การค้า-อุตสาหกรรม
กูรูด้านเศรษฐกิจ ชี้! ไทยต้องวางยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าชัดเจน มุ่งบริหารความเสี่ยง ขับเคลื่อนการค้าอย่างเต็มศักยภาพ



 
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลการจัดสัมมนา เรื่อง “โอกาสและความท้าทายต่อการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย” กูรูชั้นแนวหน้า ชี้! ไทยต้องวางบทบาทการเจรจาการค้าระหว่างประเทศอย่างมีเป้าหมาย และวางยุทธศาสตร์ภายในประเทศให้ชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนการค้าได้อย่างเต็มศักยภาพ และบริหารจัดการความเสี่ยงในประเด็นการค้าใหม่ ๆ มุ่งใช้การเจรจาในเวทีโลกเป็นเครื่องมือ

 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้จัดงานสัมมนาใหญ่ เรื่อง “โอกาสและความท้าทายต่อการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย” เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสสถาปนากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ครบรอบ 81 ปี โดยการจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายทางการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งกรมมีภารกิจสำคัญในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในกรอบเวทีต่าง ๆ การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) รวมทั้งการเจรจาและหารือกับหน่วยงานภาครัฐของประเทศคู่ค้า เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า และขยายโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย โดยกรมได้เชิญวิทยากรชั้นแนวหน้าที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนากว่า 300 คน

 
ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมให้มุมมองด้านภูมิรัฐศาสตร์ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการเมืองของประเทศมหาอำนาจ โดยเห็นว่าความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจมีความสลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ส่งผลให้ไทยมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัว เพื่อรับมือกับความเปลี่ยน แปลงและบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น และควรใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ อย่างเหมาะสม รวมทั้งอยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตของประเทศคู่ค้าสำคัญ

 
ขณะที่ รศ.ดร. อาชนัน เกาะไพบูลย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลที่เน้นความสำคัญของการปรับยุทธศาสตร์ด้านการค้าของไทยให้สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เร่งสร้างงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ การปรับโครงสร้างภาษีในประเทศ การวางมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความพร้อมภายในประเทศ ตลอดจนการปรับแผนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับทิศทางการค้าโลกในปัจจุบัน ซึ่งจะมีประเด็นทางการค้าใหม่ๆ เช่น มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมอยู่ด้วย

ด้านคุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เผยมุมมองสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของภาคเอกชนไทยกับการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ความสำคัญของการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การเร่งพัฒนาและปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สอดรับกับบริบทด้านสิ่งแวดล้อม และ BCG ในส่วนของภาคเอกชน ดร. สันติธาร เสถียรไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Sea Group ได้ร่วมให้มุมมองเกี่ยวกับโลกการค้าดิจิทัล ความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล AI แพลตฟอร์มออนไลน์ การดึงดูดและสร้างคนเก่ง (Talents) และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการสร้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 
สำหรับในภาพรวม วิทยากรมีความเห็นร่วมกันว่า ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศมีความเชื่อมโยงระหว่างหลายประเทศและในเชิงห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนและแบ่งแยกกว่าในอดีต ไทยจึงจำเป็นต้องมีเป้าหมายและวางยุทธศาสตร์ภายในประเทศที่ชัดเจน ในการวางบทบาทการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการค้าอย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งบริหารจัดการความเสี่ยงในประเด็นการค้าใหม่ๆ โดยใช้การเจรจากับประเทศต่างๆ ในเวทีโลกเป็นเครื่องมือ

“ที่ผ่านมา กรมมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จในการจัดทำ FTA 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ฮ่องกง เปรู และชิลี ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ FTA ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ขยายตัวกว่า 270% ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำ FTA กับประเทศคู่ค้าใหม่ อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE) แคนาดา ตุรกี ศรีลังกา และสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA)” นางอรมนเสริม

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 พ.ค. 2566 เวลา : 12:45:26
08-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 8, 2024, 2:47 am