เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "ส่งออกผลไม้ของไทยปี?66 แม้เติบโต แต่ไปข้างหน้าต้นทุนการผลิตและสภาพอากาศแปรปรวนยังกดดันธุรกิจ"


· ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การจัดการต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะจากวัตถุดิบอาหารและแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันเฉลี่ยเกือบ 80% ของต้นทุนรวม จะยังเป็นโจทย์ต่อเนื่องในช่วงข้างหน้าสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกผลไม้ เมื่อสภาพอากาศจะยิ่งแปรปรวนและอุณหภูมิโลกและน้ำทะเลจะสูงขึ้นเร็ว พร้อมๆ กับการเกิดปราฏการณ์เอลนีโญ จึงเป็นความเสี่ยงด้านผลผลิตและราคาวัตถุดิบทั่วโลก ส่วนต้นทุนแรงงานก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง


· ขณะที่แม้ว่ามูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 จะเติบโตดี แต่ด้วยเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัวและผลจากสภาพอากาศที่แปรรปรวน อาจกดดันให้อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วงที่เหลือของปีชะลอลง ส่งผลให้ทั้งปี 2566 ภาพรวมมูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยน่าจะขยายตัวราว 2.3%

ปี 2566 ภาพรวมการส่งออกผลไม้ของไทยคาดยังโต ท่ามกลางเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัวและสภาพอากาศที่แปรปรวน

ผลไม้ (ทั้งสด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป) เป็นกลุ่มสินค้าอาหารที่ไทยส่งออกมากเป็นอันดับ 1 (35% ของมูลค่าการส่งออกอาหารไทยไปตลาดโลก) แม้ว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยไปตลาดโลกยังรักษาการเติบโตได้ดีราว 11.9%YoY1 จากการอยู่ในช่วงฤดูกาลส่งมอบผลไม้ที่สำคัญของปี ประกอบกับการกลับมาขยายตัวของการส่งออกผลไม้สดจากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากตลาดจีนที่กลับมาเพิ่มขึ้นหลังจากกลับมาเปิดประเทศ2 นอกจากนี้ ไทยยังสามารถเพิ่มการส่งออกผลไม้ไปยังตลาดใหม่ๆ ได้มากขึ้น จากการเจราจาการค้าและทำการตลาดในเชิงรุกของภาครัฐ อาทิ เกาหลีใต้ (ทุเรียน) สหรัฐฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ส้มโอ) อินเดียและอินโดนีเซีย (ลำไย) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2566 ยังมีหลายปัจจัยท้าทายที่กระทบต่อการส่งออกผลไม้ของไทย ซึ่งไม่เพียงแต่ผลจากฤดูกาลส่งมอบได้ผ่านพ้นไปแล้ว ยังมาจากเศรษฐกิจคู่ค้ารายสำคัญอย่างจีนและสหรัฐฯ ที่อาจชะลอลงและยังอยู่บนความไม่แน่นอน ซึ่งอาจกดดันต่อการบริโภคและยอดคำสั่งซื้อ ประกอบกับผลจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งไม่เพียงแต่จะกระทบต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิตผลไม้ที่ออกสู่ตลาดในช่วงที่เหลือของปี อาทิ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย ลองกอง สับปะรด เป็นต้น ยังอาจกระทบต่อราคาของผลไม้เพื่อใช้แปรรูปส่งออกที่ปรับสูงขึ้นและกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันได้

จากปัจจัยข้างต้น อาจกดดันต่อมูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2566 ให้เติบโตชะลอ เมื่อเทียบกับช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 และส่งผลให้ทั้งปี 2566 มูลค่าการส่งออกผลไม้ของไทยอาจอยู่ที่ 7,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวราว 2.3%YoY โดยกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ กลุ่มผลไม้สด แช่เย็นและแช่แข็ง จากการส่งออกไปยังตลาดจีนที่กลับมาขยายตัวดี ส่วนกลุ่มสินค้าที่แนวโน้มหดตัว ได้แก่ กลุ่มผลไม้กระป๋องและแปรรูป จากคำสั่งซื้อจากตลาดคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ถูกปรับลดลง

 
ระยะข้างหน้า การทำธุรกิจผลไม้จะมีความซับซ้อนและท้าทายมากขึ้นอีก โดยเฉพาะจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและแนวโน้มการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องที่จะกระทบต่อต้นทุนการผลิตและขีดความสามารถด้านการแข่งขันของธุรกิจ

การส่งออกผลไม้ของไทยในระยะข้างหน้า น่าจะเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น จากสัญญาณต้นทุนการผลิตในหลายส่วนที่อาจจะปรับขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

· สภาพอากาศที่แปรปรวนที่จะกระทบต่อผลผลิตวัตถุดิบอาหาร (ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยกว่า 70% ของต้นทุนรวม) โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจลากยาวต่อเนื่องไปในช่วงปีข้างหน้า ประกอบกับอุณหภูมิโลกและน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลให้น้ำเค็มรุกเข้าในบางพื้นที่ที่ปลูกผลไม้ และทำให้ค่าความเค็มสูงกว่าค่ามาตรฐานที่ผลไม้บางชนิดจะรองรับได้ เป็นความเสี่ยงต่อผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำของธุรกิจผลไม้ โดยเฉพาะในกลุ่มผลไม้กระป๋องและแปรรูป ทั้งในเรื่องของคุณภาพวัตถุดิบที่ไม่สม่ำเสมอ หายาก และการแย่งวัตถุดิบจะดันราคาให้สูงขึ้น สภาพอากาศที่แปรปรวนนี้มีแนวโน้มเกิดขึ้นทั่วโลก จึงไม่เพียงกระทบผลผลิตในประเทศ แต่จะมีผลต่อวัตถุดิบต้นน้ำในการผลิตหลายรายการที่ไทยยังจำเป็นต้องนำเข้า เนื่องจากผลผลิตในประเทศบางช่วงยังมีไม่เพียงพอ อาทิ ลิ้นจี่ สตรอเบอรี่ มะพร้าว สับปะรด เป็นต้น

 
ขณะเดียวกัน จากการที่ธุรกิจผลไม้กระป๋องและแปรรูปอยู่ในกลุ่มธุรกิจผลิตอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่อาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งจากกระบวนการผลิต ขยะจากบรรจุภัณฑ์ รวมถึงมีโอกาสที่จะถูกตรวจสอบด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ การใช้แรงงานผิดกฎหมาย (ต่างด้าว/เด็ก/สัตว์) มากขึ้น จึงทำให้ภาคธุรกิจทั่วโลกพยายามปรับตัวโดยให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจแบบยั่งยืน (ESG) มากขึ้น และเพื่อสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ผ่านการปรับปรุงกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน สอดรับกับกติกาของประเทศชั้นนำต่างๆ ที่มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนอย่างเข้มข้นมากขึ้นอีก อย่างไรก็ดี การลงทุนส่วนนี้ ก็นำมาซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น การลงทุนในระบบตรวจสอบย้อนกลับ การลงทุนปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีตลาดปลายทางที่เข้มงวดกับนโยบายการค้าดังกล่าว อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ

· ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ขณะที่การขาดแคลนแรงงานและการแย่งแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต จะทำให้ต้นทุนแรงงานยังมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัวทั้งการเพิ่มทักษะแรงงาน เพิ่มผลิตภาพแรงงาน รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตเพื่อทดแทนแรงงาน โดยการปรับตัวในรูปแบบดังกล่าวนำมาซึ่งต้นทุนที่สูงเช่นกัน อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงจังหวะที่เหมาะสมและจุดคุ้มทุนด้วย

นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนอื่นๆ ที่คาดว่าจะยังยืนตัวสูง ทั้งต้นทุนสาธารณูปโภค ที่แม้ว่าค่า Ft จะมีแนวโน้มปรับลดลง แต่ก็คงลดไม่มากท่ามกลางราคาพลังงานที่ยังผันผวน ต้นทุนทางการเงิน อาทิ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น อาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวน ก็กระทบต่อความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า

ดังนั้น การทำธุรกิจผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้กระป๋องและแปรรูปจะมีความซับซ้อนและท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขนาดย่อมและรายย่อย (Micro และ Small Enterprises) ซึ่งมีจำนวนมาก แต่ผลประกอบการส่วนใหญ่ยังคงมีกำไรน้อยหรือขาดทุน ดังนั้น ความสามารถในการเพิ่มยอดขายหรือทำกำไร จึงเป็นโจทย์ของธุรกิจท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง

LastUpdate 30/06/2566 22:00:47 โดย : Admin
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 6:09 pm