เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "ราคาเหล็กไทยปี 66 คาดย่อลงจากอุปสงค์โลกที่ชะลอ...ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอาจกระทบราคาเหล็กให้ปรับฐานใหม่"


· ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ราคาเหล็กไทย1 ปี 2566 มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน แต่ยังยืนสูง ตามราคาเหล็กโลกที่ปรับลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นทั้งผู้ผลิต-ผู้บริโภคหลักมีสัญญาณหดตัวของอุปสงค์ ขณะที่ ความต้องการใช้ในประเทศอาจได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการอนุมัติโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ ของภาครัฐในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ส่งผลให้ทิศทางราคาเหล็กไทยในปีนี้คาดว่าจะย่อลงในกรอบราว -10% ถึง -6% YoY

· มองไปข้างหน้า ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอาจกดดันให้อุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลกปรับปรุงกระบวนการผลิต กระทบราคาเหล็กโลกให้ปรับฐานสูงขึ้น ส่งผลต่อผู้เล่นในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเหล็กไทยในกรอบเวลาที่แตกต่างกันไป แม้ว่าช่วงแรกความเร่งด่วนในการปรับตัวอาจยังมีไม่มากและจำกัดเฉพาะกลุ่ม แต่ภาคธุรกิจคงต้องทยอยปรับปรุงกระบวนการผลิตในการลดการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวไว้

 
 
ในปี 2566 แนวโน้มราคาเหล็กไทยคาดว่าจะย่อลงจากปีที่ผ่านมา แต่ยังยืนสูง ตามทิศทางราคาเหล็กโลกที่ลดลงจากอุปสงค์ในประเทศผู้ผลิต-ผู้บริโภคหลักมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่ ความต้องการใช้ในประเทศอาจได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ราคาเหล็กไทยในช่วงที่เหลือของปีน่าจะยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจาก 5 เดือนแรก1โดยดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีที่หดตัวราว -4% YoY สาเหตุหลักมาจากราคาเหล็กโลกเริ่มมีการปรับลดลงตามอุปสงค์-อุปทานเหล็กโลกที่หดตัวในหลายภูมิภาคตามความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะความต้องการใช้ในจีนที่เป็นทั้งผู้ผลิต-ผู้บริโภคหลัก ซึ่งถึงแม้ในช่วง 3 เดือนแรกของปีการบริโภคเหล็กของจีนจะฟื้นตัวตามการยกเลิกนโยบาย Zero Covid แต่ปัจจุบันพบว่าการบริโภคกลับมาหดตัวตามอุปสงค์เหล็กในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซา ประกอบกับราคาพลังงานในปีนี้ที่ปรับลดลงบ้างตามสถานการณ์วิกฤตการณ์พลังงานที่ผ่อนคลายขึ้นจากปีก่อน ขณะที่ ความต้องการใช้ในประเทศยังให้ภาพที่ระมัดระวัง จากภาวะเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพที่ยังยืนสูงกดดันกำลังซื้อของภาคเอกชน และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อการอนุมัติงบประมาณประจำปี 2567 ให้ล่าช้าจนกระทบต่อโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ ของภาครัฐให้เลื่อนออกไป นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่เหล็กจากจีนบางส่วนอาจมีการระบายสต็อกมาที่ไทยมากขึ้นซึ่งอาจจะกดดันราคาเหล็กไทยให้ย่อลงได้

อย่างไรก็ดี ราคาเหล็กไทยคาดว่าจะยังยืนสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด จากต้นทุนการผลิต/การจัดการในประเทศบางด้านที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากค่าไฟต่อหน่วยของธุรกิจที่คาดว่าจะยังคาสูงอยู่ และค่าแรงขั้นต่ำที่มีแนวโน้มขยับขึ้นอีกตามนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงค่าขนส่งที่ยังยืนสูงตามทิศทางราคาน้ำมันดีเซลที่เป็นต้นทุนหลักในการขนส่ง

 
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า แนวโน้มราคาเหล็กไทยในปี 2566 จะปรับลดลงจากปีก่อนในกรอบ -10% ถึง -6% YoY (ราคาเหล็กไทยเฉลี่ย 5 เดือนแรกปี 66 ปรับลดลงราว -6% YoY) อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงกว่าที่คาด ส่งผลให้กำลังการผลิตเหล็กส่วนเกินของจีนอาจถูกระบายไปยังประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทย ซึ่งกรณีดังกล่าว อาจทำให้ราคาเหล็กในไทยหดตัวมากกว่ากรอบที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการทบทวนความจำเป็นในการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) ที่อาจทำให้ราคาเหล็กไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะการทบทวนการบังคับใช้มาตรการ AD กับสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน2 จากจีนและมาเลเซีย ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าเหล็กจากจีนในสัดส่วนที่สูง หากมีการยุติการบังคับใช้มาตรการกับสินค้าเหล็กจากจีน อาจส่งผลให้มีการนำเข้าเหล็กเพิ่มขึ้นจนกดดันราคาเหล็กทรงแบนในประเทศให้ปรับลดลงได้

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อาจทำให้ราคาเหล็กโลกมีแนวโน้มปรับฐานใหม่...กระทบผู้เล่นในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเหล็กไทยให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นในกรอบเวลาที่แตกต่างกัน

ท่ามกลางมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่เข้มข้นขึ้นและกระแส Net Zero ส่งผลให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลกต้องมุ่งสู่การทำธุรกิจแบบยั่งยืน (ESG) ผ่านการตื่นตัวในการปรับปรุงเทคโนโลยี/กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อประเด็นดังกล่าวที่อาจกระทบผู้เล่นในอุตสาหกรรมเหล็กไทย ดังนี้

· ผู้ผลิตเหล็ก/ผู้ค้าเหล็กไทยที่มีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบด้านราคาจากมาตรการรปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่คาดว่าจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2569 ส่งผลให้ภาคธุรกิจเหล่านี้อาจต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการจัดซื้อเหล็กวัตถุดิบ/สินค้าเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีราคาสูงกว่าเหล็กทั่วไปมาใช้ในการผลิตและส่งออก เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อผลิตเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังมีต้นทุนสูงอยู่และมีผู้ปรับเปลี่ยนจำนวนน้อย ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสินค้าเหล็กไปยังตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบก่อนเมื่อเทียบกับผู้เล่นอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งระดับผลกระทบจะมากน้อยก็คงขึ้นอยู่กับสัดส่วนการพึ่งพิงตลาดเหล่านี้เป็นสำคัญ

 
 
· การปรับไปสู่เป้าหมาย Net Zero ในระดับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เหล็ก อาจส่งผลให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมเหล็กไทยบางส่วนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีการส่งออกไปยังบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมที่มีการตั้งเป้าหมายลดการปล่อย GHGs อย่างชัดเจน และมีการกำหนดให้ใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตสินค้าขั้นปลาย อาทิ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต้องการเป็นผู้นำด้าน Net Zero ก็ได้มีการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซ GHGs ให้ได้ 65% ภายในปี 2573 ส่งผลให้บริษัทผลิตยานยนต์ทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะหันไปใช้เหล็ก Green steel ในการผลิตรถยนต์/ชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้น กระทบต่อผู้ผลิตเหล็ก/ผู้ค้าเหล็ก/ผู้ใช้เหล็กเพื่อผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยที่ต้องส่งออกให้กับบริษัทผลิตยานยนต์เหล่านี้จะต้องจัดซื้อเหล็กวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาจำหน่ายหรือใช้ในการผลิตก่อนที่จะสูญเสียฐานลูกค้าไป รวมถึงเพื่อเป็นการสร้างความได้เปรียบที่จะได้ฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นด้วย

ในระยะสั้น คาดว่าผู้เล่นในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเหล็กไทยที่ได้รับผลกระทบอาจนำเข้าเหล็กวัตถุดิบ/สินค้าเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจำนวนจำกัดเพื่อนำมาผลิตและส่งออกให้กับตลาดที่มีมาตรการทางการค้า/บริษัทข้ามชาติที่มีความต้องการใช้เท่านั้น ขณะที่ ตลาดในประเทศพบว่าปัจจัยกดดันจากพฤติกรรมผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงตลาดส่งออกหลักอื่น ๆ ของไทยยังเป็นประเทศในอาเซียนที่มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่มีความเข้มงวดน้อยกว่า

อย่างไรก็ดี ในระยะยาว ห่วงโซ่อุตสาหกรรมเหล็กโลกคาดว่าจะมีการทยอยปรับตัวให้สอดรับกับอุปสงค์ในสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และความเป็นไปได้ของการบังคับใช้มาตรการ CBAM ในประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมถึงกระแส Net Zero ในประเทศผู้ผลิตเหล็กรายสำคัญของโลก โดยเฉพาะประเทศที่เป็นตลาดนำเข้าเหล็กหลักของไทย เช่น ญี่ปุ่น(33%)3 จีน(24%) และเกาหลีใต้(10%) เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ในระยะถัดไป ราคาเหล็กทั่วโลกมีแนวโน้มปรับฐานใหม่ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ทุกผู้เล่นในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเหล็กไทยคงหลีกเลี่ยงต้นทุนเหล็กวัตถุดิบ/สินค้าเหล็กที่อาจปรับเพิ่มขึ้นนี้ได้ยาก จนกว่าการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กโลกในภาพรวมจะสามารถผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่จนเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) จึงจะทำให้ราคาเหล็กโลกถูกลงได้บ้าง

ความเร่งด่วนในการปรับตัวของผู้ผลิตเหล็กไทยอาจยังไม่มาก แต่คงต้องทยอยปรับเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

อุตสาหกรรมเหล็กโลกได้มีการตั้งเป้าหมาย Net Zero ด้วยการลด Carbon footprint ของการผลิตเหล็กในปัจจุบันที่ราว 1.8 tCO2/t ให้ลงมาที่ราว 0.1 tCO2/t ภายในปี 2593 ขณะที่ การผลิตเหล็กในไทยเริ่มจากอุตสาหกรรมเหล็กขั้นกลางที่ใช้เทคโนโลยีเตาหลอมไฟฟ้า (Electric Arc Furnace: EAF) ในการผลิตเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว โดยมี Carbon footprint อยู่ที่ราว 0.4 tCO2/t4 ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรมเหล็กโลกในภาพรวม ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวของผู้ผลิตเหล็กไทยคงเป็นภาพแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนไปใช้เตา EAF ในสัดส่วนที่มากขึ้นยังมีความจำเป็นในระยะยาว ผู้ผลิตที่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนเตาหลอมอาจต้องพิจารณาจังหวะและความคุ้มค่าในการลงทุนประกอบ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง ทั้งนี้ แนวทางที่ผู้ผลิตเหล็กไทยควรเริ่มทำก่อนเป็นอันดับแรก คือ การประเมิน Carbon footprint ว่ากระบวนการผลิตของตนเองนั้นมีการปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่เพื่อให้สามารถวางแผนลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ การปรับไปใช้พลังงานทางเลือกอื่น ๆ เช่น พลังงานชีวมวล และ Green H2 ก็เป็นอีกแนวทางที่สามารลดการปล่อยคาร์บอนทางตรงได้ แต่อาจยังต้องรอความพร้อมในการปรับเปลี่ยนของภาคพลังงานเพื่อนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ด้วยต้นทุนที่ถูกลงเสียก่อน

อย่างไรก็ดี แนวทางการปรับตัวที่ทุกผู้เล่นในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเหล็กไทยสามารถทำได้เพิ่มเติมอาจเป็นเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอนทางอ้อม อาทิ การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตด้วยพลังงานสะอาดในโรงงาน การปรับไปใช้รถไฟฟ้าในภาคการขนส่ง และการจัดซื้อ/จัดจำหน่ายสินค้าเหล็ก Green steel เป็นต้น ซึ่งก็คงขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วย นอกจากนี้ การสนับสนุนจากภาครัฐยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการออกมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจผ่านการสร้างอุปสงค์ของเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น

มองไปข้างหน้า ถึงแม้ในปัจจุบันความเร่งด่วนในการปรับตัวของผู้เล่นในอุตสาหกรรมเหล็กไทยอาจยังมีไม่มากและจำกัดเฉพาะกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบก่อน แต่ในระยะถัดไปคาดว่าการขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero ในภาพรวมทั้งในประเทศและต่างประเทศน่าจะครอบคลุมทุกภาคส่วน ทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเหล็กไทยคงต้องทยอยปรับตัว เพื่อลดผลกระทบของต้นทุนส่วนเพิ่มจากราคาเหล็กวัตถุดิบ/สินค้าเหล็กที่อาจปรับฐานสูงขึ้น และการต้องจ่ายภาษีคาร์บอนทั้งในประเทศและตลาดคู่ค้า รวมถึงเพื่อลดความเสี่ยงจากการเสียโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน5 ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรและความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในระยะยาวได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 มิ.ย. 2566 เวลา : 21:12:41
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 6:08 pm