เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.75% ตามคาด ในกรณีฐาน SCB EIC มองดอกเบี้ยนโยบายไทยปรับขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 2% ในช่วงกลางปีนี้


 
กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.5% เป็น 1.75% ต่อปี เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า และคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังสูงและสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีนี้ แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูงและมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนและแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องมีความสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ประเมินไว้

กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.6% และ 3.8% ในปี 2023 และ 2024
 
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบทุกสัญชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน รวมถึงเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ 1 เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า โดยคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 

กนง. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.9% และ 2.4% ในปี 2023 และ 2024
 
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีนี้ ตามแรงกดดันด้านอุปทานจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะปรับลดลงจากปี 2022 มาอยู่ที่ 2.4% ในปี 2023 ก่อนจะทยอยปรับลดลงมาอยู่ที่ 2% ในปี 2024 อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง อีกทั้ง มีแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

กนง. ประเมินว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลต่อระบบการเงินไทยอย่างมีนัยสำคัญ
 
เนื่องจากสถาบันการเงินและภาคธุรกิจไทยมีความเชื่อมโยงไม่มากนักกับสถาบันการเงินและสินทรัพย์เสี่ยงที่เกิดปัญหา รวมถึงธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น จึงควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง ด้านภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยตึงตัวขึ้นบ้างจากต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนที่ปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน ตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีความไม่แน่นอน และตลาดการเงินโลกที่ผันผวนขึ้นจากปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก 
 
 
SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2023 มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่เคยประเมินไว้ 
 
จากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่เร็วและแรงกว่าคาด โดย SCB EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้เป็น 3.9% จากเดิม 3.4% (รูปที่ 1) และปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2023 ขึ้นจาก 28 ล้านคนเป็น 30 ล้านคน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ตลาดแรงงานและการบริโภคฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ พบว่า อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้น ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภคปรับสูงขึ้น ตลาดแรงงานฟื้นตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้หลายมิติเข้าใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิดมากขึ้น และแม้ว่าความเปราะบางในตลาดแรงงานยังคงมีอยู่ แต่มีแนวโน้มปรับลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว
 
รูปที่ 1 : SCB EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2023 เป็น 3.9% จากเดิม 3.4%
 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ CEIC 

อัตราเงินเฟ้อไทยในปี 2023 มีแนวโน้มชะลอลง และคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3% ได้ในปีนี้ 
 
SCB EIC คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงสู่ 2.7% จากราคาพลังงานโลกที่ปรับลดลงและมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศที่มีต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้ คาดว่าจะปรับลดลงสู่ 2.4% โดยในระยะต่อไป อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจปรับลดลงไม่เร็วนัก จากการทยอยส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค และแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
 
 
รูปที่ 2 : การขยายตัวของดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.พ. 2023 จำแนกตามประเภทสินค้า


 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

IMPLICATIONS
 
1. SCB EIC ประเมินว่า Neutral rate ของไทยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 2.5% โดย กนง. จะสามารถทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว บนเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องในระยะข้างหน้า และ (2) แนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจะช่วยดูแลให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ในปีนี้ตามที่ กนง. ประเมินไว้ 

SCB EIC ได้ประเมิน Neutral rate หรือระดับอัตราดอกเบี้ยที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในระยะยาวที่มีระดับผลผลิต ณ ระดับศักยภาพ และระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปมีเสถียรภาพในระยะยาวตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สะท้อนบทบาทของนโยบายการเงินที่เป็นกลาง (ไม่ได้ตึงตัวหรือผ่อนคลาย) ในการประเมินครั้งนี้ได้นำสมการ Taylor’s rule มาใช้ในการวิเคราะห์ร่วมกับการพิจารณาผ่าน Central bank’s loss function  เพื่อหา Path ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ระดับ Neutral rate ที่เหมาะสม สามารถลด Inflation gap และ Output gap paths ที่จะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจให้เหลือน้อยที่สุดได้ 

โดยประเมินว่า Neutral rate ล่าสุดของไทยอยู่ที่ 2.5% ซึ่งเป็นระดับที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ ณ ระดับศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ 1-3% บทบาทของนโยบายการเงินเป็นกลางมากขึ้นโดยสะท้อนจากระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงเป็นลบน้อยลงและใกล้ค่าศูนย์มากขึ้น ดังนั้น SCB EIC จึงคาดว่า กนง. อาจจะปรับนโยบายการเงินให้กลับเข้าสู่ระดับปกติที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยมี Path การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไปสู่ระดับ Terminal rate ที่ 2.5% ได้ใน 2 กรณีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด (รูปที่ 3) ดังนี้
 
1. Base case : กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2% ในเดือน พ.ค. และคงไว้ตลอดปีนี้ เพื่อประเมินสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง ที่เศรษฐกิจโลกอาจมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงได้จาก Downside risks เช่น ผลของนโยบายการเงินโลกตึงตัว (Lag effect) และความไม่แน่นอนของปัญหาสถาบันการเงินในบางประเทศหลักขาดสภาพคล่อง รวมถึงเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยทั่วถึงมากขึ้นท่ามกลางภาวะการเงินตึงตัว สะท้อนจากการฟื้นตัวของรายได้ภาคธุรกิจและครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ก่อนจะเริ่มตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ Terminal rate ที่ 2.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 
 
2. Better case : หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และมีแรงกดดันเงินเฟ้อจากอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องครั้งละ 25 BPS ไปสู่ระดับ Terminal rate ที่ 2.5% ในไตรมาส 3 ของปีนี้และคงไว้ เพื่อให้กลไกดอกเบี้ยนโยบายส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป

รูปที่ 3 : นโยบายการเงินมีแนวโน้มกลับสู่ระดับปกติ ที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดย SCB EIC ประเมินว่า Neutral rate ของไทยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 2.5% 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC 
 
 
2. ต้นทุนการระดมทุนของไทยจะปรับสูงขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยจะปรับสูงขึ้นทั้งในตลาดสินเชื่อและตลาดพันธบัตร (รูปที่ 4) นอกจากนี้ SCB EIC พบว่า การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่อัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นครั้งนี้ ปรับลดลงจากวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในอดีต (รูปที่ 5) โดยพบว่ามีการส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนมากที่สุด (62.5%) รองลงมาคือส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีหรือ MLR (54.5%) ขณะที่ส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือ MRR น้อยที่สุด (21.5%) ซึ่งสอดคล้องกับการสื่อสารของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาที่ให้ระบบธนาคารพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ธนาคารจึงพยายามระมัดระวังการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (M-rates) เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอีก 0.4% ในเดือนมกราคม 2023 จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยกเลิกการปรับลด FIDF fee เหลือ 0.23% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทปรับเพิ่มขึ้นทันที 40 BPS
 
 
รูปที่ 4 : ต้นทุนการระดมทุนของไทยปรับสูงขึ้นทั้งในตลาดสินเชื่อและตลาดพันธบัตร


 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย
 
รูปที่ 5 : การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่อัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นครั้งนี้ปรับลดลงจากอดีต

 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/policy-rate-290323



ผู้เขียนบทวิเคราะห์
ณิชนันท์ โลกวิทูล (nichanan.logewitool@scb.co.th) นักวิเคราะห์

ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์  นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
จงรัก ก้องกำชัย นักวิเคราะห์
ณิชนันท์ โลกวิทูล นักวิเคราะห์
ปัณณ์ พัฒนศิริ นักวิเคราะห์
วิชาญ กุลาตี นักวิเคราะห์
ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา นักวิเคราะห์

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 มี.ค. 2566 เวลา : 20:24:34
21-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 21, 2024, 8:10 am