เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บมจ.ไทยออยล์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ "ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มย่อตัวลง จากตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังคงอ่อนแอ ท่ามกลางความกังวลอุปทานตึงตัว"


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 87-95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 92-99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (2 – 6 ต.ค. 66)
 
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มย่อตัวลง จากตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคผลิตและบริการ, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และยอดขายบ้าน ที่ยังคงอ่อนแอ ขณะที่ตลาดยังคงกังวลต่อวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน หลัง Moody ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลัง Goldman Sachs คาดดัชนี PMI เดือน ก.ย.จะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 50 ด้านตลาดยังคงจับตาการประชุมของรัฐมนตรีจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC+) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 4 ต.ค.โดยตลาดคาดกลุ่มจะมีมติคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบตามเดิม

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
 
 
S&P Global เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. ปรับลดลงสู่ระดับ 50.1 จากระดับ 50.2 ในเดือน ส.ค. และถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 103.0 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 105.5 และถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ตัวเลขทางเศรษฐกิจดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางในภาคเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 31-1 พ.ย. นี้
 
 
นอกจากนี้ ตัวเลขยอดขายบ้านของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ 675,000 หลัง ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 695,000 หลัง และลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 739,000 หลัง โดยยอดขายบ้านที่ปรับลดลงได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5.25-5.50%
 
 
หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนในเดือน ส.ค. ส่งสัญญาณการฟื้นตัวเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต อยู่ที่ระดับ 49.7 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.4,ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.5% สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 4.0% และยอดค้าปลีก ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.6% สูงกว่าเดือนหน้าที่ระดับ 3.0% ส่งผลให้ล่าสุด Goldman Sachs คาดการณ์ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีนในเดือน ก.ย. 66 จะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 66  
 
 
แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น แต่วิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงน่ากังวล หลัง Moody ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 2 แห่งของจีน อันได้แก่ บริษัท Jinmao และ Vanke ขณะที่ Moody ยังคาดการณ์อุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีแนวโน้มหดตัวราว 5% ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
 
 
บริษัท Chevron คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของบริษัทร่วม Chevron-PSV ในเวเนซุเอลา มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงสิ้นปี 2567 จากระดับ 0.13 ล้านบาร์เรลวัน ในปี 2566 ภายหลังรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มผ่อนปรนนโยบายคว่ำบาตรต่อเวเนซุเอลา ส่งผลให้มีการลงทุนในแท่นขุดเจาะใหม่เพิ่มมากขึ้น 
 
 
ตลาดจับตาการประชุมของรัฐมนตรีจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC+) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 4 ต.ค. โดยตลาดคาดกลุ่ม OPEC+ จะไม่มีมติปรับลดกำลังผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติม หลังก่อนหน้านี้ ซาอุดิอาระเบียขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และรัสเซียลดการส่งออกน้ำมันดิบที่ระดับ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปี ส่งผลให้ตลาดคาดจะยังคงตึงตัวต่อเนื่อง
 
 
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อันได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการ เดือน ก.ย. และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร เดือน ก.ย.และตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป อันได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน ก.ย.และดัชนียอดค้าปลีก เดือน ส.ค.
 
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (25 – 29 ก.ย. 66) 
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 90.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 95.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 95.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตัวเลขสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 22 ก.ย. 66 ปรับลดลง 2.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 416.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงราว 0.3 ล้านบาร์เรล ทำให้ตลาดเกิดความกังวลด้านอุปทานน้ำมันตึงตัวมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ Cushing ในรัฐโอคลาโฮมาของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง แตะที่ระดับ 23 ล้านบาร์เรล ณ วันที่ 15 ก.ย. 66 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 14 เดือน 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ต.ค. 2566 เวลา : 10:19:59
01-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 1, 2024, 2:26 pm