สุขภาพ
เรื่องหัวใจ...ไม่ไกลตัว แอสตร้าเซนเนก้า ร่วมกับ โรงพยาบาลสมิติเวช จัดงาน "Healthy heart can start it now" เนื่องในวันหัวใจโลก 2566


ผลกระทบของโรคหัวใจส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในวงกว้างและกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในสาเหตุหลักเกิดจากการที่คนส่วนใหญ่อาจขาดความรู้ความเข้าใจ หรือมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทำให้ละเลยหรือรู้ตัวตอนสายเกินไป ด้วยเหตุนี้ แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลสมิติเวช เพื่อจัดงาน “Healthy Heart Can Start It Now” เชิญนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ และอดีตผู้ป่วย มาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลตนเองให้กับทุกคน เนื่องในวันโรคหัวใจโลก 2566 ณ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท


โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular diseases) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้คนกว่า 20 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตกว่า 85% เกิดจากภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือ เส้นเลือดในสมองแตก1 นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาถึงตัวเลขของผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรซึ่งเกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่มีถึง 17 ล้านรายในปี 2562 พบว่า 38% เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด2 ด้วยเช่นกัน

นพ.แมน จันทวิมล อายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจ กล่าวว่า “โรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารบางประเภท และขาดการออกกำลังกาย รวมไปถึงสภาวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ดังนั้น การคำนึงถึงสัญญาณเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด อาทิ อาการแน่นหน้าอก อาการหน้ามืด หรือ อาการใจสั่น ซึ่งในปัจจุบันมีตัวเลือกการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือการรักษาผ่านการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน ดังนั้น การวินิจฉัยของแพทย์ที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญเฉพาะด้าน รวมไปถึงการตรวจคัดกรองโรคอย่างสม่ำเสมอจึงมีความสำคัญเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างเหมาะสมและทันเวลา ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้น”

การตรวจคัดกรองโรคในระยะเริ่มต้นถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนในช่วงอายุ 35 - 40 ปีขึ้นไป ควรทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography: EKG, ECG) อย่างน้อยปีละครั้ง หรือเข้ารับการตรวจหาคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT calcium scoring) เพื่อตรวจวัดระดับแคลเซียมหรือคราบหินปูนที่ผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งเกิดจากการสะสมและเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง ผ่านเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Scan) ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็วและปลอดภัยในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน (CAD) อีกทั้ง ยังเป็นวิธีการตรวจที่มีความแม่นยำสูงในการบ่งชี้โอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนจะเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้

ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม พิธีกรชื่อดังของเมืองไทย ได้มาบอกเล่าเรื่องราวในฐานะอดีตผู้ป่วยโรคหัวใจ ว่า “จากเช้าวันธรรมดาวันหนึ่ง ที่ตื่นมาอย่างปกติเหมือนทุกวัน ทันใดนั้น ผมก็รู้สึกมีเหงื่อซึมออกมาตามร่างกาย ทั้งที่อากาศไม่ได้ร้อน แต่กลับมีอาการแน่นหน้าอกเหมือนมีของหนักวางทับ และมีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่าปกติเมื่อดูจากสมาร์ทวอทช์ ผมเลยรีบเดินทางไปโรงพยาบาลสมิติเวช ซึ่งคุณหมอได้ทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เจาะต้นขา และฉีดสี ทำให้พบว่ามีเส้นเลือดหัวใจตัน 1 เส้น ร่วมไปกับเส้นเลือดหัวใจตีบ ทั้งนี้ เนื่องจากผมรู้ตัวเร็ว ทำให้สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือด และใส่ขดลวดหัวใจ ซึ่งหลังจากที่ทำอาการแน่นหน้าอกได้หายไปทันที หลังจากที่ทำการผ่าตัดเมื่อ 5 ปีก่อน ปัจจุบันผมได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และมีวินัยในตัวเองมากขึ้น ทั้งการเลิกสูบบุหรี่ทันที เลิกทานอาหารรสจัด ออกกำลังกายเป็นประจำ รวมถึงการพบแพทย์และทานยาตามแพทย์สั่งอยู่เสมอ เพราะว่าโรคนี้ถ้าเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาด ดังนั้น เราจึงต้องดูแลตนเองเพื่อไม่ให้เป็นซ้ำ และใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ”

เนื่องในโอกาสวันหัวใจโลก โครงการ Hug Your Heart โดยแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จึงได้จัดกิจกรรม เพื่อเสริมสร้างความรู้ พร้อมให้คำแนะนำในการป้องกันปัญหา และดูแลสุขภาพหัวใจให้แก่ประชาชน ผ่านการทำงานร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่ร่วมไขข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัวใจชนิดต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเตรียมรับมือกับโรคนี้ได้ดียิ่งขึ้น

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ต.ค. 2566 เวลา : 14:46:03
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 8:24 pm