เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 34.30 - 35.00 จังหวะที่ยากขึ้นสำหรับเฟด


 
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.30-35.00 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 35.03 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโร เยนและฟรังก์สวิสในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่มีความเชื่อมโยงสูงกับเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนจากการทบทวนแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯที่ยกสูงขึ้นหลังประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)เปิดโอกาสสำหรับการกลับไปขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 50bp ขณะที่กระบวนการลดลงของเงินเฟ้อ(Disinflationary Process) เชื่องช้าเกินไป อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯดิ่งลงอย่างมีนัยสำคัญในเวลาต่อมาท่ามกลางความตึงเครียดในภาคการเงินสหรัฐฯ ส่วนข้อมูลเดือนก.พ.บ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากค่าจ้างชะลอลงขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน (Labor Force Participation) กระเตื้องขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 10,381 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 9,116 ล้านบาท
 
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะติดตามดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ.ของสหรัฐฯ รวมถึงการประชุมธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)ซึ่งคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 50bp สู่ระดับ 3.00% อนึ่ง ในภาพใหญ่การสั่งปิด Silicon Valley Bank ซึ่งถือเป็นการล้มละลายของธนาคารรอบล่าสุดสะท้อนความเปราะบางด้านสภาพคล่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมาแม้ในเวลานี้ยังไม่ใช่ความเสี่ยงเชิงระบบอย่างเต็มรูปแบบ โดยการเข้าแทรกแซงภาคการเงินของทางการสหรัฐฯอาจช่วยระงับความตื่นตระหนกช่วงสั้น อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของตลาดการเงินโลกสนับสนุนมุมมองเชิงบวกต่อค่าเงินเยนของเราในปีนี้ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกย่อลงและความผันผวนสูงขึ้น แม้ในการประชุมครั้งล่าสุดธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)จะคงนโยบายผ่อนคลายมากเป็นพิเศษก็ตาม
 
สินทรัพย์สกุลเงินตลาดเกิดใหม่รวมถึงเงินบาท เราประเมินอย่างระมัดระวังว่าแรงขายดอลลาร์จากประเด็นที่เฟดมีแนวโน้มจะลดความแข็งกร้าวในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. (จากกรณีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบ) อาจถูกจำกัดด้วยความวิตกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไปซึ่งมีความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้น

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 มี.ค. 2566 เวลา : 13:33:26
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 12:52 am