การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
กอนช.เกาะติดสถานการณ์น้ำอีอีซี ฝ่าวิกฤตเอลนีโญ เร่งแก้ปัญหาเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน/มั่นใจมีเพียงพอ


กอนช.คุมเข้มการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี รับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ เสริมจุดแข็งใช้ “โครงข่ายน้ำภาคตะวันออก” สูบผันน้ำเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำต่างๆ ลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ มั่นใจน้ำมีเพียงพอสำหรับความต้องการตลอดฤดูแล้งปี 2566/67 ด้าน “พลเอก ประวิตร” เรียกประชุม กอนช. 16 ส.ค.นี้ คุมแผนใช้น้ำ-เสริมมาตรการรับเอลนีโญ

 
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขอบประเทศ ที่หลายฝ่ายห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในขณะนี้และจะเด่นชัดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567 ส่งผลให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติทั่วประเทศ ซึ่ง กอนช.ได้บูรณาการวางแผนรับมือเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งปี 2566/67 และช่วงต้นฤดูฝนปี 2567 รวมถึงสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับพื้นที่ดังกล่าวอย่างยั่งยืน

สำหรับการวางแผนรับมือภาวะขาดแคลนน้ำที่อาจจะขึ้นนั้น จะใช้ “โครงข่ายน้ำภาคตะวันออก” ที่มีอยู่ ร่วมกับมาตรการอื่นๆ อาทิ กรมชลประทานและบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ จะสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต จากแม่น้ำบางปะกง มาเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี โดยได้วางแผนตั้งเป้าหมายสูบผันน้ำรวมประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม./ปี ขณะนี้สามารถสูบผันน้ำได้แล้วรวม 10.2 ล้าน ลบ.ม. ในขณะเดียวกัน กรมชลประทานจะสูบผันน้ำจากคลองสะพานมาเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง จากนั้นจะใช้อ่างเก็บน้ำประแสร์เป็นศูนย์กลาง ส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เพื่อกระจายน้ำให้กับพื้นที่อีอีซีโดยวางแผนจะสูบผันน้ำจากคลองสะพานรวม 50 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้สามารถสูบผันน้ำเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้แล้ว 2.65 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะปฏิบัติงานไม่ได้ตามแผนที่วางไว้ กอนช.ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยให้กรมชลประทานวางแผนผันน้ำส่วนเกินจากลุ่มน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งระบบท่อผันน้ำที่มีอยู่ มีศักยภาพในการผันน้ำได้ประมาณปีละ 70 ล้าน ลบ.ม. สามารถลดความเสี่ยงที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ และลดการขาดแคลนน้ำต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้วางแผนการใช้น้ำจากแหล่งอื่นเข้ามาเสริม เช่น การขอซื้อน้ำจากแหล่งน้ำของภาคเอกชน เป็นต้น รวมถึงให้ชะลอการขุดลอกอ่างเก็บน้ำพื้นที่โครงข่ายน้ำภาคตะวันออก เช่น อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำบ้านบึง เป็นต้น เพื่อลดปัญหาความขุ่นของน้ำให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่สามารถใช้การได้ และลดภาระการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบางพระที่มีจำนวนค่อนข้างน้อยอยู่แล้วมาทดแทน พร้อมทั้งให้เร่งรัดโครงการของภาครัฐ เช่น โครงการระบบประปาจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร และโครงการระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มายังพื้นที่ปลวกแดง บ่อวิน เพื่อลดการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบางพระ รวมทั้งให้ประสานภาคเอกชนที่บริหารจัดการน้ำทั้ง 2 รายให้มีการหารือเชิงพาณิชย์ร่วมกันในบางจุด เช่น แหลมฉบัง บ่อวิน ปลวกแดง เป็นต้น

“กอนช.จะติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที พร้อมทั้งได้ทำหนังสือแจ้งส่วนราชการและภาคเอกชน ให้รับรู้และปฏิบัติตามมาตรการแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้ง ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งในวันพุธที่ 16 ส.ค. 66 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุม กอนช. เพื่อติดตามเร่งรัดมาตรการต่างๆ ในการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนนี้ทั้งพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอุทกภัยและขาดแคลนน้ำ ซึ่งจะมีการพิจารณามาตรการเพิ่มเติม อาทิ การขอความร่วมมือปลูกข้าวรอบเดียว ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย รณรงค์ ทุกภาคส่วนใช้น้ำให้ประหยัดและคุ้มค่า รวมถึงแผนบริหารจัดการน้ำ 2 ปี เพื่อเก็บกักน้ำต้นทุนให้มากที่สุด ซึ่งจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้หน่วยงานเกี่ยวข้องนำไปขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายฤดูฝนปีนี้ หากมีพายุพาดผ่านประเทศไทยอีก 1-2 ลูก ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้ จะทำให้สถานการณ์เสี่ยงการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก รวมทั้งภูมิภาคอื่นๆ คลี่คลายลงอย่างแน่นอน” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ส.ค. 2566 เวลา : 17:30:01
02-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 2, 2024, 3:18 pm