เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ "เงินบาทแข็งค่า ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน"


• เงินบาทแข็งค่าตามทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติจากความหวังเกี่ยวกับการเตรียมจัดตั้งรัฐบาล แต่กรอบการแข็งค่าของเงินบาทเริ่มจำกัดลงในช่วงปลายสัปดาห์ หลังตัวเลขส่งออกไทยเดือนก.ค. อ่อนแอกว่าคาด ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ

 
• SET Index ปรับตัวขึ้นขานรับปัจจัยบวกภายในประเทศจากประเด็นความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล 

 
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
 
เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ โดยสามารถรักษาช่วงบวกไว้ได้ แม้จะมีปัจจัยลบจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 ของไทยที่ชะลอลงมากกว่าที่ตลาดคาด โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติท่ามกลางความหวังว่า น่าจะมีการเดินหน้าของกระบวนการทางการเมืองไทยและเตรียมการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ดีกรอบการแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากตัวเลขการส่งออกไทยเดือนก.ค. หดตัวมากกว่าที่คาด ประกอบกับตลาดยังคงรอติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ  

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ หลังตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สะท้อนสัญญาณตึงตัวของตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดยังคงมีท่าทีหนุนการคุมเข้มนโยบายการเงิน นอกจากนี้ยังมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานเฟดในงานสัมมนาประจำปีของเฟดด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ที่ 25 ส.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (18 ส.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 21-25 ส.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,204 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 4,700 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 5,059 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 359 ล้านบาท) 

สัปดาห์ถัดไป (28 ส.ค. - 1 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.90-35.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ราย งานเศรษฐกิจและการเงินเดือนก.ค.ปัจจัยทางการเมืองของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติและค่าเงินหยวน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตเดือนส.ค. ผลสำรวจแรงงาน JOLTS ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE Price Index) เดือนก.ค. และจีดีพีไตรมาส 2/66 (prelim.) นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของยูโรโซน และดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนส.ค.ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน

 
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
 
ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางความหวังเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในระหว่างสัปดาห์ก็มีความชัดเจนเกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะไฟแนนซ์ ที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง หลังจากขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ อย่างไรก็ดีกรอบการปรับขึ้นของหุ้นไทยเริ่มจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ หลังตอบรับประเด็นบวกภายในประเทศไปพอสมควร ประกอบกับหุ้นภูมิภาคปรับตัวลงระหว่างรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดจากงานประชุมสัมมนาประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล  

ในวันศุกร์ที่ 25 ส.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,560.20 จุด เพิ่มขึ้น 2.70% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 62,794.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.25% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 6.24% มาปิดที่ระดับ 487.29 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (28 ส.ค. – 1 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,540 และ 1,515 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,565 และ 1,580 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตเดือนส.ค. รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนก.ค. ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนส.ค. ของญี่ปุ่น จีนและยูโรโซน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ส.ค. 2566 เวลา : 20:05:19
03-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2024, 1:07 am