เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "ดัชนี KR-ECI เดือนมี.ค.66 ปรับตัวลดลง ครัวเรือนเริ่มกังวลภาระในการชำระหนี้มากขึ้น"


 
การสำรวจในเดือนมี.ค. 66 ครัวเรือนไทยมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภาระในการชำระหนี้สอดคล้องกับทิศทางการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการส่งผ่านดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยหนุนด้านการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการชะลอตัวของราคาสินค้าไม่เพียงพอให้ครัวเรือนลดความกังวลเกี่ยวกับภาระการครองชีพในภาพรวมได้ ส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าปรับลดที่ 35.8 และ 37.6 จาก 36.6 และ 38.6 ในเดือนก.พ.66

นอกจากนี้ ผลจากการสอบถามครัวเรือนเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นการจับจ่ายใช้สอยในเดือนเม.ย.66 ที่มีช่วงเทศกาลวันหยุดยาวพบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ (56%) คาดว่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยถือเป็นโอกาสดีที่จะได้สังสรรค์กับครอบครัว/เพื่อน แต่อีกส่วนหนึ่งคาดว่าจะไม่เพิ่มการใช้จ่ายเนื่องจากค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง

ในระยะข้างหน้าดัชนี KR-ECI ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้แต่เปราะบางจากปัจจัยเสี่ยงที่หลากหลาย โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นที่เข้ามากดดันการบริโภคของครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวที่จะช่วยหนุนมุมมองที่ดีต่อรายได้และการจ้างงาน

ดัชนี KR-ECI เดือนมี.ค. 66 ปรับลดลง โดยเริ่มเห็นความกังวลของครัวเรือนที่มากขึ้นต่อภาระในการชำระหนี้ ท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

ในเดือนมี.ค. 66 ท่ามกลางทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในปัจจุบันส่งผลให้เริ่มเห็นความกังวลที่มากขึ้นของครัวเรือนเกี่ยวกับภาระหนี้สิน โดยสะท้อนผ่านองค์ประกอบดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ด้านภาระในการชำระหนี้ของครัวเรือนในเดือนนี้ลดลง (กังวลเพิ่มขึ้น) อย่างมีนัยสำคัญที่ 42.3 จาก 46.8 ในเดือนก.พ.66 ทั้งนี้ ได้เริ่มเห็นความกังวลของครัวเรือนที่มีต่อประเด็นดังกล่าวตั้งแต่ในเดือนม.ค.66 ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตั้งแต่เดือนส.ค. 65 โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ที่ 1.75% ต่อปี (มติ กนง. เมื่อวันที่ 29 มี.ค.66) และพบว่าในเดือนธ.ค.66 เริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มลูกค้ารายย่อย (MRR) โดยขณะนี้มีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวแล้วทั้งสิ้นประมาณ 0.90% ซึ่งต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้มากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะกดดันการบริโภคของครัวเรือนในอนาคต ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้ามีความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ออีก 1 ครั้ง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะอยู่ที่ 2.00% ต่อปี ณ สิ้นปี 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการฟื้นตัวดีต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย อัตราเงินเฟ้อที่แม้ปรับลดลงเร็ว (เดือนมี.ค. 66 อยู่ที่ 2.83%YoY) แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจกลับมาผันผวนได้ และความเป็นไปได้ที่เฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ ดังนั้น จากทิศทางดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในขาขึ้น คาดว่าจะยังคงกดดันดัชนี KR-ECI รวมถึงการบริโภคของครัวเรือนในระยะข้างหน้าท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ที่สูงขึ้น โดยแม้ว่าการชะลอลงของเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งได้สนับสนุนมุมมองที่ดีในด้านราคาสินค้า รายได้และการจ้างงานในระยะข้างหน้า แต่ก็ไม่เพียงพอให้ครัวเรือนลดความกังวลเกี่ยวกับภาระการครองชีพได้ โดยดัชนี KR-ECI ในปัจจุบัน (เดือนมี.ค. 66) และ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงที่ 35.8 และ 37.6 จาก 36.6 และ 38.6 ในเดือนก.พ.66

 
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สอบถามครัวเรือนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคาดการณ์การจับจ่ายใช้สอยในเดือนเม.ย.66 ซึ่งมีช่วงเทศกาลวันหยุดยาวของครัวเรือนว่าจะมีความแตกต่างจากเดือนก่อนหน้าหรือไม่ พบว่าครัวเรือนส่วนมาก (56%) คาดว่าจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้สังสรรค์กับครอบครัวและเพื่อน ขณะที่ครัวเรือนอีกจำนวนหนึ่ง (44%) คาดว่าจะไม่เพิ่มการใช้จ่ายจากเดือนก่อนหน้า โดยในจำนวนนี้ 33% ยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูง เช่น ค่าไฟ ขณะที่ครัวเรือนมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ส่งผลให้ไม่เพิ่มการใช้จ่ายในเดือนนี้ เช่น ต้องการเก็บออมเงินในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน มีความกังวลว่าราคาสินค้า/บริการในช่วงเทศกาลจะปรับขึ้น เป็นต้น

 
ในระยะข้างหน้า ดัชนี KR-ECI ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างเปราะบาง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่หลากหลาย โดยการปรับลดของดัชนีในเดือนนี้สะท้อนว่า ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นส่งผลต่อมุมมองที่กังวลเกี่ยวกับภาระการครองชีพของครัวเรือนที่มากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะอานิสงส์จากจีนที่คาดว่าจะมีมากขึ้นหลังมีการยกเลิกมาตรการควบคุม โควิดเมื่อช่วงต้นปีที่คาดว่าจะสามารถสร้างมุมมองที่ดีเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงานของครัวเรือนได้

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปัจจุบัน (มี.ค.66) และดัชนี 3 เดือนข้างหน้าปรับลดเล็กน้อยที่ 35.8 และ 37.6 จากเดือนก.พ.66 ที่ 36.6 และ 38.6 ตามลำดับ โดยครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภาระในการชำระหนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และการชะลอตัวของราคาสินค้า แต่ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าหลังการเลือกตั้งรวมถึงปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงมากขึ้น

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 เม.ย. 2566 เวลา : 18:26:21
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 12:58 pm