เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Krungthai COMPASS วิเคราะห์ "Bio Based Beauty เทรนด์ความสวยที่รักษ์โลก โอกาสและความท้าทายภาคธุรกิจไทย"


อุตสาหกรรมเครื่องสำอางนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์ SHEconomy ทำให้มูลค่าตลาดมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาด Bio Based Beauty ของไทยที่คาดว่า ในปี 2573 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 21,664 ล้านบาท เติบโตปีละ 13.0%CAGR นอกจากนี้ ประเมินว่า Bio Based Beauty จะสามารถเพิ่มอัตรากำไรสุทธิของผู้ประกอบการผลิตเครื่องสำอางจาก 5% เป็นถึงราว 15%

 
 
ปัจจัยสนับสนุน Bio Based Beauty คือ 1) จำนวนผู้หญิงในกลุ่มที่มีกำลังซื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Millennial 2) พฤติกรรมการบริโภคสินค้าของผู้หญิงที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม 3) เทคโนโลยีในการผลิตที่ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น 
 
 
แม้ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความพร้อมในการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไปสู่ตลาด Bio Based Beauty ได้ แต่ในการเข้าสู่ตลาดนี้ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อม ได้แก่ 1) พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่ม 2) ให้ความสำคัญเทรนด์บรรจุภัณฑ์ที่จะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน  3) ศึกษามาตรฐานการรับรองของฉลากและสัญลักษณ์บนเครื่องสำอาง เช่น มาตรฐาน Ecocert และ Green Dot
 
 
อุตสาหกรรมเครื่องสำอางนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์ SHEconomy หรือเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนโดยผู้หญิง ที่ทำให้มูลค่าตลาดเครื่องสำอางมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยมูลค่าตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกในปี 2565 อยู่ที่ราว 262 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ  และคาดว่าจะเติบโตไปอยู่ที่ราว 364 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2573 หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 4.2%CAGR   อย่างไรก็ดี จากการที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG ทำให้ธุรกิจเครื่องสำอางต้องปรับตัวด้วย เนื่องจากการผลิตเครื่องสำอางดั้งเดิมมีการใช้วัตถุดิบจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งกระบวนการผลิตดังกล่าวทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและสารมลพิษอื่นๆ รวมทั้งมีการใช้สาร BHA and BHT หรือสารกันหืน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ และก่อให้เกิดอาการแพ้ ทำให้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการผลิตเครื่องสำอางบางส่วนได้พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้วัตถุดิบที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติแทน หรือ Bio Based Beauty เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ 
 
 
Krungthai COMPASS มองว่า Bio Based Beauty เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจในธุรกิจผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ บทความนี้จึงจะนำทุกท่านไปทำความรู้จักกับ Bio Based Beauty ให้มากขึ้น รวมทั้งข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดนี้
 
Bio Based Beauty คืออะไร?


Bio Based Beauty คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบธรรมชาติ เช่น พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ ทดแทนวัตถุดิบดั้งเดิมที่ได้มาจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ทำให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสารมลพิษอื่นๆ ในกระบวนการผลิต ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ยังเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในกลุ่มที่มีอาการแพ้หรือระคายเคืองจากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสารเคมีสังเคราะห์
 
 
Bio Based Beauty ทำจากวัตถุดิบอะไรได้บ้าง?

วัตถุดิบที่ใช้ผลิต Bio Based Beauty สามารถสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติได้หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น
 
 
• น้ำมันจากธรรมชาติ (Natural Oils) เช่น น้ำมันจากข้าวสาลี (Wheat Germ Oil) ที่มีส่วนประกอบของวิตามินอี วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินเอฟ เลซิติน และสารออกฤทธิ์คล้ายเอสโตเจน ซึ่งนิยมใช้ในครีมลดรอยย่น และครีมบำรุงที่หล่อลื่นผิว หรือ น้ำมันอะโวคาโด (Avocado) ที่มีส่วนประกอบของวิตามินหลายชนิดและกรดไลโนเลอิก รวมทั้งฮอร์โมนจากพืช ซึ่งช่วยทำให้การกระจายตัวของน้ำมันบนผิวหนังดีขึ้นและดูดซึมได้ดี 
 
 
• พืชเกษตร (Agricultural Plants) เช่น ส้ม องุ่น อ้อย มะขาม ที่มีส่วนผสมของกรดชนิดหนึ่ง เรียกรวมว่ากรดผลไม้ หรือกรดอัลฟาไฮดรอกซี (AHA) มีฤทธิ์เร่งให้เซลล์ผิวหนังชั้นนอกสุดหลุดลอกออกไปเร็วขึ้นเพื่อให้เซลล์ชั้นล่างขึ้นมาแทนที่ไวขึ้น ทำให้ผิวแลดูขาวขึ้น เนียนขึ้น ลดริ้วรอย คงความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง ซึ่งนิยมใช้ในโทนเนอร์ผิวหน้า ครีมบำรุงผิวหน้าและผลิตภัณฑ์สำหรับการผลัดเซลล์ผิว
 
 
• สารสกัดจากสัตว์และจุลินทรีย์ (Animal and Microorganism) เช่น นมผึ้ง (Royal Jelly) ที่ประกอบด้วยวิตามินหลายชนิด โดยเฉพาะกลุ่มวิตามินบี กรดแพนโทเทนิก และฮอร์โมนเพศจากผึ้ง ช่วยให้ผิวหนังเต่งตึงขึ้นและเพิ่มการหมุนเวียนของเลือด หรือกรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) ที่ได้จากการสกัดจากสัตว์ โดยมีคุณสมบัติคล้ายฟองน้ำที่สามารถอุ้มน้ำไว้ในตัวได้ในปริมาณที่สูงกว่าพันเท่าของน้ำหนักตัว จึงสามารถป้องกันและหล่อลื่นเซลล์ต่างๆ ของผิวหนังเสมือนเป็นตัวเคลือบ ทำให้ผิวมีความเต่งตึงและเรียบเนียนขึ้น ซึ่งนิยมใช้ในครีมบำรุงผิวหน้าและเซรั่มบำรุงผิวหน้า
 
แล้วปัจจัยหนุน Bio Based Beauty มีอะไรบ้าง?
 
1. จำนวนผู้หญิงในกลุ่ม Millennial  ที่มีกำลังซื้อสูงและกล้าใช้จ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  โดยข้อมูลจาก Populationpyramid  ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2565 ผู้หญิงในกลุ่ม Millennials หรือผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน (ช่วงอายุ 27-42 ปี) จำนวน 1,180 ล้านคน มีสัดส่วน 29.8% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของโลก และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1,511 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 35.5% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของโลก ในปี 2573  ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพหนุนให้การใช้จ่ายโดยรวมของผู้หญิงทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนประชากรผู้หญิงกลุ่ม Millennials ของไทยที่มีจำนวนในปี 2565 อยู่ที่ราว 9.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 25.0% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของไทย และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 11.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 30.6% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของไทย ในปี 2573 (รูปที่ 1) 

 
2. พฤติกรรมการบริโภคสินค้าของผู้หญิงให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม สะท้อนจาก ผลสำรวจของ PowerReviews (2021)  เกี่ยวกับทัศนคติและพฤติกรรมการซื้อที่มีต่อสินค้าความงามของหญิงชาวอเมริกัน ชี้ให้เห็นว่า กว่า 3 ใน 4 ของผู้หญิงต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 69% ของผู้หญิงสนใจจะซื้อผลิตภัณฑ์ความงามที่มาจากธรรมชาติเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2020 สอดคล้องกับงานศึกษาของ Grand View Research ที่พบว่า ส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อความงามที่มีส่วนผสมทั้งหมดจากธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 6.1% ในปี 2565 เป็น 7.2% ในปี 2573 
 
 
 
3. เทคโนโลยีในการผลิต Bio Based Beauty ที่ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการผลักดันให้ตลาดนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ยกตัวอย่างเช่น
 
 
• เทคโนโลยีสกัดแบบเข้มข้น (Supercritical Fluid Extraction) คือ กระบวนการสกัดโดยใช้แรงดันและอุณหภูมิสูงที่ช่วยกักเก็บคุณสมบัติทั้งหมดของพืชหรือสารสกัดจากธรรมชาติให้อยู่ในสถานะที่บริสุทธิ์และปราศจากสารปนเปื้อนมากที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Bio Based Beauty เนื่องจากการสกัดที่ได้จะมีความเข้มข้นสูง อีกทั้งปริมาณสารสกัดที่ได้จะมากกว่าวิธีการสกัดทั่วไป นอกจากนี้ วิธีการสกัดแบบเข้มข้นยังมีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องใช้สารเคมีอันตรายในการสกัดสารจากวัตถุดิบด้วยวิธีอื่นๆ
 
 
• ระบบกักเก็บสารสำคัญด้วยเทคโนโลยีห่อหุ้มระดับนาโน (Nano Encapsulation) คือ เทคโนโลยีการผลิตอนุภาคขนาดเล็กของสารสกัดจากพืชหรือสารสกัดจากธรรมชาติ ช่วยกับเก็บสารสำคัญ ความคงตัว อัตราการดูดซึม และเพื่อยกระดับการนำส่งสารออกฤทธิ์ไปยังอวัยวะเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ Bio Based Beauty ให้สารประกอบสำคัญในเครื่องสำอางสามารถส่งผ่านผิวหนังได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การสกัดน้ำมันจากเมล็ดมะกอกในการผลิตลิปสติก โดยใช้เทคโนโลยี Nano Encapsulation จะช่วยให้ลิปสติกมีความชุ่มชื้นและคงตัวได้นานขึ้น
 
 
• สารจากการหมักเพื่อความงาม (Fermented Beauty) คือ การใช้เทคโนโลยีการหมักสารสกัดจากพืชหรือสารสกัดจากธรรมชาติ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของจุลินทรีย์ที่เกิดจากกระบวนการหมัก ทั้งนี้ การหมักไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นส่วนผสมที่ออกฤทธิ์ แต่ยังทำให้สารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระมีความเข้มข้นสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติและไม่มีส่วนผสมของสารเคมีอันตราย นอกจากนี้ ยังเสริมสร้างสารสร้างเนื้อเยื่อผิว ช่วยบำรุงผิวให้แข็งแรงและเต่งตึง ลดการอักเสบ ช่วยลดการเกิดสิวและความมันบนผิวหน้า ตัวอย่างเช่น อ้อยสามารถนำมาผลิตเป็น Hemisqualane (สารให้ความชุ่มชื้น) เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนและมาจากธรรมชาติ ซึ่งสามารถทดแทน Cyclomethicone ซึ่งเป็นซิลิโคนเหลวชนิดหนึ่ง ถูกจัดว่าเป็นสารตกค้างยาวนาน สะสมได้ในสิ่งมีชีวิตและเป็นพิษ (McPhee et al. 2014)
 
แล้วไทยมีโอกาสในตลาด Bio Based Beauty แค่ไหน?
 

Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2573 มูลค่าตลาด Bio Based Beauty ในไทย จะมีมูลค่าอยู่ที่ราว 21,664 ล้านบาท เติบโตปีละ 13.0%CAGR หรือคิดเป็น 6.7% ของมูลค่าตลาดเครื่องสำอางของไทย ซึ่งอยู่ที่ราว 323,000 ล้านบาท โดยวิธีประเมินมูลค่าตลาดตลาด Bio Based Beauty ในไทย มีสมมติฐานในการประมาณการ ดังนี้
 
 
1) พิจารณาจำนวนประชากรที่มีศักยภาพในการซื้อสินค้ากลุ่ม Bio Based Beauty คือ ผู้หญิงไทยในกลุ่ม Millennial เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงเมื่อเทียบกับผู้หญิงในช่วงวัยอื่นๆ โดยหากอ้างอิงจากงานศึกษาของ Populationpyramid พบว่าในปี 2573 จำนวนผู้หญิงในกลุ่ม Millennial ของไทยมีจำนวนอยู่ที่ 11.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 30.6% ของประชากรผู้หญิงทั้งหมดของไทย
 
 
2) กำหนดให้สัดส่วนประชากรหญิงไทยในกลุ่ม Millennial ที่จะซื้อสินค้าในกลุ่ม Bio Based Beauty (Penetration Rate) จะอยู่ที่ 7.2% ของจำนวนประชากรหญิงไทยในกลุ่ม Millennial ทั้งหมดในปี 2573 เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคสินค้าของผู้หญิงที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม ซึ่งอ้างอิงจากงานศึกษาของ Grand View Research 
 
 
3) ประมาณการค่าใช้จ่ายที่ประชากรหญิงไทยในกลุ่ม Millennial ที่จะซื้อผลิตความงามในกลุ่ม Bio Based Beauty ต่อปี โดยจากผลสำรวจของ Picodi และงานศึกษาของ The Economist Intelligence Unit ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับกำลังซื้อของผู้บริโภคหญิงชาวไทย พบว่า ในปี 2573 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการซื้อผลิตความงามในกลุ่ม Bio Based Beauty อยู่ที่ 26,394 บาทต่อปี สูงกว่าผลิตภัณฑ์ความงามทั่วไปซึ่งอยู่ที่ราว 21,995 บาทต่อปี หรือสูงกว่า 20.0%
 
 
 
 
ผู้ประกอบการเครื่องสำอางของไทยที่เข้าสู่การผลิต Bio-Based Beauty จะได้ประโยชน์อะไร?
 
 
Krungthai COMPASS ประเมินว่า การผลิต Bio Based Beauty ในไทย จะสามารถเพิ่มอัตรากำไรสุทธิให้กับภาคธุรกิจได้ โดยช่วยให้ผู้ผลิตมีอัตรากำไรเฉลี่ยเป็นราว 15% สูงกว่าอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยของการผลิตเครื่องสำอางทั่วไปซึ่งอยู่ที่ 5% โดยใช้โครงสร้างรายได้และต้นทุนการผลิตเฉลี่ยของอุตสาหกรรมผลิตเครื่องสำอางซึ่งคำนวณด้วยข้อมูลงบการเงินบริษัทจากกระทรวงพาณิชย์ และกำหนดให้ต้นทุนราคาวัตถุดิบ Bio Based Beauty สูงกว่าต้นทุนราคาวัตถุดิบเครื่องสำอางทั่วไป 12%  ขณะที่ผู้ประกอบการผลิต Bio Based Beauty สามารถปรับราคาขายได้สูงกว่าราคาเครื่องสำอางทั่วไปราว 20%  ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าปริมาณขาย และต้นทุนอื่นๆ ของเครื่องสำอางทั่วไป และ Bio Based Beauty เท่ากัน 
 
 
 
Implication:
 
Krungthai COMPASS มองว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความพร้อมในการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไปสู่ตลาด Bio Based Beauty ได้ เนื่องจาก ไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งภาครัฐให้การสนับสนุน เนื่องจากเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ผ่านการให้สิทธิพิเศษด้านการลงทุน อย่างไรก็ดี ในการเข้าสู่ตลาดนี้ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อม ดังนี้
 
 
• พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่ม เนื่องจากตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในท้องตลาดมี Segment ที่หลากหลาย เช่น ตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย ตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงมือ ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มได้มากขึ้น  
 
 
• ให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน อ้างอิงจากงานวิจัยของ Trivium Packaging ที่ระบุว่า ผู้บริโภคถึง 74% มองหา Sustainable Packaging รวมถึงมีความเต็มใจที่จะจ่ายมากขึ้นสำหรับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคเกือบครึ่งหนึ่ง บอกว่าจะหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลาสติกที่อาจก่อให้เกิดมลพิษในทะเล สอดคล้องกับกับข้อมูลของ Quantis (2020) พบว่า ผู้บริโภคทั่วโลกถึง 75% มองหาบรรจุภัณฑ์ที่ปราศจากพลาสติกหรือสามารถนำมาใช้ซ้ำและเติมได้
 
 
• ศึกษามาตรฐานการรับรองของฉลากและสัญลักษณ์บนเครื่องสำอาง เช่น มาตรฐาน Ecocert หรือ Green Dot ของสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและแพร่หลาย นอกจากนี้ ฉลากสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความนิยมในกลุ่มเครื่องสำอาง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการทดลองกับสัตว์ (Cruelty-Free) การค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) และการประเมินรอยเท้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Footprint)
 
 
 
 
กฤชนนท์ จินดาวงศ์
ปราโมทย์ วัฒนานุสาร
Krungthai COMPASS
 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 พ.ค. 2566 เวลา : 10:44:03
06-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 6, 2024, 10:04 pm