การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
Special Report : วิถีการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ ภายใต้แนวคิด "ESG" Ep.1


เชื่อว่าในตอนนี้ หากใครได้รับข่าวสารจากแวดวงธุรกิจคงจะได้ยินเรื่องของแนวคิด ESG เต็มไปหมด ซึ่งเราก็พอจะเข้าใจคอนเซ็ปท์กันพอประมาณจาก Special Report : แนวคิด “ESG” รักษ์โลก ดูแลสังคม ส่งเสริมคุณธรรม  สำคัญอย่างไรต่อภาคธุรกิจ? ของเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากันแล้ว ที่แนวคิด ESG นี้ (Environment, Social and Governance) เป็นลักษณะของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล ซึ่งช่วยให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบต่อ Stakeholders ผู้ที่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจที่ทำการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม  และการแสดงผลลัพธ์การดำเนินกิจการในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

แต่หลายคนก็อาจจะยังมีความเคลือบแคลงใจว่า ทำไมแนวคิด ESG จึงจำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจ เพราะไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหนในปัจจุบันนี้ ธุรกิจที่อยู่รอบตัวเราในชีวิตประจำวันก็ต่างตื่นตัวและเริ่มยึดถือแนวคิดนี้ในการดำเนินธุรกิจกันเต็มไปหมด แล้วถ้าหากเราอยากจะเริ่มทำธุรกิจในตอนนี้ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องนำแนวคิด ESG เข้ามาเป็นหลักในการดำเนินกิจการในทุกๆ องค์ประกอบ?

คำตอบของเรื่องนี้ก็คือ “ความคาดหวังจากทุกภาคส่วน” ที่คาดหวังให้บริษัทต่างๆดำเนินธุรกิจด้วยการยืนหยัดในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสภาวะของโลกร้อน ต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกลุ่มคนส่วนใหญ่ตระหนักถึงปัญหาอันใหญ่หลวงนี้ และต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน Solution อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการทำให้โลกที่อยู่นั้นดีขึ้น ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องของการช่วยเหลือสังคม และการยึดหลักของคุณธรรมและจริยธรรมที่สังคมให้การยอมรับ 

 
เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา จากข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รายงานว่า ในระยะหลังๆมานี้ได้เป็นที่ประจักษ์มากขึ้น ตั้งแต่การเกิดภาวะเรือนกระจก น้ำแข็งขั้วโลกละลาย การเกิดภัยทางธรรมชาติ สภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างในปัจจุบัน หรือการเกิดการประท้วงของนักวิทยาศาสตร์ให้เลิกใช้ Fossil Fuels เชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นตัวการณ์ทำให้โลกร้อน ซึ่งในประเทศไทย จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากที่สุด ได้แก่ ปัญหามลพิษ เช่น น้ำเสีย PM 2.5 ขยะ เป็นต้น รองลงมาคือ สภาพภูมิอากาศที่ความแปรปรวน อุณหภูมิสูงขึ้น รวมถึงภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุรุนแรง ไฟป่า เป็นต้น ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนค่อนข้างมาก ส่งผลให้คนในสังคมเริ่มมี Awareness และต้องการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามการกระทำที่ได้กล่าวไปข้างต้น 

ซึ่งสิ่งที่ผู้คนจะมีส่วนร่วมได้ง่ายที่สุด นั้นก็คือการเลือกซื้อสินค้าและการบริการที่แก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ เพราะมนุษย์ย่อมมีบทบาทของผู้บริโภคติดตัวมาด้วยทุกคนตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ในทุกวันต้องทั้งเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และการเข้ารับบริการในแง่ต่างๆ พวกเขาจึงมีการคาดหวังและเรียกร้องให้ภาคธุรกิจมีการใส่ใจเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะสะท้อนความคาดหวังของพวกเขาผ่านกระบวนการตัดสินใจซื้อ หากธุรกิจไหนนำแนวคิดของเรื่อง ESG มาเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ ที่อาจจะสะท้อนจากทั้งด้าน Commitment ของบริษัท สินค้าที่ใช้แพคเกจจิ้งจากอุปกรณ์ที่ย่อยสลายได้ หรือจะเป็นกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ทำให้บริษัทนั้นๆมีความได้เปรียบทางธุรกิจมากกว่าบริษัทที่ไม่ได้ใส่ใจแนวคิดนี้

โดยทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจพฤติกรรมและมุมมองของผู้บริโภคมีต่อปัญหาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และแนวโน้มการลงทุนด้าน ESG พบว่า ความน่าเชื่อถือ และผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมด้านการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคพิจารณาเพื่อซื้อสินค้าประเภทเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้จำนวนกลุ่มคนที่ยินดีที่จะยอมจ่ายค่าสินค้าและบริการที่แพงกว่า เพื่อซื้อสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นขยายตัวใหญ่ขึ้นอยู่ตลอดเวลาอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบริษัทที่ไม่ยอมปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็มีแนวโน้มที่ยอดขายจะตกลงไปจนอาจขายสินค้าไม่ได้ในที่สุดหากยังไม่มีการปรับตัว

แต่ประเด็นปัญหาหลักสำหรับการที่บริษัทหนึ่งจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจการไปเป็นบริษัทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือการยึดแนวคิด ESG ในการดำเนินกิจการ สิ่งที่จะต้องเผชิญเลยก็คือต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะทั้งการปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมลพิษให้น้อยลง การเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ที่ลดการปล่อยขยะออกสู่สิ่งแวดล้อม หรือการเปลี่ยนแหล่ง Supply Chain ไปหาเจ้าที่ผลิตวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเป็นต้นนั้น ย่อมเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ซึ่งภาคธุรกิจที่เป็นผู้ประกอบการรายกลาง หรือรายเล็ก ก็มีแนวโน้มที่จะไม่มีต้นทุนเพียงพอในการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงเหมือนกับธุรกิจรายใหญ่ แต่จริงๆแล้วสิ่งที่จะทำให้คนตัวเล็กสามารถเข้าถึงการทำธุรกิจแบบ ESG ได้อีกช่องทางหนึ่งคือ “การซื้อคาร์บอนเครดิต” เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ก.ค. 2566 เวลา : 19:57:35
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 3:39 pm