 2.08 ล้านคน ถือเป็นเดือนที่สองติดต่อกันที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลุ 2 ล้านคน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าทั้งปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาราว 25.5 ล้านคน โดยคิดเป็นนักท่องเที่ยวจีนจำนวน 4.65 ล้านคน นอกจากนี้ ภาครัฐได้มีการออกโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 5 โดยมีระยะเวลาในการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนก.พ.-ก.ย.66 เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นการสนับสนุนต่อเนื่องไปยังภาคการจ้างงานและการบริโภคภายในประเทศให้ปรับตัวดีขึ้น โดยจำนวนผู้ว่างงานของไทยในไตรมาส 4/2565 ลดลงเหลือ 4.62 แสนคน หรือลดลง 30% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และอัตราว่างงานทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.2% ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองของครัวเรือนหลังจากจีนมีการยกเลิกมาตรการควบคุมโควิดและเปิดประเทศเร็วขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น โดยครัวเรือน 44.6% มองว่าการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนจะเป็นผลดีต่อการจ้างงานไทย และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่มีมุมมองว่าจะเป็นการสนับสนุนให้การจ้างงานในประเทศปรับตัวดีขึ้น (64.0%) รองลงมามีมุมมองว่าจะสามารถเพิ่มชั่วโมงการทำงาน (21.8%) และค่าจ้างที่ได้ (14.1%)

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาน้ำมันจะเริ่มปรับลดลง โดยภาครัฐได้ประกาศปรับลดราคาน้ำมันดีเซลลง 50 สตางค์ต่อลิตรเป็น 34.50 บาทต่อลิตร ถือเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 66 เป็นต้นไป สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อไทยเดือนม.ค. 66 เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงที่ 5.02%YoY ตามราคาพลังงานและอาหารสดที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดภาระหนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงภาครัฐจึงยังไม่อาจปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงไปสู่ระดับก่อนหน้าที่อยู่ระดับต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตรได้ ประกอบกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นซึ่งยังคงกดดันการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง ครัวเรือนจึงยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและราคาสินค้า โดยค่าไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยถูกตรึงไว้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยในงวดเดือนม.ค.-เม.ย.66 แต่ภาครัฐได้มีการส่งสัญญาณปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในระยะข้างหน้า (งวดเดือนพ.ค.-ส.ค.66) โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในเดือนมี.ค.66 นอกจากนี้ ราคาก๊าซหุงต้มจะปรับขึ้นเป็น 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.66 หลังถูกตรึงอยู่ที่ระดับ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มานาน 6 เดือนติดต่อกัน
 
 
 
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการสอบถามครัวเรือนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับมือของครัวเรือนในปี 2566 ท่ามกลางสถานการณ์ที่ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ ค่าไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูง และทิศทางดอกเบี้ยเงินกู้ขาขึ้น โดยครัวเรือนส่วนใหญ่ลดการจับจ่ายใช้สอยลง โดย 37.7% ระบุว่า งดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าไม่จำเป็นลง และ 20.5% ลดการใช้พลังงาน เช่น ไฟฟ้า ขณะที่ 17.4% ชะลอการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีการรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าวด้วยรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ หารายได้เพิ่มเติม/ทำงานมากขึ้น (16.5%) นำเงินออมออกมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น (4.2%) และมีการออมเงินมากขึ้น (3.6%) สะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวของการบริโภคของครัวเรือนยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง

 
สำหรับปี 2566 ภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญโดยเฉพาะปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าคาด อีกทั้ง การอนุญาติให้ชาวจีนสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปยัง 20 ประเทศรวมถึงไทยในลักษณะเป็นกรุ๊ปทัวร์ได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.66 ซึ่งจะเป็นแรงหนุนต่อเนื่องไปยังภาคการจ้างงานของไทย อย่างไรก็ดี ดัชนี KR-ECI อาจฟื้นตัวได้อย่างเปราะบางท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเข้ามากดดัน โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ประกอบกับค่าครองชีพไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง สถานะหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ยังเป็นปัจจัยจำกัดการอุดหนุนค่าครองชีพจากภาครัฐ และค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการที่ปรับขึ้น จึงยังคงต้องติดตามการส่งผ่านราคาจากผู้ผลิตมายังผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ต้นทุนทางการเงินของครัวเรือนผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยเฉพาะในรายย่อยก็เพิ่มขึ้นตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. โดยปี 2566 คาดปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.75-2.00%

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปัจจุบัน (ม.ค.66) และดัชนี 3 เดือนข้างหน้าปรับดีขึ้นที่ 35.1 และ 37.8 จากเดือนธ.ค. 65 ที่ 34.7 และ 37.1 ตามลำดับโดยครัวเรือนมีความกังวลลดลงเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงานในอนาคต เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากมุมมองการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของดัชนียังเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ก.พ. 2566 เวลา : 11:52:41
05-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 5, 2024, 10:45 pm