การค้า-อุตสาหกรรม
'อาเซียน' นัดถกจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี 68 สรุปผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจปีนี้ เตรียมชงผู้นำเคาะ ก.ย.นี้


‘อาเซียน’ นัดประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจ (AEC Council) ครั้งที่ 23 ที่กรุงจาการ์ตา หารือแนวทางการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี 2568 เตรียมประกาศเปิดการเจรจาความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (DEFA) หารือประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน และกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจภาคทะเล พร้อมสรุปผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจในปีนี้ เตรียมชงผู้นำเคาะ 5-7 ก.ย.นี้

 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์) ให้เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 23 ในวันที่ 3 กันยายนนี้ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหารือแนวทางการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี 2568 รวมทั้งสรุปผลการดำเนินงานที่สำคัญภายใต้เสาประชาคมเศรษฐกิจในปีนี้ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 ระหว่างวันที่ 5-7 กันยายนนี้

นางอรมน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จะหารือวาระพิเศษเรื่องแนวทางการเตรียมความพร้อมของอาเซียนในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายหลังปี 2568 ให้มีความเชื่อมโยงและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งทางกายภาพ เทคโนโลยี และกฎระเบียบ เพื่อช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน และลดช่องว่างการพัฒนาภายในภูมิภาค รวมทั้งเตรียมการประกาศเปิดการเจรจาความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (DEFA) และให้ความเห็นชอบเอกสารประกอบการเจรจา ได้แก่ รายงานผลการศึกษา กรอบการเจรจา และปฏิญญาผู้นำว่าด้วยการจัดทำความตกลง DEFA ของอาเซียน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นประชาคมดิจิทัล

 
นอกจากนี้ จะมีการหารือประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน พิจารณาแผนยุทธศาสตร์อาเซียนว่าด้วยการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจภาคทะเลของอาเซียน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจอาเซียนสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจะพิจารณาผลลัพธ์ของการดำเนินงานสำคัญด้านเศรษฐกิจที่อาเซียนร่วมผลักดันในปีนี้ ในวาระการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซีย อาทิ กรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในภาวะวิกฤต และถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 124,609.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 12.4% จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 71,968.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 52,641.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 67,916.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 38,579.06ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 29,377.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ นับตั้งแต่การตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ไทยมีมูลค่าการค้ากับอาเซียนเพิ่มขึ้น 36.78% โดยการส่งออกเพิ่มขึ้น 31.24% และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 45.08%

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ก.ย. 2566 เวลา : 21:58:37
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 4:24 pm