การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ทีมนักเรียนไทยพิชิต "เหรียญทอง อันดับ 2" แข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์นานาชาติ ครั้งแรกของทีมเด็กไทยบนเวทีสุดหิน


กลับถึงไทยวันอังคารที่ 25 กรกฎาคม 2566 สสวท.จะมีพิธีรับเวลา 19.30 น. ที่ประตู 2 ชั้น 2 อาคารผู้โดยสารขาเข้า สนามบินสุวรรณภูมิ


 
รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่าตามที่ได้คัดเลือกและจัดส่งนักเรียนไทยไปร่วมการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ระดับนานาชาติ (International Young Physicists’ Tournament: IYPT) ครั้งที่ 36 ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 17 – 25 กรกฎาคม 2566 ณ Kohsar University เมือง Murree สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ผลปรากฎว่าทีมนักเรียนจากประเทศไทยสามารถทำคะแนนได้ 41.8 คะแนน ได้รับเหรียญทองเป็นอันดับที่ 2 ของการแข่งขัน ทีมจากสาธารณรัฐโปแลนด์ ทำคะแนนได้ 47.7 คะแนน ได้รับรางวัลเหรียญทองและถ้วยรางวัลเป็นอันดับที่ 1 ทีมจากสาธารณรัฐสโลวัก ทำคะแนนได้ 39.7 คะแนน ได้รับรางวัลเหรียญทองเป็นอันดับที่ 3 โดยมีประเทศที่เข้าร่วมแข่งขัน 14 ประเทศ

 
ทีมนักเรียนไทยประกอบด้วย นายภูภิญโญ ลิมป์จันทรา โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย หัวหน้าทีม นายนโม เอกภัทรสกุล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นายศุภกร บัวเรือง โรงเรียนปทุมวิไล ปทุมธานี นายติสรณ์ ณ พัทลุง โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง นายแสนดี เจริญวัฒน์ โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน โดยนับเป็นครั้งแรก ที่ทีมนักเรียนจากประเทศไทยได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันเวทีนี้

 
คณะอาจารย์ร่วมทีมประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.พรรัตน์ วัฒนกสิวิชช์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ดร.วิทย กาญจนภูษากิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดร.วาที  ศรีนิล มหาวิทยาลัยนเรศวร ผศ.ดร.พฤฒิ กาฬสุวรรณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักวิชาการอิสระ และนายคมพิเนตร อู่เจริญ สสวท. ผู้จัดการทีม
 
ปีนี้มีประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน 14 ประเทศ คือ สาธารณรัฐโปแลนด์ สาธารณรัฐสโลวัก ยูเครน สาธารณรัฐประชาชนจีน บัลกาเรีย ฮังการี สาธารณรัฐเชก สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน จอร์เจีย ปากีสถาน บราซิล โครเอเชีย เม็กซิโก และประเทศไทย
 
 
การแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ เป็นการแข่งขันแก้โจทย์ปัญหาทางฟิสิกส์ คล้ายโต้วาทีทางวิชาการในเรื่องการแก้โจทย์ปัญหาปลายเปิดจำนวน 17 ข้อ ต้องใช้ความรู้และทักษะกระบวนการที่หลากหลายทั้งความรู้ในด้านทฤษฎี ทักษะการคิด การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกับทีม การนำเสนอในเวลาจำกัด การตั้งคำถาม และตอบคำถาม ตลอดจนไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งผู้แข่งขันทุกทีมต้องทำการศึกษาค้นคว้า นำทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องมาอธิบายและออกแบบการทดลองของตนเอง และสามารถซักค้านการทดลองของกลุ่มอื่นได้
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ก.ค. 2566 เวลา : 21:24:18
08-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 8, 2024, 10:16 pm