เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ "เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่อง"


• เงินบาทฟื้นตัวกลับมาบางส่วน หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 11 เดือนที่ 37.24 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่ภาพรวมการเคลื่อนไหวทั้งสัปดาห์ ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง
 
• SET Index ร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี 9 เดือนช่วงกลางสัปดาห์ ขณะที่แรงขายต่างชาติกดดันตลาดเกือบตลอดสัปดาห์ 


 
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
 
เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 11 เดือนที่ 37.24 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่ฟื้นกลับมาบางส่วนปลายสัปดาห์
เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดยังคงมีท่าทีพร้อมคุมเข้มต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าสอดคล้องกับการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก และสถานะการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติซึ่งอยู่ในฝั่งขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยด้วยเช่นกัน  
อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าและฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาด  

ในวันศุกร์ที่ 6 ต.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 36.41 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29 ก.ย.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 2-6 ต.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 8,855 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 4,072 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 3,069 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 1,003 ล้านบาท) 

สัปดาห์ถัดไป (9-13 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.60-37.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในภูมิภาค และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อและดัชนีความเชื่อมั่นในมุมมองผู้บริโภคเดือนต.ค. ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวน ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย. ของจีนด้วยเช่นกัน  

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

 
ดัชนีหุ้นไทยแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี 9 เดือนที่ 1,429.99 จุดช่วงกลางสัปดาห์ และร่วงลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงแรงช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายต่อเนื่องจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ การอ่อนค่าของเงินบาท รวมถึงการปรับลดประมาณการเศษฐกิจไทยโดยธนาคารโลก หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบในเวลาต่อมา ก่อนจะร่วงลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายหุ้นบิ๊กแคป นำโดย กลุ่มพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลงจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวลงของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลก  

ในวันศุกร์ที่ 6 ต.ค. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,438.45 จุด ลดลง 2.24% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 48,209.07 ล้านบาท ลดลง 12.86% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.27% มาปิดที่ระดับ 435.82 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (9-13 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,415 และ 1,400 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,460 และ 1,470 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ย. บันทึกการประชุมเฟด (19-20 ก.ย.) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. ของยูโรโซน และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ย. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ข้อมูลการนำเข้าและส่งออก
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ต.ค. 2566 เวลา : 20:29:23
29-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2024, 4:46 pm