เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Krungthai COMPASS วิเคราะห์ "ราคาน้ำมันดีเซลสูง พ่นพิษธุรกิจไทยอย่างไร"


Krungthai COMPASS ประเมินว่า ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเฉลี่ยในปี 2566 จะอยู่ที่ 34.7 บาท / ลิตร ซึ่งสูงขึ้นจาก 33.1 บาท/ลิตร ในปี 2565 แม้ว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นจะลดลงแล้วตามทิศทางของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก แต่ภาครัฐมีแนวโน้มจะกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯจากน้ำมันดีเซลอีกครั้ง เพื่อลดภาระที่ได้ทำการอุดหนุนในช่วงที่ผ่านมา 

 
 
อัตรากำไรสุทธิของภาคธุรกิจโดยรวมของไทยจะลดลงราว 0.06% สำหรับทุก 1% ของค่าน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ใช้น้ำมันดีเซลอย่างเข้มข้น เช่น กลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางถนน ซึ่งประเมินว่าหากค่าน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1% อัตรากำไรของผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะลดลงราว 0.27% และ 0.43% ตามลำดับ
 
 
ภาคธุรกิจของไทย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนส่งทางถนน จึงควรปรับตัว เพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนน้ำมันดีเซล ดังนี้ 1) ติดตั้ง Real-time GPS Tracking หรือ Telematics ในยานพาหนะขนส่งสินค้า และขนส่งโดยสารทางถนน เพื่อควบคุมพฤติกรรมการขับรถที่สิ้นเปลืองน้ำมัน 2) จัดตั้งคลังสินค้าให้อยู่ใกล้กับจังหวัดของลูกค้าหลัก และขนส่งสินค้าร่วมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆที่ใช้เส้นทางเดียวกัน และ 3)หันมาใช้รถบรรทุกไฟฟ้า แทนที่รถบรรทุกที่ใช้น้ำมันดีเซล
 
 
ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในปี 2565 โดยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเฉลี่ยในปี 2565 อยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นราว 7 บาทต่อลิตรเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินเฉลี่ยในปี 2565 อยู่ที่ 37 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นราว 9 บาทต่อลิตรเทียบกับปีก่อนหน้า สาเหตุส่วนหนึ่งของราคาที่เพิ่มขึ้นมากเป็นผลกระทบของการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกตึงตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น และคาดว่ายังอยู่ในระดับสูงในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า 
แนวโน้มดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจของไทยโดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้น้ำมันสำเร็จรูปอย่างเข้มข้น บทความนี้จะวิเคราะห์ถึงแนวโน้มราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยในระยะข้างหน้า และผลกระทบที่มีต่อภาคธุรกิจของไทย
 
 
I. ทำความรู้จักกับโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของไทย 
 
ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูป ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก โดยรายละเอียดมีดังนี้  
 
 
1) ราคาหน้าโรงกลั่น เป็นราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปของผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน  ซึ่งอ้างอิงจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ซื้อขายผ่าน Singapore International Monetary Exchange (SIMEX) ซึ่งจะผันแปรตามต้นทุนน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักของธุรกิจโรงกลั่นในสิงคโปร์ และค่าการกลั่นของสิงคโปร์ (GRM) โดยราคาหน้าโรงกลั่นของน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินเฉลี่ยทั้งปี 2565 อยู่ที่ 30.2 บาท/ลิตร และ 25.9 บาท/ลิตร1 
 
 
2) ภาษีสรรพาสามิต เป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าและบริการที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ และศีลธรรม รวมทั้งมีลักษณะฟุ่มเฟือย และสินค้าและบริการที่ได้รับผลประโยชน์พิเศษจากกิจการของรัฐ  เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ น้ำมันสำเร็จรูป สุรา ยาสูบ  โดยอัตราการเก็บภาษีน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ประมาณ 0.975-6.5 บาท/ลิตร ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำมัน ในปัจจุบัน ภาษีสรรพสามิตดีเซลและเบนซินเฉลี่ย อยู่ที่ 1.34 บาท/ลิตร และ 4.88 บาท/ลิตร ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาษีสรรพสามิตดีเซลในอัตราปัจจุบันได้รับการลดหย่อนจากภาครัฐแล้วที่ 5 บาท/ลิตร ซึ่งมาตรการอุดหนุนดังกล่าวคาดว่าจะสิ้นสุดใน 20 พ.ค. 2566 
 
3) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นเงินที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมัน เพื่อนำไปใช้ชดเชยราคาน้ำมันในกรณีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนสูง หรือแพงเกินไป โดยในปี 2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยที่ 4.02 บาท/ลิตร ขณะที่เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯเพิ่มจากน้ำมันเบนซินเฉลี่ยที่ 1.24 บาท/ลิตร2
 
 
4) ค่าการตลาด เป็นกำไรขั้นต้นก่อนหักค่าใช้ในการดำเนินงาน เช่น ค่าขนส่งค่าแรงงาน และค่าใช้จ่ายบริหารและการตลาด ของผู้ค้าน้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมด ซึ่งแบ่งกันระหว่างบริษัทค้าน้ำมันสำเร็จรูป เช่น บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) และเจ้าของสถานีบริการเชื้อเพลิง (ปั๊มน้ำมัน) โดยในปี 2565 ค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลและเบนซินเฉลี่ยอยู่ที่ 1.28 บาท/ลิตร และ 3.03 บาท/ลิตร ตามลำดับ  
 
 
 
 
II. แนวโน้มราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูป ในปี 2566-2567 จะเป็นอย่างไร? 
 
ในบทความนี้จะเน้นการวิเคราะห์ทิศทางราคาน้ำมันดีเซลเป็นหลักเนื่องจากเป็นต้นทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการขนส่งทางถนนที่มีสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลสูงถึงราว 60% ของปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมดในไทย  ขณะที่น้ำมันเบนซินส่วนใหญ่ถูกใช้ในรถยนต์ส่วนบุคคลในภาคครัวเรือน 
 
 
ทิศทางราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในปี 2566 ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการราคาในปี 2565 โดยในปี 2565 ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเฉลี่ยของไทยแม้จะเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 25.9 บาท/ลิตร ในปี 2564 เป็น 33.1 บาท/ลิตร หรือราว 7 บาท/ลิตร แต่การเพิ่มขึ้นของราคาขายปลีกนั้นน้อยกว่าการปรับขึ้นของราคาหน้าโรงกลั่นที่เพิ่มขึ้นจาก 16.4 บาท/ลิตร ในปี 2564 เป็น 30.2 บาท/ลิตร หรือราว 14 บาท/ลิตร ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มขึ้นจาก 68.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ในปี 2564 เป็น 97.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล  สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาครัฐได้อุดหนุนราคาขายปลีกดีเซลเฉลี่ยทั้งปี 2565 ถึง 4 บาท/ลิตร อีกทั้ง ยังปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเฉลี่ยลงจาก 6.3 บาท/ลิตร ในปี 2564 เป็น 3.3 บาท/ลิตร ดังนั้น การบริหารจัดการราคาของรัฐพยุงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในปี 2565 ไว้ราว 7 บาท/ลิตร ซึ่งการบริหารจัดการนี้เองจะส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาในปี 2566 
 
 
สำหรับปี 2566 Krungthai COMPASS คาดว่าราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นจาก 33.1 บาท/ลิตร ในปี 2565 เป็น 34.7 บาท/ลิตร ในปี 2566 โดยมีสาเหตุหลักจาก 1) คาดว่าคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะกลับมาเก็บเงินจากน้ำมันดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีกครั้ง หลังจากนำเงินจากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปอุดหนุนราคาขายปลีกดีเซลในปี 2565 2) ภาครัฐมีแนวโน้มปรับภาษีสรรพสามิตดีเซลเพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้ 
 
1) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีแนวโน้มจะกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันดีเซลที่ราว 2.7 บาท/ลิตร7 เทียบกับปี 2565 ที่เคยอุดหนุนถึง 4 บาท/ลิตร เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท (ณ 29 ม.ค. 2566) โดย Krungthai COMPASS คาดว่า กบน.จะเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยราว 4.9 บาท/ลิตร ในช่วง 1 ม.ค.2566 -20 พ.ค. 2566 และจะลดการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลงเหลือเพียง 1.2 บาท /ลิตร ตั้งแต่ 20 พ.ค. 2566 หลังมาตรการลดหย่อนภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร สิ้นสุดลง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ในช่วง 33-35 บาท/ลิตร ตามแนวทางของภาครัฐ  
 
 
2) ภาครัฐมีแนวโน้มการปรับเพิ่มการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 บาท/ลิตร ในปี 2566 เทียบกับปี 2565 ที่ 3.3 บาท/ลิตร เพราะคาดว่าภาครัฐจะปรับภาษีสรรพสามิตดีเซล ซึ่งเมื่อรวมถึงภาษีเทศบาลเพิ่มขึ้นจาก 1.47 บาท/ลิตร เป็น 6.97 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2566 ในกรณีที่ภาครัฐไม่ต่ออายุการลดหย่อนภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร
 
 
แม้ว่าการเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและการกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของภาครัฐในปี 2566 สามารถทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นได้ถึง 8.2 บาท / ลิตร อย่างไรก็ดี ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเพียง 1.6 บาท / ลิตรในปี 2566 เพราะราคาหน้าโรงกลั่นเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลงจาก 30.2 บาท/ลิตร ในปี 2565 เป็น 23.6 บาท/ลิตร ในปี 2566 โดยมีสาเหตุหลัก ดังนี้ 
 
1) ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบนหลักของโรงกลั่นน้ำมันของไทยลดลงจาก 97.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ในปี 2565 เป็น 80.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล ในปี 2567 เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.1% YoY ในปี 2566 ซึ่งเป็นผลจากการมีกำลังการผลิตใหม่ของน้ำมันดิบจากหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ บราซิล แคนาดา และนอร์เวย์ ที่มีแผนจะเข้าสู่ตลาดในปี 2566  
 
2) ค่าการกลั่น (GRM) ของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของไทย มีแนวโน้มลดลงจาก 20.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ในปี 2565 เป็น 8.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล ในปี 25668 เพราะความต้องการในการกลั่นน้ำมันในสิงค์โปร์คาดว่าจะชะลอลง หลังจากน้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซียมีแนวโน้มเข้ามาเอเชียมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากสหภาพยุโรปที่ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันจากรัสเซียตั้งแต่ 5 ก.พ. 2566  
 
 
สำหรับปี 2567 คาดว่าราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเฉลี่ยจะกลับมาลดลงเหลือ 32.9 บาท/ลิตร โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1) ราคาน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นเฉลี่ยทั้งปีคาดจะลดลงในปี 2567 2)คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีแนวโน้มปรับลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้ 
 
 
1.ราคาหน้าโรงกลั่นของน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มลดลงจาก 23.6 บาท/ลิตร ในปี 2566 เป็น 21 บาท/ลิตร ในปี 2567 โดยมีสาเหตุมาจาก 1) ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบนหลักของโรงกลั่นน้ำมันของสิงคโปร์และไทยลดลงจาก 80.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ในปี 2566 เป็น 79.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล ในปี 2567  เพราะปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.5% YoY ในปี 2567 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ9 และ 2) ค่าการกลั่น (GRM) ของสิงคโปร์ มีแนวโน้มลดลงจาก 8.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ในปี 2566 เป็น 7.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล ในปี 2567   เนื่องจากความต้องการในการกลั่นน้ำมันในสิงค์โปร์คาดว่าจะชะลอลง หลังน้ำมันสำเร็จรูปจากคูเวตมีแนวโน้มเข้ามาในเอเชียมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากโรงกลั่นน้ำมันแบบ Complex Refinery แห่งใหม่ของคูเวตที่มีแผนทยอยเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปจนเต็มกำลังการผลิตภายในปี 2567  
 
 
2. คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีแนวโน้มปรับลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยจาก 2.7 บาท/ลิตร ในปี 2566 เป็น 1.2 บาท / ลิตร ในปี 2567  เนื่องจาก Krungthai COMPASS มองว่า ภาครัฐมีแนวโน้มปรับภาษีสรรพสามิต ซึ่งเมื่อรวมถึงภาษีเทศบาลเพิ่มขึ้นจาก 1.47 บาท/ลิตร เป็น 6.97 บาท/ลิตร หากภาครัฐไม่ต่ออายุการลดหย่อนภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 20 พ.ค. 2566 
 
ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ยังมีทิศทางขาขึ้นในปี 2566 ย่อมสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้น้ำมันดีเซลอย่างเข้มข้น เช่น กลุ่มธุรกิจขนส่ง เพราะภาคส่วนนี้มีสัดส่วนต้นทุนน้ำมัน ซึ่งส่วนมากเป็นน้ำมันดีเซล ต่อต้นทุนทั้งหมดเฉลี่ยสูงถึง 39.9% ในปี 2565  ดังนั้น Krungthai COMPASS จึงจะได้วิเคราะห์ผลกระทบจากค่าน้ำมันดีเซลต่อกำไรสุทธิของภาคธุรกิจดังกล่าวในหัวข้อถัดไป  
 
 
 
 
III. แนวโน้มค่าน้ำมันดีเซลจะส่งผลกระทบต่อกำไรของภาคธุรกิจของไทยมากน้อยเพียงใด? 
 
Krungthai COMPASS ประเมินว่า ทุก 1% ของค่าน้ำมันดีเซลเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น จะทำให้อัตรากำไรสุทธิโดยรวมของธุรกิจของไทยลดลงประมาณ 0.06% ซึ่งอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าต้นทุนอื่นๆ นอกเหนือจากค่าน้ำมันดีเซล และรายได้คงที่ในช่วงปี 2564-67  โดยเป็นการประเมินจากสัดส่วนต้นทุนน้ำมันต่อต้นทุนทั้งหมดของธุรกิจทั้งหมด 180 ประเภทจาก I/O Table ของสภาพัฒน์ฯ ซึ่งพบว่า สัดส่วนระหว่างค่าน้ำมัน ซึ่งส่วนมากเป็นน้ำมันดีเซลและต้นทุนทั้งหมดเฉลี่ยของธุรกิจโดยรวมอยู่ที่ราว 7.5% ในปี 2565  ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับราคาขายปลีกน้ำดีเซลเฉลี่ยทั้งปี 2566 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.9%YoY (เพิ่มขึ้นจาก 33.06 บาท/ลิตร ในปี 2565 เป็น 34.67 บาท/ลิตร ในปี 2566) จะส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยของภาคธุรกิจโดยรวมลดลงจาก 0.67% ในปี 2565 เป็น 0.38% ในปี 2566 สำหรับปี 2567 ที่ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มลดลง 5.0%YoY (ลดลงจาก 34.67 บาท/ลิตร ในปี 2566 เป็น 32.92 บาท/ลิตร ในปี 2567) ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยของภาคธุรกิจของไทยเพิ่มขึ้นจาก 0.38% ในปี 2566 เป็น 0.7% ในปี 2567
 
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลค่อนข้างมาก เป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนต้นทุนน้ำมันต่อต้นทุนทั้งหมดที่สูงในปี 2565  ได้แก่ ธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเล (ค่าน้ำมันคิดเป็น 53.80% ของต้นทุนทั้งหมด14) ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนน (40.31%14) ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนน(26.32%)  ธุรกิจผลิตเหล็กและเหล็กกล้าแผ่น(12.72%14) และธุรกิจผลิตน้ำมันปาล์ม (11.30%14) เมื่อพิจารณาจากธุรกิจที่ใช้น้ำมันอย่างเข้มข้น พบว่า ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนและธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนใช้น้ำมันดีเซลมากที่สุดในประเทศ สะท้อนจากสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลของภาคส่วนนี้ที่สูงถึงราว 60% ของปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมดใน 10 เดือนแรกของ ปี 2565  ดังนั้น Krungthai COMPASS จึงมาวิเคราะห์ผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลต่ออัตรากำไรสุทธิของธุรกิจทั้งสอง ดังนี้
 
 
อัตรากำไรสุทธิของธุรกิจที่ใช้น้ำมันดีเซลอย่างเข้มข้น อย่างธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนและธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนมีแนวโน้มลดลง 0.43% และ 0.27% หากราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1% โดยเป็นการประเมินภายใต้สมมุติฐานที่ต้นทุนอื่นๆ นอกเหนือจากค่าน้ำมันดีเซลและรายได้คงที่ในช่วงปี 2564-67 ดังนั้น หากสัดส่วนระหว่างค่าน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดีเซล และต้นทุนทั้งหมดของธุรกิจดังกล่าวอยู่ที่  40.31% และ 26.32% และราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเป็น 34.7 บาท/ลิตร ในปี 2566 และ 32.9 บาท/ลิตร ในปี 2567 (รูปที่ 3) 
 
 
 
 
 
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้อัตรากำไรสุทธิของธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางถนนลดลงจาก -4.30% ในปี 2565 เป็น -6.35% ในปี 2566 ก่อนที่จะฟื้นตัวเป็น -4.13% ในปี 2567 ส่วนอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยของธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนจะลดลงจาก -0.54% ในปี 2565 เป็น –1.83% ในปี 2566 ก่อนที่จะฟื้นตัวเป็น -0.43% ในปี 2567
 
ค่าน้ำมันดีเซลที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปี 2566 ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มขนส่งทางถนน จำเป็นต้องหาแนวทางในการลดการใช้น้ำมันในการขนส่งสินทางถนน รวมถึงการใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากค่าน้ำมันในอนาคต ซึ่งจะอธิบายแนวทางดังกล่าวในหัวข้อถัดไป  
 
 
VI. แนวทางในการลดการใช้น้ำมันของภาคธุรกิจ 
 
ภาคธุรกิจโดยรวมของไทย โดยเฉพาะภาคขนส่งทางถนนใช้น้ำมันดีเซลอย่างเข้มข้น คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาน้ำมันปลีกดีเซลที่คาดว่ายังอยู่ในระดับสูงในอีก 1-2 ปี ข้างหน้า โดยมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมของการใช้ยานพาหนะที่ไม่เหมาะสม เช่น ขับยานพาหนะเร็วเกินไป ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันสูงสุดถึง 27%  ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาแนวทางในการลดพฤติกรรมดังกล่าว รวมถึงแนวทางในการปรับตัว เพื่อลดผลกระทบจากค่าน้ำมันดีเซลในระยะข้างหน้า โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
 
• ควรติดตั้งเทคโนโลยี Real-time GPS Tracking หรือ Telematics ในยานพาหนะขนส่งสินค้า หรือยานพาหนะโดยสาร เพื่อควบคุมพฤติกรรมการใช้ยานพาหนะที่สิ้นเปลืองน้ำมัน เช่น ขับยานพาหนะเร็วเกินข้อกำหนดตามกฎหมาย ขับยานพาหนะนอกเส้นทางที่กำหนด และจอดรถยานพาหนะติดเครื่องและเปิดเครื่องปรับอากาศนอน โดยวิธีดังกล่าวจะช่วยลดการใช้น้ำมันของยานพาหนะประมาณ 10-30%16
 
• ควรจัดตั้งคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า ตามแหล่งต่างๆ ที่สามารถส่งต่อไปยังจังหวัดและประเทศเพื่อนบ้านของลูกค้าหลัก รวมถึงการรวบรวมสินค้าจากผู้ประกอบการหลายราย ไว้ที่จุดพักสินค้า แล้วจัดเส้นทางการขนส่งสินค้าร่วมกันด้วย เพื่อลดระยะเวลาขนส่งสินค้า และระยะเวลาในการรอสินค้าของผู้ซื้อ รวมทั้ง ลดพื้นที่ว่างในการขนส่งสินค้าและขนส่งเที่ยวเปล่าในแต่ละเที่ยว ซึ่งทำให้การใช้น้ำมันในการขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น 
 
• ควรเปลี่ยนมาใช้รถบรรทุกไฟฟ้าแทนการใช้รถบรรทุกเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันดีเซล (Internal Combustion Engine: ICE)  เนื่องจากการหันมาใช้รถบรรทุกไฟฟ้าจะช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยได้ถึง 50% แม้ว่าราคารถบรรทุกไฟฟ้าสูงกว่ารถบรรทุกทั่วไปประมาณ 2 เท่า แต่รถบรรทุกทั่วไปมีค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงมาก เพราะมีระยะทางการขนส่งเฉลี่ยมากกว่า 100,000 กิโลเมตร / ปี จึงทำให้คุ้มค่าในการลงทุนซื้อภายใน 3-4 ปี โดยรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ในบทความเรื่อง “Green Logistics เมื่อบริบทโลกเปลี่ยนไป...การขนส่งสินค้าทางถนนไทยต้องเปลี่ยนตาม “ 

บทสรุป
ค่าน้ำมันถือเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจโดยรวมของไทย โดยคาดว่าราคาน้ำมันจะยังอยู่ในระดับสูงในช่วงปี 2566-67 เนื่องจากภาครัฐมีแนวโน้มที่จะเก็บเงินเพิ่มจากการขายน้ำมันดีเซล เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันฯ ที่ติดลบสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท ณ 29 ม.ค. 2566 หลังจากภาครัฐอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลสูงถึง 4 บาท/ลิตร ราคาน้ำมันในระดับดังกล่าว ส่งผลให้กำไรสุทธิของภาคธุรกิจมีแนวโน้มลดลง  โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ใช้น้ำมันดีเซลอย่างเข้มข้น เช่น กลุ่มธุรกิจขนส่ง ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัวโดยมีตัวอย่างทางเลือก ได้แก่ 1) การติดตั้งเทคโนโลยี Real-time GPS Tracking หรือ Telematics 2) ควรตั้งศูนย์กระจายสินค้า ตามแหล่งต่างๆ ที่อยู่ใกล้กับจังหวัด ของลูกค้าหลัก รวมทั้งขนส่งสินค้าร่วมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ใช้เส้นทางร่วมกัน 3) หันมาใช้รถบรรทุกไฟฟ้าแทนที่การใช้รถบรรทุกเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันดีเซล 
 
 
พงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ
Krungthai COMPASS
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 มี.ค. 2566 เวลา : 11:30:06
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 10:57 pm