หุ้นทอง
แนวโน้มการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนไทยในช่วง COVID-19 และการเติบโตของรายได้จากต่างประเทศในปี 64


สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ จากฐานข้อมูลการลงทุนต่างประเทศและรายได้จากต่างประเทศของบริษัท จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยรวม 776 บริษัท พบข้อมูลน่าสนใจ ดังนี้

 

· ในภาพรวมปี 2564 บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai (บริษัทจดทะเบียนฯ) มีการลงทุนในต่างประเทศ 278 บริษัท จากบริษัทจดทะเบียนฯ ทั้งหมด 776 บริษัท หรือ 36% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนฯ

 

· ในปี 2564 บริษัทจดทะเบียนฯ ยังมีการขยายการลงทุนทางตรงในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่าการลงทุนทางตรงในต่างประเทศสุทธิรวม 1.1 แสนล้านบาท แม้ว่าบริษัทต้องเผชิญสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ตาม

 

· อาเซียน เป็นภูมิภาคเป้าหมายที่บริษัทจดทะเบียนฯ เข้าไปลงทุนทางตรงมากที่สุด โดยมีจำนวน 217 บริษัท โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV และประเทศเวียดนามยังคงครองอันดับหนึ่งที่สามารถดึงดูดบริษัทจดทะเบียนฯ ไปลงทุนมากที่สุด

 

· เมื่อพิจารณารายได้จากต่างประเทศในปี 2564 พบว่า บริษัทจดทะเบียนฯ มีรายได้จากต่างประเทศเป็นมูลค่าสูงที่สุดในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา โดยมีรายได้รวมสูงถึง 4.38 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 32% ของรายได้รวมทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนฯ โดยรายได้จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจเดิมในต่างประเทศ และการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการส่งออก

 

· บริษัทจดทะเบียนฯ ในกลุ่มทรัพยากร เป็นกลุ่มที่มีรายได้จากต่างประเทศสูงสุดในปี 2564 คิดเป็นมูลค่ากว่า 8.73 แสนล้านบาท และเป็นกลุ่มที่มีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากที่สุด เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันโลกและราคาขายน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยประเทศเป้าหมายในการลงทุนของกลุ่มทรัพยากร ได้แก่ ประเทศในภูมิภาคเอเชียเหนือ


ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ปี 2564 ฟื้นตัวจากปีก่อนหน้า โดยกำไรสุทธิรวมเติบโต 1.6 เท่า หลังจากกำไรสุทธิรวมในปี 2563 หดตัวกว่า 54% จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2562

สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2562 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2563 ลดลงอย่างรวดเร็ว และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai (บริษัทจดทะเบียนฯ) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยรายได้รวมในปี 2563 ลดลง 11.4% ขณะที่กำไรสุทธิลดลงถึง 54.2% จากปี 2562 (ภาพที่ 1)

 
อย่างไรก็ตาม แม้ในปี 2564 จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 อีกหลายระลอก และรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาผลประกอบการล่าสุดของบริษัทจดทะเบียนฯ ในปี 2564 พบว่า บริษัทจดทะเบียนฯ มีรายได้รวมสูงถึง 13.68 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23.1% ขณะที่มีกำไรสุทธิ 1.04 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6 เท่า ซึ่งถ้าหากพิจารณาผลประกอบการในปี 2564 นี้กลับ พบว่าเพิ่มขึ้นมากกว่าผลประกอบการในปี 2562 หรือก่อนช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19

บริษัทจดทะเบียนฯ หลายแห่งสามารถปรับตัวดำเนินงานได้ดีในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเห็นสัญญาณจากรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนเติบโต พร้อมทั้งมีการขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

 
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบรายได้จากต่างประเทศของบริษัท จดทะเบียนฯ ใน 5 ปีย้อนหลัง (2560-2564) พบว่ามีการเติบโตของรายได้จากต่างประเทศจาก 2.68 ล้านล้านบาท เป็น 4.38 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 1.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 63.4% (ภาพที่ 2) พร้อมทั้งเห็นสัญญาณจากการขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

บริษัทจดทะเบียนฯ ขยายการลงทุนทางตรงในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่าการลงทุนทางตรงในต่างประเทศสุทธิรวม 1.1 แสนล้านบาท แม้ว่าบริษัทต้องเผชิญวิกฤต COVID-19 และการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 
 
แม้บริษัทจดทะเบียนฯ ต้องเผชิญวิกฤต COVID-19 และการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ในปี 2564 บริษัทจดทะเบียนฯ มีการขยายการลงทุนทางตรงในต่างประเทศ โดยมีมูลค่าการลงทุนทางตรงสุทธิรวมกว่า 1.1 แสนล้านบาท

ในภาพรวมปี 2564 บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai มีการลงทุนในต่างประเทศ 278 บริษัท จากบริษัทจดทะเบียนฯ ทั้งหมด 776 บริษัท หรือคิดเป็น 36% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนฯ

จากฐานข้อมูลการลงทุนต่างประเทศและรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนฯ รวม 776 บริษัท ที่รวบรวมข้อมูล

จากเอกสารหมายเหตุประกอบงบ แบบรายงาน 56-1 หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องของบริษัทจดทะเบียน พบว่า ในปี 2564 บริษัทจดทะเบียนฯ มีการลงทุนทางตรงในต่างประเทศ 278 บริษัท หรือคิดเป็น 36% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนฯ ทั้งหมด (ภาพที่ 3)

 
 
หากพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization: Market Cap) ของบริษัท จดทะเบียนฯ ที่ไปลงทุนในต่างประเทศ พบว่า บริษัท จดทะเบียนฯ ที่มีการลงทุนในต่างประเทศมี Market Cap รวมสูงถึง 14 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 77% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของทั้งตลาด

มูลค่าการลงทุนในต่างประเทศปี 2564 เป็นไปตามที่คาดการณ์ในผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนฯ

เมื่อพิจารณามูลค่าการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนฯ พบว่า ในปี 2564 บริษัทจดทะเบียนฯ ยังคงขยายการลงทุนทางตรงในต่างประเทศต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการลงทุนทางตรงในต่างประเทศสุทธิรวมกว่า 1.1 แสนล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า การลงทุนทางตรงในต่างประเทศสุทธิในปี 2564 ลดลง 21% จากปีก่อน (ภาพที่ 4)
 

การเปลี่ยนแปลงทิศทางการลงทุนดังกล่าวข้างต้น สอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนฯ ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเผยในรายงาน “SET-CMRI Research paper ฉบับที่ 3/2563 ผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนฯ (CEO Survey)” ที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนฯ ตอบแบบสอบถามมีความเห็นว่า ภายหลังจากปี 2563 จะขยายการลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อบริหารจัดการ supple chain ให้มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ และชะลอการลงทุนในต่างประเทศ

อาเซียน ยังคงเป็นภูมิภาคเป้าหมายที่บริษัทจดทะเบียนฯ เข้าไปลงทุนทางตรงมากที่สุด โดยมีจำนวน 217 บริษัท โดย เฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV และประเทศเวียดนามยังคงครองอันดับหนึ่งที่ดึงดูดบริษัทจดทะเบียนฯ ไปลงทุนมากที่สุด

 
ภูมิภาคอาเซียน เป็นภูมิภาคที่มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนฯ ที่มีสถานะการลงทุนสูงสุดต่อเนื่องในทุกปี โดยมีจำนวน 217 บริษัทในปี 2564 ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET จำนวน 192 บริษัท และเป็นบริษัทจดทะเบียนใน mai จำนวน 25 บริษัท และพบว่าภูมิภาคที่มีสถานะการลงทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าได้แก่ เอเชียเหนือ และเอเชียใต้ โดยภูมิภาคเอเชียเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีจำนวนบริษัทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 7 บริษัท (ภาพที่ 5)

บริษัทจดทะเบียนฯ ส่วนใหญ่ 78% ลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน และ 67% ที่ลงทุนในประเทศกลุ่ม CLMV

ที่มีสถานะลงทุนใน ASEAN และ CLMV หากพิจารณาจำนวนบริษัทจดทะเบียนฯ ที่ลงทุนทางตรงในต่างประเทศ และ/หรือมีรายได้จากต่างประเทศ (ตารางที่ 1) ในภาพรวมมีบริษัท จดทะเบียนฯ ที่ลงทุน และ/หรือมีรายได้จากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า เป็น 399 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET จำนวน 334 บริษัท และเป็นบริษัทจดทะเบียนใน mai จำนวน 65 บริษัท โดยมีธุรกรรมกับกลุ่มประเทศในอาเซียน 218 บริษัท หรือคิดเป็น 78% และกลุ่มประเทศใน CLMV1 185 บริษัท หรือคิดเป็น 67% (ภาพที่ 6)

 
 
ประเทศเวียดนามยังคงครองอันดับหนึ่งที่ดึงดูดบริษัทจดทะเบียนไทยไปลงทุนมากที่สุด โดยมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนฯ สูงถึง 84 บริษัท รองลงมาเป็นประเทศสิงคโปร์ และประเทศเมียนมา โดยมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนฯ 79 และ 75 บริษัท ตามลำดับ

 
หากพิจารณาแยกตามรายอุตสาหกรรมจะพบว่าในปี 2564 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีบริษัทจดทะเบียนฯ ออกไปลงทุนต่างประเทศมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม และ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และ
ก่อสร้าง โดยมีจำนวน 65 47 และ 42 บริษัท ตามลำดับและมีสัดส่วนคิดเป็น 38%, 36% และ 30% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนฯ ทั้งหมดในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ (ภาพที่ 8) ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai สร้างรายได้จากต่างประเทศในปี 2564 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.38 ล้านล้านบาท

แม้บริษัทจดทะเบียนฯ ชะลอการลงทุนในต่างประเทศลง แต่พบว่าบริษัทจดทะเบียนฯ กลับมีรายได้จากต่างประเทศเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา คิดเป็น 4.38 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.39 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 46.35 (ภาพที่ 9) โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจเดิมในต่างประเทศถึง 48% ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของรายได้จากส่งออก 22% ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2564 ส่วนใหญ่มาจากบริษัทจดทะเบียนใน SET มูลค่าประมาณ 4.36 ล้านล้านบาท และรายได้จากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนใน mai มูลค่า 2.5
หมื่นล้านบาท

 
ปี 2564 บริษัทจดทะเบียนไทย สร้างรายได้จากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 32% ของรายได้ทั้งหมดของ บริษัทจดทะเบียนฯ เป็นสถิติสูงสุดในรอบ 16 ปี (ปี 2549 - 2564)
 
หากเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศกับรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่ามีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 32 ซึ่งมากกว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศในปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 6 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรายได้จากต่างประเทศและมูลค่ารายได้โดยรวมในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แสดงให้เห็นว่ารายได้เติบโตต่อเนื่องทุกปี (ภาพที่ 10)


บริษัทจดทะเบียนฯ ในกลุ่มทรัพยากรมีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าสูงที่สุด เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้รายได้ในปี 2564 เติบโตแบบก้าวกระโดด


กลุ่มทรัพยากรมีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามากที่สุดเท่ากับ 1.58 ล้านล้านบาท โดย
เพิ่มขึ้นร้อยละ 79 จากปีก่อนหน้า เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณขายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้เติบโตแบบก้าวกระโดด และพบว่ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร เป็นกลุ่มที่มีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นรองลงมา คิดเป็นมูลค่า 1.06 ล้านล้านบาท ในขณะที่กลุ่มธุรกิจการเงินมีรายได้จากต่างประเทศน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น (ภาพที่ 11)

บริษัทจดทะเบียนฯ ในกลุ่มทรัพยากรที่ลงทุนในภูมิภาคเอเชียเหนือ เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดในปี 2564 คิดเป็นมูลค่ากว่า 8.73 แสนล้านบาท

เมื่อพิจารณารายได้จากต่างประเทศในปี 2564 จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของบริษัทที่ลงทุนและจำแนกตามภูมิภาค (ตารางที่ 2) พบว่าบริษัทในกลุ่มทรัพยากรที่ลงทุนในภูมิภาคเอเชียเหนือ เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด คิดเป็นมูลค่า 8.73 แสนล้านบาท และบริษัทในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่ลงทุนในภูมิภาคเอเชียเหนือ เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง เป็นอันดับที่สอง คิดเป็นมูลค่า 3.64 แสนล้านบาท


ถึงแม้บริษัทจดทะเบียนฯ จะเผชิญกับสถานการณ์ไม่แน่นอนในปี 2564 แต่บริษัทจดทะเบียนฯ สามารถปรับตัว และรับมือในการดำเนินธุรกิจได้อย่างดี โดยเห็นได้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ ที่กลับมาสูงกว่าเดิม และยังมีการขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะเห็นมูลค่าการลงทุนในต่างประเทศลดลงบ้าง แต่บริษัทจดทะเบียนฯ ก็หันมาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นควบคู่ไปด้วยเพื่อบริหารจัดการ supple chain ให้มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ และยังสามารถสร้างรายได้จากต่างประเทศสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับปี 2563 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และการปรับตัวได้ดีของบริษัทจดทะเบียนฯ

บันทึกโดย : วันที่ : 22 ก.พ. 2566 เวลา : 16:46:10
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 6:22 am