เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Special Report : เงินเฟ้อสหรัฐ ลงมาอยู่ที่ 4% ต่ำสุดในรอบ 2 ปี


 
ผ่านไปแล้วกับการเปิดเผยค่า CPI หรือดัชนีราคาผู้บริโภคของทางสหรัฐ ประจำเดือน พ.ค.เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งค่าล่าสุดอยู่ที่ระดับ 4% ชะลอตัวลงจากระดับ 4.9% ของรอบเดือน เม.ย.นับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี หรือตั้งแต่รอบของเดือน เม.ย. ปี 2021 (4.2%) เลยทีเดียว โดยแนวโน้มที่ค่า CPI ตัวสะท้อนสภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐลดลงนั้น ก็ถือเป็นข่าวดีที่สุดสำหรับทางฝั่งของภาคการลงทุน หุ้นในเกือบทุกกลุ่มมีราคาพุ่งสูงขึ้นรับข่าวดี และเป็นปัจจัยบวกประกอบที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed คงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกอยู่ที่ระดับ 5 - 5.25% อีกด้วย

จากที่ Fed นั้นออกนโยบายการเงินที่ตึงตัว ทั้งการทำ QT ดึงเงินออกจากระบบ หรือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีที่แล้ว จากระดับอัตราดอกเบี้ย 0 - 0.25% ขึ้นเป็น 5 - 5.25% โดยปรับขึ้นมาทั้งหมด 10 ครั้งติดต่อกันนั้น ก็เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งตัวสูงขึ้น ให้ลดต่ำลงมาที่ระดับ 2% หรือเป้าหมายที่ Fed ยืนยันอย่างหนักแน่นเอาไว้ แต่ในระหว่างทางที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในหลายภาคส่วนทั่วโลก โดยเฉพาะความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจนลามเป็นวิกฤติสถาบันทางการเงิน จากทั้งปัญหาธนาคารที่เกิดขึ้นทั้ง Silicon Valley Bank และ First Republic ได้ล่มสลายไปจากเรื่องของการแบกดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไม่ไหว ที่นำมาซึ่งภาวะสินเชื่อตึงตัว (Credit Tightening) จนกลุ่มหุ้นของธนาคารสหรัฐมีราคาตกลงไปอย่างน่าใจหายซึ่งสะท้อนถึงการก่อตัวของความไม่เชื่อมั่นของตลาดต่อธนาคาร

 
แต่การที่ข้อมูลดัชนีได้โชว์ออกมานั้นว่าสถานการณ์ของเงินเฟ้อ (เป้าหมายของการที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ย) เริ่มเห็นเค้าลางว่าจะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว จากค่า CPI ล่าสุดที่ลดลงมาต่ำสุดในรอบ 2 ปี เมื่อเห็นว่าปัญหาเริ่มมีการคลี่คลาย ท่าทีของ Fed ดีขึ้นจากการคงดอกเบี้ยครั้งนี้ไว้เป็นครั้งแรก ความกังวลของตลาดที่สะสมมาก่อนหน้านี้เป็นระยะเวลากว่า 1 ปีก็เริ่มทุเลาลง สะท้อนจากทั้งตลาดหุ้น S&P 500 เพิ่มขึ้น 1.22% สู่ระดับสูงสุดในรอบ 52 สัปดาห์ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 428.73 จุด หุ้น Nasdaq ดีดกลับตัวสูงขึ้น 1.15% โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นธนาคาร (KBW Nasdaq Regional Bank Index) กลับมาทำราคาสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์เลยทีเดียว อย่าง Goldman Sachs ธนาคารเพื่อการลงทุนยักษ์ใหญ่ของโลก ปรับการคาดการณ์ว่า หุ้น S&P 500 จะขึ้นไปถึง 4,500 จุด ในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากตลาดมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาขึ้น (Bull Market) ส่วนกองทุน Hedge Fund ที่ทำการ Short หุ้นกลุ่มธนาคาร (ซื้อสัญญาล่วงหน้าว่าหุ้นกลุ่มธนาคารจะลง) ก็สูญเสียเงินไปกว่า 7.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การคงดอกเบี้ยในครั้งนี้ ทาง Fed ให้เหตุผลว่า ต้องการให้เศรษฐกิจได้มีการปรับตัวหลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา และส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะไปอยู่ที่ระดับ 5.6% ก่อนมีแผนจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.6% ในช่วงสิ้นปีหน้า ขณะที่ Core CPI หรือดัชนีที่แสดงถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานรอบปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5.3% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูง และลดลงมานิดเดียวจากรอบเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 5.5% ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราเงินเฟ้อ หรือ CPI ลดลงมาช้าลงได้
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 มิ.ย. 2566 เวลา : 18:57:02
05-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 5, 2024, 6:27 pm