สุขภาพ
Special Report : "ตลาดอาหารสุขภาพ" โอกาสทองสำหรับประเทศไทย


ช่วงก่อนการเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด อาหารเพื่อสุขภาพยังเป็นเรื่องไกลตัวของคนส่วนใหญ่ ลูกค้าที่เลือกบริโภคอาหารประเภทนี้จัดอยู่ใน Niche Market หรือเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มแต่เพียงเท่านั้น ที่มีแนวโน้มในการตระหนักถึงการดูแลสุขภาพของตนผ่านการใกล้ชิดกับปัญหาสุขภาพร่างกายที่เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนใกล้ตัว แต่หลังจากที่คนทั่วโลกได้เผชิญหน้าเข้ากับไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิดอยู่นานหลายปี วิถีชีวิตและมุมมองของเรื่องสุขภาพก็แตกต่างกับช่วงก่อนหน้าไปอย่างสิ้นเชิง ผู้คนมี Health Consciousness ที่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอย่างมากในทุกๆแง่มุม โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน ซึ่งเป็นปราการด่านแรกที่ได้รับทั้งประโยชน์และของให้โทษแก่ร่างกาย

จากสิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้น เมื่อคนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจการกินเพื่อดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ก็ทำให้ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพที่เคยเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มนั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าตลาดรวมอาหารเพื่อสุขภาพในไทยปัจจุบันจากข้อมูลของบริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด ที่ให้บริการร้านสลัดแฟคทอรี่ ในเครือซีอาร์จี นั้นมีมากกว่า 4,000 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตขึ้นถึง 50% อีกทั้งยังมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากการมีผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดใน Segment นี้มากขึ้น โดยไม่ต่ำกว่า 20 รายที่เป็น Food Chain ซึ่งรวมแล้วมีการเปิดเชนร้านรวมมากกว่า 100 สาขา เพิ่มขึ้นมากจากช่วง 10 ปีที่แล้วที่มีเพียง 5 รายใหญ่เท่านั้น

การเติบโตของร้านอาหารเพื่อสุขภาพ สอดคล้องกับข้อมูลของบริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ที่รายงานว่ามูลค่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในปี 2563 (ปีที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดทั่วโลก)ขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จากปี 2562 ที่มูลค่าประมาณ 88,731ล้านบาท
หรือมีอัตราการขยายตัว 2.4% เมื่อเทียบจากปี 2561 ที่มีมูลค่าประมาณ 86,648 ล้านบาท และข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า ปัจจัยของไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ได้ส่งผลให้เทรนด์ของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ และอาหารฟังก์ชัน (Functional Food) ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ซึ่งอาหารฟังก์ชัน (Functional Food) นั้นก็หมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารที่เมี่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายแล้ว นอกจากจะให้ความอิ่มและรสสัมผัส ก็ยังให้คุณค่าทางอาหารที่จําเป็น เพื่อประโยชน์ที่เกี่ยวกับระบบภูมิ คุ้มกันของร่างกายการชะลอการเสื่อมโทรมของอวัยวะต่างๆ การบําบัดหรือลดอาการของโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายโดยสามารถแบ่งเป็นกลุ่มอาหารที่มีการแต่งเติมสารอาหาร หรือลดสารอาหารที่เป็นประโยชน์น้อย เพื่อให้มีผลต่อการสร้างเสริมสุขภาพ สามารถบริโภคเป็นอาหารประจำวันโดยไม่มีข้อจำกัดเหมือนยา (ไม่อยู่ในรูปแคปซูลหรือผง) เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่เสริมด้วยวิตามินหรือแร่ธาตุต่างๆ ไข่ไก่เสริมโอเมก้า-3 นมผงผสมสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทารกรวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพร จำพวกโสม เห็ดต่างๆ งา เป็นต้น กลุ่มอาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่ส่งผลดีต่อร่างกาย เช่น ถั่วเหลือง กระเทียม ชา มะเขือเทศ โยเกิร์ต โดยไม่ได้เพิ่มหรือลดสารอาหารอื่นๆ 

ซึ่งข้อมูลจากบริษัทมินเทล (Mintel) บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก ที่วิเคราะห์สินค้าอาหารที่วางจำหน่ายในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จากสินค้าอาหารทั่วโลกจำนวน 1.94 ล้านรายการนั้น มีสัดส่วนที่เป็นอาหารฟังก์ชั่น (อาหารเพื่อสุขภาพ) อยู่ที่ 1.05 แสนรายการ หรือ 5.4% จากทั้งหมดโดยคุณสมบัติของอาหารฟังก์ชั่นที่มีอยู่ในตลาดให้ความสำคัญเรื่องของพลังงาน 23.6% ดูแลการย่อยอาหาร 17.7% หัวใจหลอดเลือด 17.6% กระดูก 15.3% และการต่อต้านอนุมูลอิสระ ที่เราเริ่มได้ยินคำว่าเวชศาสตร์ชะลอวัย หรือ Anti-Aging อยู่ที่ 14.7% ซึ่งประเทศที่เป็นแหล่งผลิตอาหารประเภทฟังก์ชั่นในปัจจุบันประกอบด้วย ประเทศที่ครองสัดส่วนอันดับ 1 คือ อินเดีย 9.5% สหรัฐอเมริกา 9.2% จีน 5.7% สหราชอาณาจักร 5.3% และเม็กซิโก 3.9%

ในส่วนของอาหารที่ผลิตในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2555-2564 มีการผลิตอาหารทั้งหมด 25,900 รายการ มีสัดส่วนอาหารฟังก์ชั่นอยู่ที่ 1,684 รายการ หรือคิดเป็น 6.5% ซึ่งนั่นหมายความว่า ประเทศไทยเองยังมีช่องว่างในการผลิตสินค้าฟังก์ชั่น หรือสินค้าเพื่อสุขภาพอีกเยอะมาก เนื่องด้วยวัตถุดิบและทรัพยากรทาง การเกษตรจำนวนมากที่มีอยู่ในไทย

จะเห็นได้ว่าถึงแม้ในปัจจุบันอาหารสุขภาพกำลังได้รับความนิยมและมีผู้ประกอบการต่างๆ ต่างกระโดดลงเข้ามาลงเล่นใน Segment นี้แล้ว แต่ยังถือว่ายังเป็นตลาด Blue Ocean ที่ยังมีช่องว่างทางการตลาดให้จับจองพื้นที่อีกมากมาย และเนื่องจากเป็นตลาดที่เพิ่งเกิดใหม่ และมีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสูงมาก ตามการตระหนักถึงการดูแลสุขภาพของตัวเองที่เกิดขึ้น ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในทั่วทุกมุมโลก ทำให้การทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ถือเป็นโอกาสทองสำหรับประเทศไทย ประเทศการเกษตรที่มีทรัพยากรด้านวัตถุดิบเพื่อสุขภาพอย่างผักและสมุนไพรที่หลากหลายจำนวนมาก หากเร่งเครื่องช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป
 

 


LastUpdate 14/08/2566 13:42:05 โดย : Admin
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 11:07 pm