การค้า-อุตสาหกรรม
"หมูเถื่อน" พ่นพิษ เร่งรัฐ "ทำหมัน" ช่วยยืดอายุผู้เลี้ยงรายย่อย


 
ล่วงเลยมากว่า 18 เดือน “หมูเถื่อน” ยังเพ่นพ่านอยู่ในประเทศไทยทำลายกลไกราคาหมูหน้าฟาร์มและเนื้อหมูไทย “ยับเยิน” รวมถึงบั่นทอนแรงใจของเกษตรกรในการฟูมฟักหมูในเล้า ให้มีสุขภาพดีและมีเพียงพอกับความต้องการของคนไทย ที่สำคัญหมูผิดกฎหมายเหล่านี้ทำความเสียหายทางเศรษฐกิจไทย เบื้องต้นมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท จากการความเสี่ยงของโรคระบาด การเสียโอกาสและรายได้ของเกษตรกร จนถึงวันนี้หมูเถื่อนยังเป็นปัญหาใหญ่ของผู้เลี้ยงหมูโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ที่ต้องอดทน “ยื้อ” อาชีพเดียวของตัวเองไว้ ส่วนคนที่อ่อนแอต้องจำใจอำลาวงการ ไปทำอาชีพอื่น เพื่อรักษาบาดแผลจากการขาดทุนมานาน 8 เดือน

 
ถึงวันนี้ราคาหมูในท้องตลาดไม่เป็นไปตามกลไกตลาด โดยมีราคาต่ำสวนทางต้นทุนการผลิตที่สูงมาตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา หนักสุด คือ ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์และต้นทุนพลังงานที่ปรับขึ้นเฉลี่ย 30% ผู้เลี้ยงหมูก็ต้องบริหารจัดการฟาร์มด้วยความมุ่งมั่นเพราะเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งๆที่ภาครัฐช่วย “ปลดล็อก” อุปสรรคดังกล่าวได้ แต่ก็ช่วยเหมือนไม่เต็มใจ และปัจจัยที่ส่งผลกระทบร้ายที่สุดตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน คือ “หมูเถื่อน” จำนวนมหาศาล ที่มีการลักลอบนำเข้ามาตีตลาดในประเทศและดั๊มพ์ราคาต่ำปิดประตูต่อสู้ของหมูไทย กล่าวกันว่าต้นทุนหมูเถื่อนหน้าฟาร์มจากประเทศต้นทางบราซิล อาร์เจนตินา อยู่ที่ประมาณ 40-50 บาทต่อกิโลกรัม แต่มาหยิบชิ้นปลามันขายที่ราคามากกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม เป็นใครก็ยอมเสี่ยง ด้วยเห็นกำไรกว่า 100%

 
ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภาครัฐจะสามารถกำจัดหมูเถื่อนได้ถาวร “ทำหมัน” ไม่ให้แทรกซึมเข้ามาในราชอาณาจักรได้อีก เพราะทุกวันนี้ โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อยอาการหนักหนาสาหัสมาก ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) สำหรับไตรมาส 3 เฉลี่ยที่ 80.75 บาทต่อกิโลกรัม แต่ขายหมูหน้าฟาร์มได้เพียง 66-74 บาทต่อกิโลกรัม ต้องยอมรับสภาพขาดทุน บางรายต้องปรับเปลี่ยนการเลี้ยงและการจับหมู เช่น ผู้เลี้ยงหมูจังหวัดตรัง จับหมูขนาดเล็กลงแล้วส่งร้านหมูย่างเมืองตรัง ส่วนผู้เลี้ยงในจังหวัดพัทลุง ต้องขายแม่พันธุ์ทั้งที่ยังไม่ถึงช่วงปลดระวาง เป็นการลดปริมาณลูกหมูที่จะออกสู่ตลาดเพื่อดึงราคาขึ้น ที่สำคัญให้ได้เงินมาใช้หมุนเวียนกิจการ ดีกว่าแบกขาดทุนสะสมในระยะยาว

ส่วนการปราบปรามหมูเถื่อนของภาครัฐที่เปลี่ยนมือจากกรมศุลกากร (เจ้าภาพอย่างเป็นทางการ) ไปเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพราะต้องการสืบหาต้นตอผู้สั่งการลักลอบนำเข้ายาวนานกว่า 1 ปี เย้ยกฎหมายไทย กรมศุลกากรจับไม่ได้ แต่ “โปลิสไทย” (Thai Police) จะทำให้ประจักษ์แก่สายตาในเร็ววัน ในอุ้งมือของ DSI เอกสารจากสายเดินเรือหลั่งไหลเข้ามา พบผู้สั่งนำเข้า พบหลักฐานหลายอย่างที่สามารถระบุ “ผู้ทรงอิทธิพล” ของขบวนการนี้ได้ และคงได้เปิดโฉมหน้า “ตัวโกง” กันเสียที

 
นอกจากนี้ ยังมีความพยายามของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ที่นำคณะกรรมการเข้าพบทูตเกษตรประเทศบราซิลประจำประเทศไทย เนื่องจาก “หมูเถื่อน” ที่ตรวจพบส่วนใหญ่มีต้นทางมาจากบราซิล เป็นการให้ข้อมูลว่าไทยห้ามนำเข้าเนื้อสุกรและชิ้นส่วน และขอให้แจ้งไปยังบริษัทผู้ส่งออกของบราซิล ให้ระงับการส่งออกมาไทยโดยเด็ดขาด นับเป็นการสนับสนุนภาครัฐในการปราบปราบหมูผิดกฎหมาย

ถึงวันนี้ราคาหมูปรับลงมามาก เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมจากราคาหมูที่ไม่สะท้อนต้นทุนการผลิต ภาครัฐต้องเร่ง “ทำหมัน” หมูเถื่อน แม้จะมีต้นทุนสูงก็ต้องทำ อย่าปล่อยให้หมูเถื่อนตัดลมหายใจของเกษตรกรไทย ไม่เพียงเพื่อผู้เลี้ยงหมู แต่เพื่อคนไทยทั้งประเทศ./
 
เอมอร อัมฤก นักวิชาการอิสระด้านปศุสัตว์

 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ส.ค. 2566 เวลา : 15:26:26
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 9:12 pm