การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ปลัด สธ.เปิดศูนย์ร่วมมือเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีฯ ในเด็ก ผ่าน 7 รพ. เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ลดอัตราเสียชีวิต


ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือจัดตั้งและเปิดศูนย์เชี่ยวชาญเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวนในเด็กและวัยรุ่น โดย 7 โรงพยาบาล พัฒนาทักษะบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ลดอัตราเสียชีวิตผู้ป่วยหัวใจในเด็ก พร้อมพัฒนางานวิชาการ

 
วันนี้ (25 เมษายน 2566) ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กทม.นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือและเปิดศูนย์ความร่วมมือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวนในเด็กและวัยรุ่น กรมการแพทย์ โดยมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

 
นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคหัวใจแต่กำเนิดในเด็ก เป็นโรคที่มีความยุ่งยากซับซ้อนและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ผู้ป่วยกว่าครึ่งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจเพื่อแก้ไขความผิดปกติ แต่ด้วยความซับซ้อนของโรคทำให้มีผู้ป่วยร้อยละ 10 จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดซ้ำ ซึ่งแต่ละครั้งจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจและระบบอื่นๆ ของร่างกายเด็กมากขึ้นตามไปด้วย โดยในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจกว่า 4,000 ราย ในจำนวนนี้ต้องกลับมารับการผ่าตัดซ้ำกว่า 400 ราย ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทดแทนลิ้นหัวใจเดิมที่เสื่อมสภาพ เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจซ้ำบ่อยที่สุด ทั้งนี้ การเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีผ่านทางสายสวน (percutaneous pulmonary valve implantation, PPVI) เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดระยะเวลาการรอคอยและลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดซ้ำได้ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 600,000- 1,000,000 บาท สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้เริ่มให้บริการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ปัจจุบันให้การรักษาไปแล้ว 50 ราย จากการติดตามผู้ป่วยต่อเนื่องกว่า 10 ปี พบว่า ลิ้นหัวใจที่เปลี่ยนให้ผู้ป่วยสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยทั้งหมดกลับมามีชีวิตที่เป็นปกติ สามารถประกอบอาชีพดูแลตนเองและครอบครัวได้

 
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวนในเด็กและวัยรุ่น (International Training Hub for PPVI) ครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดการพัฒนาทักษะการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวนมากขึ้น สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจในเด็กและวัยรุ่นของประเทศ มีการพัฒนาระบบส่งต่อ ให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างสะดวก มีการ Benchmarking และเป็นแหล่งฝึกอบรมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงผลักดันผลงานทางวิชาการ งานวิจัยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นการตอบสนองนโยบายของประเทศ ที่มุ่งเน้นการบริการทางการแพทย์แบบครบวงจรอย่างไร้รอยต่อ และความเป็นเลิศในการรักษาโรคเฉพาะทางระดับตติยภูมิที่ยุ่งยากซับซ้อนแบบมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เชื่อว่าจะนำไปสู่การขยายความเข้มแข็งไปยังเขตสุขภาพต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดต่อไป
 

 
ด้าน นพ.ธงชัย กล่าวว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหัวใจเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, ศูนย์โรคหัวใจนราธิวาสราชนครินทร์ฯ และศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลราชวิถี ได้พัฒนาความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจร่วมในระดับสากลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ได้รับการสนับสนุนจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการดูแลโรคหัวใจแต่กำเนิดที่ยุ่งยากซับซ้อนในเด็กจาก Evelina London Children’s Hospital ประเทศอังกฤษ ทำให้มีความเข้มแข็งทั้งการรักษาผู้ป่วย และเกิดผลงานทางวิชาการจำนวนมาก

 
ส่วนการลงนามบันทึกความร่วมมือฉบับนี้ เป็นการขยายความร่วมมือและผลักดันผลงานทางวิชาการงานวิจัย การทำ Benchmarking โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยความร่วมมือของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหัวใจเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, ศูนย์โรคหัวใจนราธิวาสราชนครินทร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลราชวิถี, สถาบันโรคทรวงอก, โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และโรงพยาบาลหาดใหญ่
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 เม.ย. 2566 เวลา : 20:28:35
06-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 6, 2024, 9:19 am