ไอที
Special report: AI เป็นภัยต่อมนุษย์หรือไม่? EP.1 หลัง "อีลอน มัสก์" เรียกร้องให้บริษัทเทคฯ ยุติการพัฒนา AI เป็นเวลา 6 เดือน


 

AI (Artificial Intelligence) ปัญญาประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาให้สามารถคิดได้เอง และแสดงผลออกมาอย่างชาญฉลาดเหมือนหรือเหนือกว่ามนุษย์ โดยมีจุดประสงค์หลักคืออำนวยความสะดวก และแบ่งเบาการทำงานของมนุษย์ให้สามารถตัดสินใจในสิ่งที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ AI ก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในหลากหลายแง่มุม ทั้งการเข้ามาช่วยประมวลผลระบบทำงานที่ให้การดำเนินงานขององค์กรเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อย่างด้านการบริการ การวิเคราะห์ข้อมูลให้ได้มาซึ่ง Data ของลูกค้า เป็นเครื่องมือคู่กายที่ทำให้ภาระหน้าที่ หรือตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของมนุษย์ถูกเติมเต็มขึ้นมาได้ อย่าง AI ที่ช่วยเขียนบทความ ตรวจ Grammar ภาษาอังกฤษ ไปจนถึงขั้นการวาดรูปตามคำบอก การให้ AI ร้องเพลงด้วยน้ำเสียงของบุคคลๆหนึ่งในชีวิตจริง หรือการที่สามารถตอบคำถามได้แทบจะในทุกข้อสงสัยของมนุษย์ได้ 

แต่เมื่อ AI ได้มีการพัฒนาให้มีความชาญฉลาดอย่างต่อเนื่อง จนสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ในหลายๆอาชีพแล้ว ประเด็นความกังวลและความหวาดกลัวต่อ AI ก็มีมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเมื่อช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ซีอีโอของบริษัท SpaceX, Tesla และเจ้าของ Twitter คนใหม่ ได้ทำการลงนามในจดหมาย ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และผู้บริหารบริษัทไอทีราว 1,000 คน  เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ หยุดพัฒนาระบบ AI ที่มีขั้นสูงกว่า ChatGPT 4 เป็นเวลา 6 เดือน จนกว่าจะมีการร่างกฎระเบียบทางด้านความปลอดภัยขึ้นมาก่อน เนื่องจากควรศึกษาให้ดีและทำให้มั่นใจก่อนว่า AI จะไม่เป็นภัยต่อมนุษยชาติ หากพัฒนาขีดความสามารถของ AI จนฉลาดกว่ามนุษย์ที่จะทำให้เราล้าหลัง ตามไม่ทัน แล้วเข้ามาแทนที่ รวมถึงประเด็นที่ AI เผยแพร่ข้อมูลที่เต็มไปด้วยข้อความโฆษณาชวนเชื่อและความเท็จ ซึ่งความกังวลดังกล่าว รวมถึงการเปรียบเทียบความฉลาดของ AI ในระดับ “ChatGPT 4” ดูเหมือนว่าอีลอน มัสก์ จะมุ่งเป้าโจมตีบริษัท OpenAI ที่พัฒนา ChatGPT อย่างมีนัยสำคัญ

 
 
เว็บไซต์ https://chat.openai.com/auth/login

OpenAI เป็นบริษัทเทคฯสตาร์ทอัพ ผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่เรียกว่า ChatGPT ซึ่งเป็น AI ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ประมวลผลภาษาธรรมชาติ หรือ Natural language processing (NLP) โดยมีฟีเจอร์ที่สามารถแชตตอบโต้กับมนุษย์ (ChatBot) ตอบคำถามได้แทบจะทุกสิ่งอย่างเป็นธรรมชาติเสมือนเราคุยกับมนุษย์จริงๆ ตั้งแต่การตอบคำถามในสิ่งที่เราสงสัย สามารถช่วยคิดงานคิดคอนเทนต์ต่างๆให้เราในระยะเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงช่วยเขียน ช่วยแก้ไขโปรแกรมโค้ด แต่งบทละคร แต่งเพลง และให้ความรู้เกี่ยวกับหัวข้อที่ซับซ้อนได้ เป็นต้น โดย ChatGPT มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการช่วยให้มันทำความเข้าใจในการสนทนาหรือโต้ตอบกับมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น จึงไม่แปลกที่ ChatGPT จะสามารถตอบข้อสงสัย หรือสามารถคิดคอนเทนต์ออกมาได้อย่างครอบคลุมหลากหลายหมวดหมู่ 



แต่ข้อจำกัดของ ChatGPT จะอยู่ตรงที่ฐานข้อมูลที่ใช้ในการฝึกฝนแชทบอทตัวนี้จะถูกจำกัดอยู่แค่เพียงถึงปี 2021 เท่านั้น หากมีชุดข้อมูลที่เกิดขึ้นหลังจากปี 2021 ก็ทำให้ข้อมูลที่เราได้รับมาจาก ChatGPT มีความผิดพลาดได้ ซึ่งก็ทำให้เกิดการพัฒนาเวอร์ชั่นล่าสุด เป็น ChatGPT 4 ขึ้นมา เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดที่ขีดความสามารถมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งการประมวลผลโต้ตอบกับผู้ใช้และให้ข้อมูลได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น 40% โดยสามารถประมวลผลข้อความได้มากสุดถึง 25,000 คำ มากกว่าเวอร์ชั่นก่อนหน้า 8 เท่า สามารถประมวลผลรูปภาพหรือวิดีโอได้ เช่นการคิดเมนูและแจกแจงส่วนประกอบจากภาพถ่าย และยังสามารถกรองคำตอบของคำถามที่ไม่เหมาะสมคิดเป็น 82% ที่จะปฏิเสธการให้คำตอบออกไป เช่น ประเด็นของมุกการเหยียดเชื้อชาติเหยียดเพศ  หรือเรื่องของความรุนแรง เป็นต้น

โดย ChatGPT ก็ได้รับการลงทุนจากทางบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft อย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นปี เป็นไทม์ไลน์ที่มีการอัพเกรดเป็น ChatGPT พอดี แต่แล้วเพียง 2 สัปดาห์หลังจากดีลครั้งสำคัญนี้เสร็จสิ้น จดหมายเปิดผนึกขององค์กร Future of Life Institute ที่อีลอน มัสก์ลงนามตามที่ได้กล่าวไปก็เกิดขึ้น และอ้างอิงการพัฒนา AI ของบริษัท OpenAI ไปเต็มๆ ด้วยความกังวลถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมและมนุษยชาติได้หากมีการพัฒนา AI ต่อไป
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ก.ค. 2566 เวลา : 21:08:29
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 7:02 am