เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ "เงินบาททยอยแข็งค่า ขณะที่ตลาดหุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน"


• เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 34.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามสัญญาณอ่อนแอของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ      
 
• SET Index ปรับตัวลงจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศ ประกอบกับเผชิญแรงขายลดเสี่ยงก่อนการประชุมเฟดสัปดาห์หน้า 

 
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
 
เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 34.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ 
เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ประกอบกับมีแรงหนุนจากข้อมูลการส่งออกของไทยที่หดตัวน้อยกว่าคาดในเดือนมี.ค.2566 และตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในเดือนมี.ค. 2566 ที่บันทึกยอดเกินดุลสูงถึง 4.78 พันล้านดอลลาร์ฯ โดยภาพดังกล่าวสวนทางเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งเผชิญแรงขาย หลังข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีสัญญาณอ่อนแอ อาทิ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2566 และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐานเดือนมี.ค.2566 นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งยังคงไม่ได้ข้อสรุป รวมถึงปัญหาความอ่อนแอของธนาคารบางแห่งในสหรัฐฯ 

ในวันศุกร์ที่ 28 เม.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (21 เม.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 24-28 เม.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยที่ 3,956 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตร 4,389 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 7,741 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้หมดอายุ 3,352 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (1-5 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.80-34.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (2-3 พ.ค.) ธนาคารกลางออสเตรเลีย (2 พ.ค.) และธนาคารกลางยุโรป (4 พ.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนเม.ย. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน และตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนมี.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI เดือนเม.ย. ของจีน ยูโรโซนและอังกฤษ และอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน

 
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
 
หุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาลงตลอดสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยเผชิญแรงขายทำกำไรเกือบตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย หลัง สศค. ปรับลดประมาณการจีดีพีไทยปี 2566 เป็น 3.6% จาก 3.8% ประกอบกับนักลงทุนบางส่วนลดสถานะเสี่ยงก่อนวันหยุดยาวและระหว่างรอผลการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า สำหรับสัปดาห์นี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลงมากสุด จากแรงฉุดของหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง หลังผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2566 ออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานยังเผชิญแรงกดดันจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ย่อตัวลง     
 

ในวันศุกร์ (28 เม.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,529.12 จุด ลดลง 1.88% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 42,611.43 ล้านบาท ลดลง 17.02% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.32% มาปิดที่ระดับ 501.99 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (1-5 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,515 และ 1,500 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,540 และ 1,555 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประชุมเฟด (2-3 พ.ค.) ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย.ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการงวดไตรมาส 1/66 ของบจ.ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนเม.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเม.ย. (เบื้องต้น) และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI เดือนเม.ย. ของจีน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 เม.ย. 2566 เวลา : 21:35:13
06-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 6, 2024, 7:00 pm