เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special report : รับมือกับ Fake News อย่างไรดี ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อทางการเมือง


ในช่วงนี้เรียกได้ว่า ประเทศไทยยังอยู่ในวาระของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อันเป็นที่จับตามองของทั้งคนไทยและชาวโลก เนื่องจากการเลือกตั้งรัฐบาลปี 2566 ครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่ถือได้ว่าเป็น “สายลมเปลี่ยนทิศ” ของประเทศไทย โดยพรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในทั้งแบบเขต และ แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งในตอนนี้ยังอยู่ในช่วงของการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังทำการรองรับผลการเลือกตั้ง (สิ้นสุดในวันที่ 13 ก.ค. 2566) จากนั้นก็จะมีการประชุมสภาครั้งแรก เพื่อแต่งตั้งประธานสภา รองประธานสภา และทำการนัดประชุมสภาอีกครั้ง เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดยกว่าประเทศไทยจะได้รัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการก็ต้องรอไปจนถึงช่วงต้นเดือน ส.ค.นี้
 
ฉะนั้นในช่วงเวลากว่า 2 เดือนต่อจากนี้ ปริมาณข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นการเมืองจะถูกผลิตขึ้นมาอย่างมหาศาลทุกวันๆ สอดรับกับความสนใจของคนในสังคม ซึ่งจะมีทั้งข่าวที่เป็นความจริง เป็นความคิดเห็น และข่าวปลุกปั่น หรือ Fake News ผสมโรงเข้ามาเพื่อสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวบางอย่าง ซึ่งหากไม่อยากตกเป็นเหยื่อในเกมการเมืองของผู้ไม่หวังดี ผู้อ่านอาจต้องระมัดระวังการเสพข่าวสารจากสื่อดังต่อไปนี้
 
1.ข่าวที่ส่งต่อกันใน Line
 
Line เป็นแอปพลิเคชันยอดนิยมของคนไทยที่ใช้สำหรับการสื่อสารครบรูปแบบทั้งข้อความ ภาพ และเสียง แอปนี้จึงกลายเป็น 1 ในช่องทางยอดนิยมที่ผู้ไม่หวังดีมักทำการเผยแพร่ Fake News รวมถึงประเด็นทางการเมืองเพื่อสร้างความเสียหายให้กับอีกฝ่าย เพราะสามารถส่งถึงผู้รับสารได้โดยตรง โดยจะทำการสร้างความเข้าใจที่ผิดพลาด ให้ผู้รับสารเกิดความไม่ชอบ หรือมีทัศนคติไปในทางลบกับฝ่ายที่ต้องการโจมตี ชักจูงให้เราส่งต่อข้อความออกไปในวงกว้างเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มการมองเห็นของสาร Fake News นั้นๆ

ฉะนั้น หากได้รับข้อมูลข่าวสารที่ส่งต่อกันมาจากทางไลน์ ทางที่ดีควรตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจน จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และไม่ควรส่งต่อให้คนอื่น เพื่อป้องกันการตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดี
 
2.ข้อมูลจากทาง Twitter
 
Twitter โซเชียลมีเดียที่มีคนกระจุกตัวอยู่บนแพลตฟอร์มอย่างมาก และฟีเจอร์ของ Twitter ที่สามารถโพสรูปภาพ วีดีโอ และข้อความที่จำกัดตัวอักษร ทำให้ปริมาณโพสของ Twitter ในแต่ละวันนั้นมีปริมาณมหาศาล ประกอบกับธรรมชาติของคนในยุคนี้จะมีพฤติกรรมการ “ไถฟีดหน้าจอ” (เนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์คือ Fear of Missing Out กลัวไม่ทันข่าว) ปริมาณของข้อมูลที่ได้รับจากการเล่น Twitter ก็มีมากตามไปด้วย ทำให้หลายๆคนตกหลุมพรางหลงเชื่อ Fake News ที่เผยแพร่อยู่ในแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ไม่ยาก
 
ฉะนั้นสิ่งที่ควรสังเกตว่าข้อมูลเหล่านั้นน่าเชื่อถือมากแค่ไหน จากทั้งการตรวจสอบของผู้ที่โพส ทั้งชื่อและ @บัญชี รวมถึงเครื่องหมายสัญลักษณ์ถูกหลังชื่อที่เป็นการยืนยันตัวตนว่าเป็นการโพสที่มาจากบุคคลนั้นๆตามที่กล่าวอ้างจริง เพราะใน Twitter ทุกคนสามารถทำ Account ปลอมและสวมรอยเป็นคนอื่นอันก่อให้เกิดความสับสนได้
 
3.ข้อมูลจากทาง Facebook
 
Facebook ก็เป็นอีก 1 โซเชียลมีเดียที่ยังได้รับความนิยมอย่างสูง และเป็นแพลตฟอร์มที่เอื้อต่อการโพสข้อความยาวๆ ซึ่งหากบัญชีของใครตั้งเป็นสาธารณะ ก็สามารถส่งแชร์ข้อความต่อๆกันไปโดยที่ไม่ใช่เพื่อนกันก็สามารถมองเห็นได้ Facebook จึงเป็นอีก 1 ช่องทางที่สามารถส่งสาร Fake news และสร้างความเข้าใจผิดไปในวงกว้างได้ หากได้รับสารจากช่องทางนี้ก็ควรตรวจสอบทั้งตัวของผู้โพสว่าเป็นใคร และ Recheck ข้อความของเนื้อหาจากต้นทางที่เชื่อถือได้ เช่นมีคนกล่าวอ้างว่าข้อมูลนี้คือนโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งคนโพสไม่ใช่สมาชิกพรรค ก็อาจต้องทำการตรวจสอบข้อมูลนโยบายจากทางพรรคโดยตรงก่อนปักใจเชื่อข้อมูล เป็นต้น
 
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองไทย มักมีเรื่องของ Fake News ที่คอย Discredit ฝั่งตรงข้าม หรือขัดผลประโยชน์บางประการเพื่อช่วงชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีกันไปมา ฉะนั้นกว่าจะถึงบทสรุปว่าพรรคไหนจะได้จัดตั้งเป็นรัฐบาล เราก็อาจจะคอยแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริง และ Fake News ออก เพื่อไม่ตกหลุมพรางเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้ไม่หวังดีในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 พ.ค. 2566 เวลา : 10:14:10
05-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 5, 2024, 11:32 pm