การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
"สวนดุสิตโพล" สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศกรณี "คนไทยกับการเมืองไทยหลังจากได้ประธานสภา"


“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี “คนไทยกับการเมืองไทยหลังจากได้ประธานสภา” จำนวนทั้งสิ้น 1,078 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2566 สรุปผลได้ ดังนี้


*หมายเหตุ ผู้ตอบสามารถระบุความคิดเห็นได้มากกว่า 1 เรื่อง (ค่าร้อยละจึงคำนวณในแต่ละข้อ)

1. ประชาชนมีความเห็นอย่างไรกับการเมืองไทยในช่วงนี้
 
อันดับ 1 อยากเห็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่และรัฐบาลใหม่โดยเร็ว 71.65%

อันดับ 2 เบื่อความขัดแย้ง เลือกตั้งนานแล้วแต่ยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ 69.05%

อันดับ 3 การเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ แก่งแย่งกันไปมา 51.49%

2. ประชาชนคิดว่าปัญหาและอุปสรรคของ “รัฐบาลใหม่” คืออะไร
 
อันดับ 1 การจัดสรรตำแหน่งไม่ลงตัว มุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไป 68.32%

อันดับ 2 มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ซับซ้อน ต้องใช้เวลา 67.01%

อันดับ 3 ความคิดเห็นระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกภายในพรรคไม่ตรงกัน 65.70%

3. ประชาชนคิดว่าควรทำอย่างไร การจัดตั้งรัฐบาลใหม่จึงจะราบรื่น
 
อันดับ 1 คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าของพรรคการเมือง 78.52%

อันดับ 2 เคารพเสียงของประชาชน คำนึงถึงหลักประชาธิปไตย 69.47%

อันดับ 3 ควรทำตามกติกามารยาทที่พึงปฏิบัติ 47.90%

4. ประชาชนคิดว่า “การเลือกนายกรัฐมนตรี” จะเป็นไปด้วยความราบรื่นหรือไม่
 
อันดับ 1 ไม่น่าจะราบรื่น 56.12%

อันดับ 2 น่าจะราบรื่น 43.88%

5. ประชาชนอยากให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ไขปัญหาใดบ้าง
 
อันดับ 1 ปัญหาปากท้อง ค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพ 77.35%

อันดับ 2 ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ 72.04%

อันดับ 3 ความเหลื่อมล้ำของประชาชน 57.50%

6. ความในใจของประชาชนที่อยากบอก “รัฐบาลใหม่”
 
อันดับ 1 ขอให้ตั้งใจทำงาน ร่วมมือกันพัฒนาประเทศ สร้างผลงานให้เป็นรูปธรรม 43.05%

อันดับ 2 พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น 39.66%

อันดับ 3 บริหารบ้านเมืองด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต 30.45%

สรุปผลการสำรวจ : คนไทยกับการเมืองไทยหลังจากได้ประธานสภา

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี “คนไทยกับการเมืองไทยหลังจากได้ประธานสภา” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,078 คน สำรวจระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2566 พบว่า ความเห็นต่อการเมืองไทยในช่วงนี้ คือ อยากเห็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่และรัฐบาลใหม่โดยเร็ว ร้อยละ 71.65 โดยมองว่าปัญหาและอุปสรรคของ “รัฐบาลใหม่” คือ การจัดสรรตำแหน่งไม่ลงตัว มุ่งประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไป ร้อยละ 68.32 ทั้งนี้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ควรคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าของพรรคการเมือง ร้อยละ 78.52 นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.12 คาดว่า “การเลือกนายกรัฐมนตรี” ไม่น่าจะราบรื่น และหากได้รัฐบาลใหม่แล้ว ก็อยากให้เร่งแก้ไขปัญหาปากท้อง ค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพ ร้อยละ 77.35 ส่วนความในใจของประชาชนที่อยากบอก “รัฐบาลใหม่” คือ ขอให้ตั้งใจทำงาน ร่วมมือกันพัฒนาประเทศ สร้างผลงานให้เป็นรูปธรรม ร้อยละ 43.05

ผลโพลชี้ให้เห็นว่าช่วงนี้ประชาชนติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด แม้จะเบื่อหน่ายกับระบบที่กว่าจะได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่และรัฐบาลใหม่ แต่ก็ยังเฝ้ารอและจับตามองว่าแต่ละพรรคการเมืองจะเคลื่อนไหวส่งสัญญาณอย่างไรต่อไป และมองว่าจากการเลือกประธานสภายังคงเป็นการเมืองแบบเก่าที่เน้นเล่นเกมการเมือง เสียงของประชาชนจึงบอกผ่านผลโพลว่า “อย่ามุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตน ให้ตั้งใจทำงาน เร่งแก้ปัญหาปากท้องโดยเร็ว”

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โทร 086-3766533

จากผลโพลสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนมากมีความสนใจและตื่นรู้การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง โดยเฉพาะห้วงเวลาหลังการเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่การโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร (ประธานรัฐสภา), การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของที่ประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา (สภาผู้แทนราษฎร + วุฒิสภา = รัฐสภา) และอาจหมายรวมถึงความสนใจของคนไทยต่อการจัดตั้งรัฐบาล และใครพรรคใดจะได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงใดบ้าง ประเด็นเหล่านี้จึงสอดคล้องกับความคาดหวังของคนไทยและนักลงทุนในตลาดหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ผลโพลดังกล่าวยังชี้ให้เห็นทิศทางและแนวโน้มทางการเมืองว่าด้วยเรื่องการยื้อแย่งอำนาจและความพยายามในการเจรจาต่อรอง ในขณะที่ภาคประชาชนนั้นต้องการให้รัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพ สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ควรตระหนักและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนและพรรคการเมืองของตนเอง

รศ.ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ก.ค. 2566 เวลา : 11:05:24
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 11:28 am