เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "การประชุม กนง. วันที่ 2 ส.ค.66 คาด กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับ 2.25% ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้"


 แม้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะปรับลดลงอย่างมากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้ออาจพลิกกลับมาเร่งสูงขึ้นอีกครั้งท่ามกลางความไม่แน่นอนของแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค

 
 
• ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้กนง. มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในการประชุมกนง. วันที่ 2 ส.ค. อนึ่งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต

กนง.มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับ 2.25% ในการประชุมกนง. วันที่ 2 ส.ค. ที่จะถึงนี้ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ แม้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะลดลงอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงที่จะเร่งสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้กนง. ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมาลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือนที่ 0.23%YoY สะท้อนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อ่อนแรงลงอย่างมาก อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่ปรับลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจัยฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ขณะที่ทิศทางเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ยังคงเผชิญความเสี่ยงที่จะพลิกกลับมาเร่งสูงขึ้นอีกครั้งท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค โดยปัญหาสภาพอากาศที่รุนแรงจากเอลนีโญและปัญหาความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าได้ นอกจากนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองในประเทศและจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรกโดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้กนง. มีแนวโน้มที่จะยังเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อในการประชุมกนง. ที่จะถึงนี้ อนึ่งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต หากมีสถานการณ์ที่ส่งผลให้กนง. จำเป็นต้องมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า  
 
 
อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมกนง. วันที่ 2 ส.ค.นี้อาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ ขณะที่ หากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ตามที่คาดการณ์ไว้ กนง. มีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2566 นี้ ทั้งนี้ ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลง ขณะที่ทิศทางเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะอยู่ในกรอบเป้าหมายของธปท. ที่ 1-3% แม้ว่าอาจเร่งสูงขึ้นจากระดับใกล้ศูนย์ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. ที่ผ่านมา ประกอบกับธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มเข้าใกล้จุดสูงสุดของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้ ซึ่งส่งผลให้แรงกดดันต่อค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะลดลง ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ในการประชุมวันที่ 2 ส.ค.นี้ อาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ ขณะที่เมื่อมองไปข้างหน้า หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ตามที่คาดการณ์ไว้ กนง. มีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยนโยบาย่ที่ระดับ 2.25% ต่อเนื่องไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2566 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ก.ค. 2566 เวลา : 12:27:44
04-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 4, 2024, 2:28 am