การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สธ. ร่วมประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาเซียน ส่งเสริมความร่วมมือด้านการคลังและสาธารณสุข


รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาเซียน ส่งเสริมความร่วมมือด้านการคลังและสาธารณสุข และพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับโรคระบาด พร้อมกล่าวสนับสนุนใช้แหล่งเงินทุนในประเทศเป็นอันดับแรก และนำแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียวจัดการโรคติดต่อที่เชื่อมโยงสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม


 
วันนี้ (24 สิงหาคม 2566) ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาเซียน (ASEAN Finance and Health Ministers’ Meeting) โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมสมัยพิเศษ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการคลังและสาธารณสุขพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับโรคระบาด ซึ่งมีประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงการคลังและกระทรวงสาธารณสุขจากประเทศอาเซียนเข้าร่วมในรูปแบบทั้งออนไซต์และออนไลน์

 
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ธนาคารพัฒนาเอเชียได้นำเสนอผลการศึกษาช่องว่างทางการคลังสำหรับการตอบโต้โรคระบาดและประเมินความต้องการเงินทุนในการป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการรับมือกับโรคระบาดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินมากถึง 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ในการพัฒนาศักยภาพดังกล่าว และเสนอให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคีเข้ามาสนับสนุนการบริหารจัดการกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิดและภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (COVID-19 and Other Public Health Emergencies and Emerging Diseases ASEAN Response Fund: CARF)  ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องต่อข้อเสนอดังกล่าวและเห็นว่าประเทศสมาชิกอาเซียนควรพิจารณาใช้แหล่งเงินทุนภายในประเทศก่อน และอาจแสวงหาเงินทุนเพิ่มเติมจากแหล่งทุนนอกประเทศตามความเหมาะสม

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวสนับสนุนข้อเสนอของธนาคารพัฒนาเอเชียและเน้นย้ำความสำคัญของการใช้แหล่งเงินทุนจากทั้งในและนอกประเทศในการดำเนินงานตอบโต้โรคระบาด ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยแถลงที่ได้กล่าวสนับสนุนให้มีการใช้แหล่งเงินทุนในประเทศเป็นอันดับแรก และได้เสนอให้นำแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health Approach) มาใช้ในการจัดการโรคติดต่อที่เกิดจากความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้ความสำคัญกับการลงทุนในระบบหลักประกันสุขภาพและระบบการป้องกัน การเตรียมความพร้อมและรับมือกับการระบาดใหญ่ในอนาคต และการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนของภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเร่งกระบวนการเจรจาการจัดทำข้อตกลงการจัดตั้งศูนย์ ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases (ACPHEED) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อพร้อมรับมือกับภัยสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตได้ทันท่วงที

 
โดยในช่วงท้ายของถ้อยแถลง ได้กล่าวถึงความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของประเทศในภูมิภาคอาเซียนในการเป็นสังคมสูงอายุ โดยประเทศไทยจะมีบทบาทนำในการขับเคลื่อนประเด็นผู้สูงอายุในระดับภูมิภาคซึ่งมีศูนย์ ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation (ACAI) ที่ตั้งในประเทศ ไทย เป็นหน่วยงานหลักของอาเซียนในการทำงานด้านผู้สูงอายุในระดับภูมิภาค และตอนท้ายของที่ประชุมได้รับรองเอกสารแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐมนตรีการคลังและรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน แสดงความมุ่งมั่นที่จะปิดช่องว่างทางการคลังเพื่อสร้างศักยภาพของภูมิภาคให้พร้อมรับมือกับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

LastUpdate 24/08/2566 20:11:10 โดย : Admin
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 8:37 am