แบงก์-นอนแบงก์
กรุงศรี เผยบริการใหม่ "ASEAN LINK" ผนึกเครือข่าย MUFG เอื้อการขยายธุรกิจสู่อาเซียน


 
กรุงเทพฯ 30 พฤษภาคม 2566 – กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) โดยกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ภายใต้การนำของแม่ทัพคนใหม่ นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประกาศกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2566  รุกขยายศักยภาพเชื่อมต่ออาเซียน ผุดบริการใหม่ “ASEAN LINK” ที่ปรึกษาด้านธุรกิจสำหรับลูกค้าที่ต้องการขยายธุรกิจสู่อาเซียน โดยประสานพลังเครือข่าย MUFG เพื่อเชื่อมทุกความต้องการทำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเดินหน้าต่อยอดธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (ESG Finance) และสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพในเวทีนานาชาติ ตอกย้ำความเป็นผู้นำธนาคารพันธมิตรที่กลุ่มธุรกิจญี่ปุ่นไว้วางใจ

 
นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กรุงศรี ครองความเป็นผู้นำในตลาดลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง หรือคิดเป็นลูกค้าญี่ปุ่นกว่า 75% ด้วยเครือข่ายที่แข็งแกร่งของ MUFG ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศทั่วโลก อีกทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญระดับโลกทำให้กรุงศรีสามารถต่อยอดและได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ โดยในปีที่ผ่านมา เราได้ให้บริการทั้งกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติจากหลากหลายอุตสาหกรรมในการขยายธุรกิจสู่อาเซียนจนประสบความสำเร็จมากมาย อาทิ การสนับสนุนการตั้งโรงงานผลิตเลนส์ในประเทศลาว การให้คำปรึกษาด้านข้อมูลตลาดและข้อบังคับทางกฎหมายในการตั้งสำนักงานของบริษัทวัสดุก่อสร้างในประเทศเวียดนาม การช่วยสำรวจและแนะนำพื้นที่ในการตั้งโรงงานแปรรูปอาหารในประเทศเวียดนาม รวมทั้งให้คำปรึกษาในการตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทยของบริษัทด้านยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น” 

“ในปี 2566 นี้ เราจึงให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่ออาเซียน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของกรุงศรี โดยได้ยกระดับบริการที่ปรึกษาทางธุรกิจเพื่อเชื่อมต่อทั้งภูมิภาคอาเซียนด้วยบริการใหม่ ‘ASEAN LINK’ ที่พร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการในการทำธุรกิจ เพื่อช่วยให้ลูกค้าของเราเติบโตใน 9 ประเทศทั่วทั้งอาเซียน และต่อยอดได้ในอีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลกผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งของ MUFG”


 
สำหรับบริการ Krungsri ASEAN LINK นับเป็นศูนย์กลางบริการด้านการทำธุรกิจในระดับภูมิภาคอาเซียนผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งของกรุงศรี และ MUFG มีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมที่แตกต่างและหลากหลาย พร้อมนำเสนอ โซลูชันทางการเงินให้กับลูกค้าแบบ Tailor-made โดยเริ่มตั้งแต่การให้คำปรึกษา วิเคราะห์ และสนับสนุนข้อมูลด้านการตลาด รวมถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจเพื่อการควบรวมกิจการและการขยายการลงทุนในต่างประเทศ การพัฒนาและจัดตั้งสำนักงานธุรกิจในระดับภูมิภาค การให้บริการที่ปรึกษาทางกฎหมายและภาษีอากร และการจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้น

นอกจากนี้ กรุงศรียังคงเดินหน้ากลยุทธ์ในการต่อยอดการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน และร่วมเป็นส่วนช่วยผลักดันสตาร์ทอัพสู่เวทีอาเซียนผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

· การสนับสนุนธุรกิจที่ดำเนินการตามกรอบความยั่งยืน (ESG) ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านเครือข่ายพันธมิตร พร้อมต่อยอดความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) และ Zeroboard Inc. สตาร์ทอัพสัญชาติญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญด้านคลาวด์เทคโนโลยีเกี่ยวกับการคำนวณและการแสดงผลลัพธ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจและ Supply chain เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจ สีเขียวอย่างเป็นรูปธรรม
 
 
· การสร้างเครือข่ายและสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และ Techo Startup Center หน่วยงานภายใต้รัฐบาลกัมพูชาซึ่งส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างโอกาสทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับอาเซียน โดยในปีนี้กรุงศรีได้ร่วมจัดงาน Japan-ASEAN Start-up Business Matching Fair 2023 ร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น (METI) depa และ Techo ซึ่งเป็นงานจับคู่ธุรกิจสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีสตาร์ทอัพเข้าร่วมงานมากกว่า 60 บริษัท จาก 9 ประเทศ และจากหลากหลายอุตสาหกรรม โดยมีนักลงทุนเข้าร่วมถึง 160 บริษัท จาก 6 ประเทศ นับเป็นการผนึกกำลังภายใต้เครือข่าย MUFG ในการสร้างโอกาสครั้งสำคัญให้กับสตาร์ทอัพ  

โดยทางกรุงศรีมีเป้าหมายสินเชื่อเติบโต หรือ Loan Growth อยู่ที่ 3% ซึ่งเชื่อว่า จากไตรมาสแรกของปีนี้ที่สินเชื่อลดลงมาเนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการเติบโตทางด้านสินเชื่อ และการลงทุนมากขึ้น จากปัจจัยอย่างการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของไทย ที่ทางกรุงศรีมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินนโยบาย ที่พัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทยได้ และทำให้บรรยากาศการลงทุนดีขึ้น ฉะนั้นทางด้านนักลงทุนญี่ปุ่นจึงไม่ได้มีความกังวลด้านการเมืองของไทย ประกอบกับประเทศไทย ยังเป็นประเทศที่มีข้อได้เปรียบด้านทักษะแรงงาน มีการพัฒนา Infrastructure หรือการคมนาคมที่ดีขึ้น และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในการประกอบธุรกิจ จึงเป็นจุดแข็งของไทยที่ยังสามารถดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นได้อย่างมั่นคง

 
ส่วนแนวโน้มการลงทุน ที่ลูกค้าญี่ปุ่นต้องการขยายธุรกิจสู่อาเซียนนั้น การเปิดสำนักงานใหญ่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ไทย ส่วนด้านการลงทุนทางด้านยานยนต์ จะสนใจไปที่ประเทศอินโดนีเซีย ด้าน Electric มีการมุ่งไปที่ประเทศเวียดนาม ส่วนด้านการเกษตร จะให้ความสนใจลงทุนในประเทศกัมพูชา “เราเชื่อมั่นว่าด้วยความเชี่ยวชาญของกรุงศรี และเครือข่ายที่แข็งเกร่งของ MUFG จะช่วยขยายโอกาสและขับเคลื่อนการเติบโตของทั้งธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ รวมทั้งช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน” นายโอคุโบะ กล่าวทิ้งท้าย

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 พ.ค. 2566 เวลา : 17:11:24
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:11 pm